Anantasook.Com

ครูวิทย์นักคิด : โบราณดาราศาสตร์ จากปราสาทในจังหวัดสุรินทร์ ธรณีวิทยาของหินสร้างปราสาทขอม

ครูศักดิ์อนันต์ อนันตสุข (ครู สควค. รุ่นที่ 6) กับรายการ “ครูวิทย์ นักคิด” ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เรื่อง การจัดทำแผนภาพโบราณดาราศาสตร์และธรณีวิทยาจากปราสาทในจังหวัดสุรินทร์ สนับสนุนการเผยแพร่โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

ความรู้เพิ่มเติม
โบราณดาราศาสตร์ (Archaeo-astronomy) เกิดจากการรวมคำว่า “โบราณคดี” กับ “ดาราศาสตร์” เข้าด้วยกัน เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณที่มีความเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวบนท้องฟ้า ภายใต้ความเชื่อของมนุษย์ในยุคโบราณที่ว่า “โลกคือศูนย์กลางของจักรวาล”

ศาสนสถานขอมโบราณทุกแห่ง ที่สร้างขึ้นตามคติของฮินดู จะมีแนวประตูตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก หรือมีแนวแกนหลักของอาคารตามแนวที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในช่วงวันวิษุวัต โดย วันวสันตวิษุวัต (Spring equinox) ถือเป็นวันปีใหม่ตามสุริยคติของพราหมณ์ (ในศิลาจารึกเขมรจะระบุวันเดือนปีตามปฏิทินสุริยคติ – จันทรคติ โดยเริ่มนับจากข้างขึ้นก่อนหน้าวันวิษุวัต) เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ จะหันหน้าเฉียง 5.5 องศาจากทิศตะวันออก ทั้งนี้เพื่อให้แสงอาทิตย์แรกขึ้นและตก สามารถสาดส่องเข้ามาต้ององค์รูปเคารพประธานภายใน คือ พระศิวลึงค์ สัญลักษณ์องคชาติของพระศิวะได้ โดยเฉพาะในเดือนเมษายน แสงแดดสามารถสาดส่องผ่านทะลุช่องประตูทั้ง 15 ช่องเข้าไปต้องพระศิวลึงค์ได้ โดยกำหนดที่แสงอาทิตย์จะส่องเข้าไปต้องศิวลึงค์ภายในปราสาทประธานนั้น คือ 14 วันก่อนและหลังวันวิษุวัตทั้งสองครั้ง ดังนั้น ในแต่ละปีจะมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์สี่ครั้ง ซึ่งในแต่ละช่วง จะสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ตรงช่องประตูทั้งหมดได้ในวันก่อนหน้าและวันต่อมาอีกหนึ่งวัน โดยในแต่ละครั้ง จะมองเห็นดวงอาทิตย์ได้ประมาณ 8 นาที

สำหรับจังหวัดสุรินทร์ เมืองที่ได้ชื่อว่า “ดินแดนปราสาทขอมที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ” มีปราสาทอยู่ตามอำเภอต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งมีคุณค่าในด้านการศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างมาก สันนิษฐานว่าในสมัยขอมเรืองอำนาจ สุรินทร์คงเป็นดินแดนที่อยู่ในเส้นทางการไปมาของขอมจากนครวัดและนครธม (กัมพูชา)  โดยผ่านทางช่องจอมและช่องตาเมือนไปยังเขาพระวิหารและเขาพนมรุ้ง จึงได้สร้างปราสาทขึ้นเรียงรายตามแนวเส้นทางระหว่างสถานที่ดังกล่าว

ผู้เขียนสนใจศึกษาโบราณดาราศาสตร์ด้วยตนเอง ได้ดำเนินการการเก็บข้อมูลภาคสนามโบราณสถานปราสาทในจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 34 แห่ง โดยในสถานที่หนึ่งๆ ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ ประกอบด้วยพิกัดภูมิศาสตร์ การกำหนดอายุวัสดุการก่อสร้าง วัตถุประสงค์การสร้างและทิศทางในการวางตัวปราสาท ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก และหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อแสดงความเคารพต่อดวงอาทิตย์ ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู ซึ่งผลงานดังกล่าวข้างต้น สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย >> [http://www.anantasook.com/content/lookesan/prasatsurin]

Exit mobile version