สามเหลี่ยมทองคำ (Golden Triangle) หมายถึง พื้นที่รอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย (จังหวัดเชียงราย), สปป.ลาว (แขวงบ่อแก้ว) และสหภาพเมียนมาร์ [พม่า] (แขวงท่าขี้เหล็ก, รัฐฉาน) มีลักษณะเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมบรรจบกัน โดยมีแม่น้ำโขงตัดผ่านชายแดนไทยและลาว และแม่น้ำรวก คั่นระหว่างไทยกับพม่า นับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค ปัจจุบันมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
สามเหลี่ยมทองคำในส่วนของประเทศไทย อยู่ในเขตบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีท่าเรือขนาดเล็กขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน และลาว เมื่อมองจากฝั่งไทยไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นหมู่บ้านในฝั่งลาวอย่างชัดเจน (ในภาพขวามือ) และที่ฝั่งลาวจะมีร้านค้าปลอดภาษี ตั้งอยู่ที่บ้านดอนซาว ส่วนใหญ่จะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ้าพื้นเมืองกระเป๋า และของตกแต่งบ้านที่ทำจากไม้ ส่วนทางพม่าซึ่งอยู่ด้านตะวันตกนั้น (ในภาพซ้ายมือ) ไม่มีหมู่บ้านหรือสิ่งก่อสร้างให้เห็นในระยะใกล้ แต่ไกลออกไปจะมีบ่อนกาสิโน (หลังคาสีแดง)
บริเวณดังกล่าวยังเป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำโขงและแม่น้ำรวก ที่เรียกว่า สบรวก บริเวณนี้มีเคยมีชนกลุ่มน้อย และกองกำลังติดอาวุธอยู่หลายกลุ่ม พื้นที่ในแถบนี้เคยเป็นแหล่งปลูกฝิ่นและผลิตยาเสพติดแหล่งใหญ่ เช่น มีโรงงานผลิตเฮโรอีนและกระจายอยู่ตามชายแดน ส่วนการลำเลียงฝิ่นจะไปเป็นขบวนลัดเลาะไปตามไหล่เขาพร้อมกำลังคุ้มกัน ว่ากันว่ายาเสพติดและฝิ่นจะถูกแลกเปลี่ยนด้วยทองคำในน้ำหนักที่เท่ากัน จึงเป็นที่มาของชื่อ สามเหลี่ยมทองคำ
จุดยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวจะต้องถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก คือ บริเวณซุ้มประตูสามเหลี่ยมทองคำ และป้าย “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่ติดตั้งไว้ริมฝั่งแม่น้ำโขงด้วย บริเวณเดียวกันนั้น มีพระเชียงแสนสี่แผ่นดิน หรือ พระพุทธนวล้านตื้อ ประดิษฐานกลางแจ้งบนเรือแก้วกุศลธรรม ณ สามเหลี่ยมทองคำฝั่งไทย ให้ขึ้นสักการบูชา พระพุทธนวล้านตื้น องค์นี้เป็นพระเชียงแสนสี่แผ่นดินเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งได้สร้างขึ้นแทนองค์เดิมที่จมลงแม่น้ำโขง และสร้างขึ้น ด้วยทองสัมฤทธิ์ ปิดทองด้วยบุศราคัม น้ำหนักถึง 69 ตัน หน้าตักกว้าง 9.99 ม.สูง 15.99 ม. และมีแผนการก่อสร้างอนุสาวรีย์ “พญาแสนภูบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งเมืองเชียงแสน (พระเจ้าแสนภู)” ในบริเวณดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกัน ยังมีตลาดขายของที่ระลึกและสินค้าพื้นเมือง ให้กับนักท่องเที่ยว ได้เลือกชมกันอย่างจุใจ
อย่างไรก็ตาม หากนักทองเที่ยวต้องการเดินทางไปเที่ยวชมทิวทัศน์จุดบรรจบของพรมแดนไทย ลาว และพม่า ก็มีเรือให้บริการ ค่าเช่าเรือประมาณ 300-400 บาท (นั่งได้ 6 คน) และยังสามารถล่องแม่น้ำโขงไปเที่ยวทางตอนใต้ของประเทศจีน เช่น สิบสองปันนา คุนหมิง ได้ด้วย แต่หากต้องการจะชมทิวทัศน์มุมกว้าง ของสามเหลี่ยมทองคำบริเวณสบรวกและเพื่อนบ้าน ต้องขึ้นไปบนดอยเชียงเมี่ยง ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง
นอกจากนี้ หากมีโอกาสมาที่สามเหลี่ยมทองคำ ขอแนะนำให้ไปชม หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ บริเวณแห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ ห่างจากอำเภอเชียงแสนประมาณ 10 กิโลเมตร ภายในตัวอาคารจัดเป็นศูนย์นิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของฝิ่น เมื่อสมัยที่มีการใช้กันอย่างถูกกฎหมาย การเสพ อุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องและผลกระทบของการเสพติดฝิ่น อีกทั้งยังทำหน้าที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยและการศึกษาต่อเนื่องในหัวข้อฝิ่น สารสกัดจากฝิ่นในรูปแบบต่างๆและยาเสพติดอื่นๆ
หอฝิ่นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ระหว่างเวลา 08.30-16.00 น. ค่าเข้าชมบุคคลทั่วไป ต่างชาติ 300 บาท คนไทย 200 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 50 บาท เด็กอายุ12-18 ปี 50 บาท (เฉพาะคนไทย) เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ฟรี รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ โทร. 0 5378 4444-6 เว็บไซต์ http://www.goldentrianglepark.com
การเดินทางไป สามเหลี่ยมทองคำ
1. รถโดยสารประจำทาง : จากเชียงรายนั่งรถประจำทางสายเชียงราย-เชียงแสน จากนั้นต่อรถสองแถวสายเชียงราย-สบรวก ที่หน้าตลาดเชียงแสน
2. รถยนต์ส่วนตัว : ใช้ทางหลวงหมายเลข 10 เมื่อผ่าน อ.แม่จันเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1016 (แม่จัน-เชียงแสน) ระยะทาง 29 กิโลเมตร ก่อนถึงกำแพงเมืองเก่าเชียงแสนมีสี่แยกบายพาส เลี้ยวซ้ายมีป้ายบอกทางไปสามเหลี่ยมทองคำ หรือเลือก ทางตรงไปผ่านอำเภอเชียงแสน จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลียบน้ำโขงอีก 12 กิโลเมตร
เรียบเรียงจากประสบการณ์ตรงเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ ปี พ.ศ. 2554 และข้อมูลประกอบจาก :
1. http://th.wikipedia.org/wiki/สามเหลี่มทองคำ
2. http://www.tlcthai.com/travel/3601/