[อวสานกรุงศรี] อวสานอโยธยาศรีรามเทพนคร นับเวลาถอยหลัง 2 ปี ครบ 250 ปี วันกรุงแตก วันเสียกรุงครั้งที่ 2

เมื่อดูหนังเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาคสุดท้าย อวสานหงสา จบลง ผมก็คิดอยากดูหนังภาคถัดไปของท่านมุ้ยต่อทันที (อันนี้คิดเอง อยากให้ท่านทำให้ผมและแฟนๆ ภาพยนตร์ของท่านได้ดู และตามประวัติศาสตร์ก็สามารถที่จะทำภาคต่อได้อีก 3-4 ภาค แบบไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นะครับ) 

ในหนังภาคอวสานหงสา ได้ทิ้งท้ายถึงพระวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทำศึกกับหงสาวดีมาอย่างยาวนาน และผลของพระปรีชาบารมี ทำให้กรุงศรีอยุธยาว่างเว้นจากศึกกับพม่าถึงกว่า 150 ปี (ต่างฝ่ายต่างพัฒนาบ้านเมืองและทำศึกภายในกันเอง) และขณะเดียวกันในภาพยนตร์ พระนเรศวรยังทรงสั่งเสียกำชับว่า ต้องจัดการกับพระเจ้ากรุงอังวะให้เด็ดขาด เพื่อไม่ให้อังวะกลับมาทำร้ายอโยธยาได้อีก …. เหมือนจะทรงรู้ว่า เขามาอีกแน่นอน

และการณ์ก็เป็นเช่นนั้น เพราะในอีกราว 150 ปีต่อมา หลังจากที่พม่ารวมดินแดนต่างๆ เข้าด้วยกันและเข้มแข็งเหมือนดังสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้-บุเรงนอง … “ศึกอลองพญา (พ.ศ. 2302-2303)” ระหว่างกรุงอังวะกับกรุงศรีอยุธยาก็อุบัติขึ้น ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าอลองพญา (พระเจ้ากรุงอังวะ) และพระเจ้าเอกทัศน์ (พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา) แม้ศึกครั้งนี้ อโยธยาจะรอดตัวไปได้ แต่ก็บอบช้ำเต็มที และพระเจ้าอลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างทางกลับจากสงครามครั้งนี้ ซึ่งในอีก 7 ปีต่อมา ในสมัยพระเจ้ามังระ (บุตรของอลองพญา) ก็สืบทอดเจตนารมณ์ของพระราชบิดา เปิดศึกล้างแค้นกับอยุธยาอีกครั้ง โดยส่งสองแม่ทัพใหญ่ คือ (1) มังมหานรธา และ (2) เนเมียวสีหบดี มาจัดการกับอโยธยาศรีรามเทพนคร ขณะที่พระองค์เตรียมทำศึกกับจีน (สมัยจักรพรรดิ์เฉียนหลง) โดยกำชับให้ “ตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ (ตีไม่ได้ห้ามกลับ) และเมื่อตีได้ให้ริบพลทหาร พลเมือง ทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นทั้งปวงกลับพระนคร” (ศึกพม่ากับจีน เริ่มขึ้นหลังอวสานกรุงศรีอยุธยา และกินเวลาหลายปี ทำให้ชาวสยาม มีเวลาฟื้นตัว สามารถจัดการทัพพม่าที่ตั้งในกรุงศรีอยุธยาได้ภายใน 8 เดือนหลังกรุงแตกและตั้งกรุงธนบุรี เป็นราชธานีใหม่ สร้างบ้านแปงเมืองอีกครั้ง)

เส้นทางทัพ : มังมหานรธา ยกทัพมาทางทวาย มะริด ตระนาวศรี เข้าด่านสิงขร และตีเมืองตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา ขณะที่เนเมียวสีหบดี ยึดล้านนา (เชียงใหม่) และหลวงพระบาง ได้อย่างเด็ดขาด จากนั้น ตีเมืองต่างๆ จากเหนือเรื่อยลงมา หลายเมืองสู้จนตัวตาย (รวมถึงบ้านบางระจัน) และหลายเมืองยอมสวามิภักดิ์ทัพจากอังวะ จนจรดกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ทัพที่เกณฑ์มา มีทั้งพม่า ไทใหญ่ ล้านนา ลาว และคนสยามด้วยกันเอง ก่อนกรุงแตกมังมหานรธาเสียชีวิต ทำให้เนเมียวสีหบดี บัญชาทัพแต่เพียงผู้เดียว และกำหนดยุทธศาสตร์การรบเป็นจัดการให้เด็ดขาดราบคาบ ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งที่สุด กรุงศรีอยุธยาก็แตกในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 นับถึงปีปัจจุบัน เมษายน พ.ศ. 2558 ก็เป็นเวลา 248 ปี 

เป็นจังหวะเวลาพอดีที่ สำนักพิมพ์สารคดี ฉบับที่ 362 เมษายน 2558 ได้นำเสนอเรื่องราว อวสานกรุงศรีฯ 248 ปี วันกรุงแตก โดยได้นำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ของการศึกครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจ บางที่สิ่งที่เรารับรู้มาก่อนหน้านี้ อาจไม่สอดรับกับข้อมูลใหม่นี้ … ประวัติศาสตร์อาจกล่าวโทษพระเจ้าเอกทัศน์ ต่างๆ นาๆ แต่ใครจะรู้ว่า ในยามนั้น ได้ทรงทำหน้าที่ของพระมหากษัตริย์อย่างเข้มแข็ง ขณะที่ขุนนาง ขุนศึกต่างๆ ทั้งในพระนครและหัวเมืองด้านนอก หนีทัพหรือย้ายข้างไปเข้ากับพม่าจนหมดสิ้น 

นิตยสาร สารคดี จึงชวนท่านผู้อ่านกลับมาทบทวนเรื่องราวที่เป็น “ปมใหญ่” ของประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้ง เพื่อที่ในอีก 2 ปีข้างหน้า (2560) เราจะรำลึกการเสียกรุงครั้งที่ 2 และเข้าใจเพื่อนบ้านได้อย่างแท้จริง ลองหามาอ่านกันดูครับ

end-of-ayudhyaกลับมาที่เรื่องหนังอีกทีเน๊าะ … จากประวัติศาสตร์จุดนี้ หากสร้างเป็นภาพยนตร์ (ไล่ตั้งแต่ อวสานกรุงศรีฯ/ ตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินกู้ชาติ/ ตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสิน รวมชาติ/ สงครามเก้าทัพ-สงครามท่าดินแดง) น่าจะสนุก (ต้องให้ทีมท่านมุ้ยกำกับเหมือนเดิมด้วยนะ) ภาพยนตร์น่าจะช่วยฉายภาพความผิดพลาด และการขาดความสามัคคีของคนในราชอาณาจักรยุคนั้นได้อย่างดี เพื่อที่เรา (ในปัจจุบัน) จะได้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต มองสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นอย่างเข้าใจ และที่สำคัญผลจากการเสียกรุงครั้งนั้น ก็ทำให้คนสยาม สามารถรวมกลุ่มรวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น มีความสามัคคี รู้จักปรับตัว ปรับยุทธศาสตร์การเมืองการปกครอง ซึ่งส่งผลให้สามารถที่จะรักษาชาติ ให้รอดจากยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก จนเป็นชาติเอกราชมาจนถึงปัจจุบันได้  … หรือท่านผู้อ่านมีความเห็นว่าไงบ้างครับ

ละครเรื่อง ฟ้าใหม่ ของช่อง 7 สะท้อนเหตุการณ์ 10 ปี ก่อนกรุงแตก

ปล. อีก 2 ปีข้างหน้า (เมษายน 2560) มารำลึก 250 ปี อวสานกรุงศรีฯ ในยามที่เราเป็นพลเมืองอาเซียน ด้วยกันครับ
ภาพประกอบจาก : เพจ : Sarakadee Magazine



Leave a Comment