Anantasook.Com

[ข้อมูล] วันออกพรรษา วันปวารณาออกพรรษา [ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11] ตักบาตรเทโวโรหณะ [แรม 1 ค่ำ เดือน 11]

end-of-buddhist-lent-dayวันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา (หรือ วันมหาปวารณา) เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องด้วยกิจของพระสงฆ์ โดยวันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม)

การออกพรรษา เป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์ โดยในวันออกพรรษานี้ พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย

คำกล่าว ปวารณา ในภาษาบาลี มีว่า “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ” มีความหมายว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้วจักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี”

นอกจากนี้ เมื่อถึง วันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบ 3 เดือน โดยประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกันกับวันออกพรรษา คือ ประเพณีตักบาตรเทโว  โดยหลังวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีการ “ตักบาตรเทโว” หรือ “เทโวโรหนะ” ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก โดยสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตักบาตรดาวดึงส์” โดยอาหารที่นิยมนำไปใส่บาตรคือ ข้าวต้มมัด และ ข้าวต้มลูกโยน

ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเทโว
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ในพรรษาที่ 7 ได้เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสคร การที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า “เทโวโรหณะ” ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น วันดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์ เปิดโลกทั้งสามด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

โดยพิธีตักบาตรเทโวโรหณะในปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่ตอนรุ่งอรุณ หลัง วันออกพรรษา พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันไดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

ราวปี พ.ศ. 2535 สมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็ก (สมัยนั้นยังปั่นจักรยาน) ได้ไปร่วมใส่บาตรพระ ที่ออกจากพระอุโบสถตอนรุ่งเช้า (วัดในชนบท) ผู้ที่ไปทุกคนจะเป็นชาย (เพราะผู้หญิง ไม่น่าจะสะดวกในการเดินทางตอนกลางคืนราวตี 4-5)  นอกจากเด็กผู้ชายที่ติดตามพ่อไปดูกิจกรรมนี้แล้ว ส่วนใหญ่คนที่ไปก็ผ่านการบวชมาแล้ว

นอกจากประเพณีตักบาตรเทโวแล้ว ยังมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาอื่นอีก ดังนี้
1. การแห่ปราสาทผึ้ง รอบพระอุโบสถและฟังธรรมในตอนกลางคืนก่อนวันออกพรรษา ประมาณ 3 คืน (ขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 11) มีการจุดประทัด เผาเทียนเล่นไฟ กันสนุกสนาน
2. พิธีทอดกฐิน (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 กำหนด 1 เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษา)
3. พิธีทอดผ้าป่า (ไม่จำกัดกาล)
4. ประเพณีเทศน์มหาชาติ (นิยมทำกันในวันขึ้น 8 ค่ำ หรือ วันแรม 8 ค่ำ กลางเดือน 12 ในบางท้องถิ่นอาจนิยมทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 หรือในเดือน 10) 

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติในวันออกพรรษา
1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
2. ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร หรือจัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกุศลธรรม “ตักบาตรเทโว”
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและ ประดับธงชาติและธงธรรมจักรตามวัด และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษาฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
6. งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข รวมทั้งละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์

กิจกรรมในวันออกพรรษา ที่เกี่ยวกับสถานศึกษา
1. ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน และประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เนื่องในวันออกพรรษา
2. ครูและ นักเรียนร่วมกันให้ความรู้ ความเข้าใจถึง ความสำคัญของวันออกพรรษา ทั้งหลักธรรม และการปฏิบัติตนในวันออกพรรษา
3. จัดกิจกรรม นิทรรศการ ประกวดเรียงความ สมุดภาพ ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม เนื่องในวันออกพรรษา
4. จัดกิจกรรมร่วมกันกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม พัฒนาพื้นที่สาธารณะ และวัด และกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมในวันออกพรรษา

ประเพณีวันออกพรรษา และกิจกรรมการท่องเที่ยวไทย
1. ประเพณีออกพรรษา แห่ปราสาทผึ้ง และการแข่งขันเรือยาว จังหวัด สกลนคร
2. ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด จังหวัด แม่ฮ่องสอน
3. ประเพณีตักบาตรเทโว จังหวัด อุทัยธานี
4. ประเพณีบุญแห่กระธูป จังหวัด ชัยภูมิ
5. ประเพณีชักพระ ทอดพระป่า และแข่งขันเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี
6. งานเทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค จังหวัด หนองคาย
7. ประเพณีลอยผาสาด ดารดาษนทีโขง จังหวัด เลย
8. เทศกาลงานบุญออกพรรษา จังหวัดมุกดาหาร
9. ทำบุญตักบาตรสองแผ่นดิน เหนือสุดในสยาม จังหวัด เชียงราย
10. งานประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ จังหวัดตรัง
11. ประเพณีแข่งโพนลากพระ จังหวัด พัทลุง

ประโยชน์จะได้รับจากวันออกพรรษา
1. พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรม เรื่องปวารณา และแนวทางปฏิบัติ
2. พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันออกพรรษา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม คือ ปวารณา
3. พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้ง และตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
4. พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีรู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง

เรียบเรียงจาก
1. th.wikipedia.org/wiki/วันออกพรรษา
2. http://scoop.mthai.com/specialdays/3163.html
3. http://hilight.kapook.com/view/26828
4. http://www.learntripitaka.com/History/Out.html
ภาพประกอบจาก : http://scoop.mthai.com/wp-content/uploads/2011/02/t1511.jpg

Exit mobile version