ความเชื่อ เกิดจากความไม่รู้ของมนุษย์ที่มีต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติ มนุษย์ไม่รู้ถึงเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้กระทำ และเมื่อเหตุที่เกิดนั้นเกินวิสัยที่มนุษย์ที่จะกระทำได้ แนวคิดเรื่องอำนาจเร้นลับในธรรมชาติและความกลัวต่อ “สิ่งนั้น” จึงเกิดขึ้น ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “ผี” หรือ “วิญญาณ” โดย ผีหรือวิญญาณเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่มนุษย์เชื่อว่าสามารถดลบันดาลให้เกิดเหตุต่างๆ ขึ้นได้ด้วยพลังอำนาจ เช่น การหายตัว การเข้าสิงร่างมนุษย์ หรือทำให้เกิดเหตุดีและเหตุร้ายต่างๆ นานา เป็นต้น
1. ผีธรรมชาติ เป็นผีที่มนุษย์จัดให้อยู่ในเหตุปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ผีฟ้า ผีน้ำ ผีดิน และผีอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ผีเหล่านี้มนุษย์ยุคโบราณได้สร้างขึ้นมาด้วยความเกรงกลัวธรรมชาติ ซึ่งต่อมาผีเหล่านี้ก็มีพัฒนาการกลายเป็นเทพยดาให้มนุษย์หลายยุคหลายสมัยได้กราบไหว้บูชา เช่น เทพประจำโลกธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ อาทิ พระแม่ธรณี (เทพแห่งผืนดิน) พระแม่คงคา (เทพแห่งสายน้ำ) พระพราย (เทพแห่งสายลม) และพระอัคคี (เทพแห่งไฟ) นอกจากนี้ ยังมีการจัดลำดับชั้นเทพ เช่น พระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ เทพผู้เป็นใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ซึ่งเรียกว่า “ตรีมูรติ” และมีเทพที่มีลำดับชั้นถัดลงมาอีกมากมาย จนถึงเทพที่อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “รุกขเทวดา” และเทพรักษาป่า คนไทยจะเรียกขานว่า “เจ้าป่า เจ้าเขา” เป็นต้น
2. ผีคนตาย ที่เกิดจากคนที่ตายแล้ว คนไทยเชื่อว่า คนที่สิ้นลมหายใจหรือตายไปแล้วจะมีดวงวิญญาณออกจากร่าง และเชื่อว่าจะรู้ว่าตนเองตายแล้วภายใน 3 วัน 7 วัน จากนั้นก็จะกลับบ้านหรือไปหาคนที่รัก บ้างครั้งก็ปรากฏตัวให้เห็น บางครั้งก็มาด้วยเสียง กลิ่นธูปควันเทียน หรือกลิ่นสาบสางของศพ เป็นต้น
นอกจากนี้ คนไทยยังเชื่อว่า ผีมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะ ผีบรรพบุรุษ ซึ่งจะให้ทั้งคุณและโทษ เช่น ถ้าหากลูกหลานลบหลู่ดูหมิ่นก็จะทำให้เกิดเหตุร้ายต่างๆ ทำมาหากินไม่เจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าหากลูกหลานแสดงความกตัญญูรู้คุณกราบไหว้บูชา ผีบรรพบุรุษก็จะบันดาลให้เกิดแต่สิ่งที่ดีกับชีวิตของลูกหลาน [ความเชื่อนี้ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจีนคือ การเชื่อฟังคำสั่งสอนของบรรพบุรุษ มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ประเพณีตรุษจีน ประเพณีเช็งเม้ง ประเพณีสารทจีน ก็จะมีการไหว้เจ้าในตอนเช้า การไหว้บรรพบุรุษในตอนสาย และบางครอบครัวก็มีการเซ่นไหว้ผีเร่ร่อนในตอนบ่าย นอกจากจะเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และการพบปะสังสรรค์กันในหมู่ญาติพี่น้องแล้ว ยังมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผีไม่มีญาติอีกด้วย]
ความเชื่อเรื่องผี อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีพัฒนาการของความเชื่อเรื่องผี พิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูตผีวิญญาณ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยการประกอบพิธีกรรมเพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไป เช่น ภาคกลางมีการทำพิธีไหว้แม่โพสพ เพื่อความเจริญงอกงามของข้าวกล้าในนา ภาคใต้มีความเชื่อเรื่องผีตายยายซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษที่คอยคุ้มครองปกป้องภยันตรายต่างๆ จึงมีการตั้งศาลและเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ภาคเหนือก็มีประเพณีฟ้อนผีมด ผีเม็ง ที่เป็นการแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณของลูกหลานที่มีต่อผีบรรพบุรุษ ภาคอีสานมีความเชื่อเรื่องผีปู่ตาจึงมีการตั้งศาลประจำแต่ละหมู่บ้านและทำพิธีกรรมการเลี้ยงศาลปู่ตาเป็นประจำทุกปี เป็นต้น
เรียบเรียงจาก
กาญจนา ชินนาค.(2545). การศึกษาประเพณีและพิธีกรรมการรำผีมอญ บ้านวัดเกาะ ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี. รายงานการวิจัย,สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี.
สุชีรา อินทโชติ.(2553). ความเชื่อและพิธีกรรมการรำผีมอญ จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ภาพประกอบจาก : http://www.marketplus.in.th/img_even/07.JPG