Anantasook.Com

[เนื้อหา] วิชาเคมี ม.6 หน่วย ธาตุและสารประกอบในอุตสาหกรรม เรื่อง แร่รัตนชาติ และแหล่งแร่ใน จ.สุรินทร์

ความหมายของแร่รัตนชาติ
แร่รัตนชาติ จัดเป็นแร่อโลหะที่มีค่า หมายถึง แร่หรือหินบางชนิด หรืออินทรียวัตถุธรรมชาติ ที่สามารถนำมาเจียระไน ตกแต่ง หรือแกะสลัก เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ มีความงาม ทนทาน และหายาก หากผ่านการตกแต่งหรือเจียระไนแล้ว เรียกว่า อัญมณี โดยปกติแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เพชร และพลอย นอกจากนี้ สารประกอบที่ได้จากสิ่งมีชีวิตที่อาจจัดเป็นรัตนชาติ ได้แก่ ไข่มุก อำพัน และปะการัง

ประเภทของรัตนชาติ
1. เพชร เป็นธาตุคาร์บอนที่บริสุทธิ์ มีความแข็งแรงมากที่สุด เพชรที่ดีจะต้องไม่มีสี
2. พลอย หรือหินสี พลอยที่สำคัญ ได้แก่
– พลอยในตระกูลคอรันดัม ซึ่งประกอบด้วย Al2O3 โดยมี Al : O = 52.9 : 47.1 โดยมวล การที่พลอยแต่ละชนิดมีสีต่างกันเป็นเพราะมีธาตุเจือปน (มลทิน) ที่ต่างกัน เช่น ทับทิม มีสีแดง เพราะมี โครเมียม เจือปนอยู่ 0.1 – 1.25 โดยมวล, บุษราคัม (แซปไฟร์สีเหลือง) เพราะมีเหล็ก และไทเทเนียม เจือปน, ไพลิน (แซปไฟร์สีน้ำเงิน) เพราะมีเหล็ก และไทเทเนียมเจือปน, พลอยสาแหรก หรือสตาร์ มีรูไทล์ปนอยู่ในเนื้อพลอย
– แร่รัตนชาติอื่น เช่น เพทาย โกเมน มรกต มุกดาหาร ไพฑูรย์ โอพอล มุก แอเมทิสต์ เป็นต้น

รัตนชาติไทย
หากจะแปลตามตัว รัตนชาติ หรือที่เดิมเขียนกันว่า รัตนชาต ก็จะแปลไว้ว่า สิ่งที่ถือกำเนิดมาเป็นแก้ว (รัตน=แก้ว ชาต=เกิด) ซึ่งในประเทศไทย พบว่ามีรัตนชาติ 9 อย่างอันเป็นมิ่งมงคล แต่บางชนิดหายากหรือหาไม่พบในประเทศไทยปัจจุบันแล้ว

รัตนชาติ ทั้ง 9 หรือที่เรียกว่า นพรัตน์ นั้น โบราณท่านผูกเป็นบทกลอนไว้ว่า

“เพชรดี มณีแดง เขียวแสงใสมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์”

ซึ่งตามคำกลอนดังกล่าว ไม่ได้เรียงตามระดับราคาหรือค่าความแข็งแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้พบว่าชื่อเรียกในโบราณนั้น ปัจจุบันสามารถหมายถึง รัตนชาติชนิดอื่นได้เช่นกัน ถ้าอ้างอิงตามกลอนบทนี้ สามารถถอดความเป็นรัตนชาติ 9 อย่างได้ดังนี้

1. เพชรดี หมายถึง เพชร (Diamond)
2. มณีแดง หมายถึง ทับทิม (Ruby)
3. เขียวแสงใสมรกต หมายถึง มรกต (Emerald)
4. เหลืองใสสดบุษราคัม หมายถึง บุษราคัม (Citrine) ปัจจุบันหมายถึง (Yellow Topaz)
5. แดงแก่ก่ำโกเมนเอก หมายถึง โกเมน (Garnet)
6. สีหมอกเมฆนิลกาฬ หมายถึงไพลิน , นิล (Sapphire)
7. มุกดาหารหมอกมัว หมายถึง มุกดาหาร (Moonstone)
8. แดงสลัวเพทาย หมายถึง เพทาย (Hyacinth) เขียนอีกอย่างหนึ่งว่า (Yellow Zircon) (ซึ่งเป็นรัตนชาติชนิดเดียวกัน)
9. สังวาลย์สายไพฑูรย์ หมายถึง ไพฑูรย์ (Chrysoberyl)

แหล่งผลิตแร่รัตนชาติ
แหล่งผลิตแร่รัตนชาติที่สำคัญในประเทศไทย เรียกว่า “บ่อพลอย” ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด และกาญจนบุรี โดยรัตนชาติที่มีค่าและมีชื่อเสียง ได้แก่ ทับทิมสยาม (สีชมพูเข้ม) ไพลินหรือแชปไฟร์ (สีน้ำเงิน) และบุษราคัม (มีสีเหลือง) และพลอยสีอื่นทั่วไป ส่วนเพชรพบปนกับแร่ดีบุก มีอยู่ในจังหวัดภูเก็ตและพังงาแต่มีปริมาณน้อยคุณภาพต่ำมาก

ความรู้เกี่ยวกับแร่รัตนชาติบางชนิด
แร่รัตนชาติ ซึ่งเป็นที่นิยมนำมาทำเครื่องประดับและควรรู้จัก ได้แก่ เพชร มรกต โกเมน หยก มุกดาหาร โอพอล ทับทิม ไข่มุก ไพลิน และบุษราคัม

การตรวจสอบสมบัติของอัญมณี
เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินอัญมณี ได้แก่ ความแข็งจากความทนทานต่อการขูดขีด, ความถ่วงจำเพาะและสี, ค่าดัชนีหักเหแสง ซึ่งเป็นค่าคงที่ของอัญมณีแต่ละชนิด จึงสามารถใช้ตัดสินว่า อัญมณีนั้นเป็นของปลอมหรือไม่ นอกจากนี้ ความแข็งของแร่ก็มีผลต่อราคาของอัญมณีด้วย จึงนิยมนำมาทดสอบ โดยการขูดขีดกัน (อาจใช้ตะไบมือ เหรียญทองแดง มีดพับ, กระจก ทดสอบ) เมื่อทดสอบแร่ที่มีรอยขูดขีดจะอ่อนกว่า นอกจากนี้ ลักษณะรูปผลึก (รูปทรงเรขาคณิต) ก็เป็นสมบัติเฉพาะตัวของแร่รัตนชาติแต่ละชนิด ซึ่งมีรูปร่าง เหลี่ยมและมุมแตกต่างกันไป โดยเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

การเพิ่มคุณค่าให้กับอัญมณี
การเพิ่มคุณค่าให้กับอัญมณี หมายถึง การปรับปรุงความแข็ง สี ค่าดัชนีหักเห เพื่อให้เกิดความงดงามและมีค่าเพิ่มขึ้นด้วยการเจียระไน (Crystallize; ตัดแร่ให้เป็นเหลี่ยม) การหุงพลอยหรือเผาพลอย (Heat temperature) เพื่อให้เกิดการจัดเรียงอะตอมใหม่ การย้อมเคลือบสี (Dye) การอาบรังสี (irradiation) และการใช้เลเซอร์ (Laser)

แหล่งแร่ในจังหวัดสุรินทร์
กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำแนกเขตทรัพยากรแร่จังหวัดสุรินทร์ ระบุว่า จ.สุรินทร์มีทรัพยากรแร่ที่สามารถกำหนดเป็นพื้นที่แหล่งแร่สำคัญทางเศรษฐกิจ 3 ชนิด คือ หินบะซอลต์ เกลือหิน และทรายก่อสร้าง โดยจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ (1) แร่เพื่อสาธารณูปโภคพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ได้แก่ หินบะซอลต์ เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง และทรายก่อสร้าง และ (2) กลุ่มแร่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ได้แก่ เกลือหิน หินทรายเพื่อใช้ทำหินขัดตัว ดินเหนียวเพื่อใช้ผลิตเครื่องปั้นดินเผา หรือดินตะกอนกึ่งลมหอบเพื่อใช้ทำอิฐประสาน และเกลือสินเธาว์

แร่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจของ จ.สุรินทร์ : [แผนที่แร่ จ.สุรินทร์]

ที่มา : https://sites.google.com/site/chemeeci/xutsahkrrm-rae
ภาพประกอบจาก : https://vavaland.files.wordpress.com/2012/07/lesson3_data3_040.jpg

Exit mobile version