ธรรมชาติและเผ่าพันธุ์ของช้าง กำเนิดช้าง วิวัฒนาการของช้าง ชนิดของช้าง คชศาสตร์ ชาติสกุลช้าง

บทที่ 2 ธรรมชาติและเผ่าพันธุ์ของช้าง

2.1 กำเนิดและวิวัฒนาการของช้าง
บรรพบุรุษยุคแรกของช้างนั้น มีอายุประมาณ 60 ล้านปี มีชื่อที่เรียกว่า โมเออริเทอเรียม (Moeritherium) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามสถานที่ที่ค้นพบ คือ ทะเลสาบโมเออริส(Moeris) ประเทศอียิปต์ โมเออริเทอเรียม ไม่ได้มีรูปร่างเหมือนช้างในปัจจุบัน แต่มีขนาดตัวเล็กกว่าช้างปัจจุบันมาก โดยมีขนาดประมาณสมเสร็จ ลำตัวยาวใหญ่ หางสั้น ไม่มีงวง และน่าจะดำรงชีวิตเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ คล้ายฮิปโปโปเตมัส อาศัยอยู่บริเวณทวีปแอฟริกาเหนือ

หลังจากมีโมเออริเทอเรียมเกิดขึ้น สัตว์ในตระกูลช้างก็ได้ขยายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีรูปร่างและหน้าตาแตกต่างกันออกไป ช้างยุคแรกเกือบทั้งหมดมีถิ่นที่อยู่ในบริเวณทวีปแอฟริกาจนกระทั่งถึงต้นสมัยไมโอซีน (Miocene) หรือประมาณ 26 ล้านปีก่อน ลูกหลานของโมเออริเทอเรียม จึงได้มีการอพยพไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ยกเว้นออสเตรเลียกับแอนตาร์กติก ช่วงสมัยไมโอซีน ที่มีช่วงเวลาระหว่าง 26-12 ล้านปี สัตว์จำพวกช้างได้แตกหน่อแยกพันธุ์ออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งฟอสซิลของช้างที่ค้นพบทั่วโลกได้ 38 สกุล จำนวน 162 ชนิด พอมาถึงรุ่งอรุณแห่งสมัยโฮไลซีน (Holocene) หรือประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อน ลูกของช้างเหล่านี้กลับเหลืออยู่เพียง 2 ชนิด คือ ช้างแอฟริกากับช้างเอเชีย

ประเทศไทยมีการค้นพบซากช้างโบราณแล้วหลายครั้ง โดยเมื่อราว 50 ปีก่อน มีการขุดฐานรากสะพานเดชาชาติวงศ์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์  ทำให้พบซากฟอสซิลช้างโบราณด้วยความบังเอิญ จำนวน 6 ชิ้น ในขณะนั้น นายแพทย์บุญส่ง  เลขะกุล ได้ให้ความสนใจศึกษาฟอสซิลดังกล่าว จึงส่งชิ้นส่วนของฟอสซิลไปตรวจสอบที่ประเทศอังกฤษ พบว่า เป็นกระดูกช้างพันธุ์ Stegodon insignis อายุประมาณ 2,000,000-10,000 ปี สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยอย่างมาก หลังจากนั้นมีการค้นพบฟอสซิลช้างอีกหลายแห่ง เช่น ที่เหมืองถ่านหินลิกไนส์ ในจังหวัดลำปางและจังหวัดพะเยา

และเมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบสุสานช้างโบราณ แหล่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในประเทศไทย ที่เขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา โดยนักวิชาการ 2 ท่าน คือ นายนเรศ  สัตยานุรักษ์ นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และ ดร.ประเทือง  จินตสกุล จากสถาบันราชภัฏนครราชสีมา ขณะเข้าไปสำรวจไม้กลายเป็นหิน จากการศึกษาของ ดร.วราวุธ  สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์และสัตว์มีกระดูกสันหลัง จากฝ่ายโบราณชีววิทยา กรมทรัพยากรและธรณี และผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ฟอสซิสช้าง มีอายุประมาณ 13-15 ล้านปี และจากการวิเคราะห์ฟอสซิลดังกล่าว สามารถจำแนกซากช้างโบราณได้แล้ว 7 สกุล จาก 38 สกุล คือ
     1. กอมโฟธีเรียม (Gomphotherium)
     2. ไดโนธีเรียม (Deinotherium)
     3. เตตระโลโฟดอน (Tetralophodon)
     4. โปรตานันคัส (Protanancus)
     5. สเตโกโลโฟดอน (Stegolophodon)
     6. สเตโกดอน (Stegodon)
     7. เอลิฟาส (Elephas)

นอกจากนี้ ยังมีชิ้นส่วนของฟอสซิลของทั้งพืชและสัตว์อีกหลายชนิดที่ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้และคาดว่าอาจมีฟอสซิลช้างอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัว ใต้พื้นที่นับหมื่นไร่ในบริเวณนั้น ซึ่งแสดงว่า ในสมัยบรรพกาลพื้นที่ดังกล่าวของที่ราบสูงโคราช เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก

2.2 ชนิดของช้าง
     ช้างในปัจจุบัน มี 2 ชนิด คือ
     1. ช้างแอฟริกา (Africa Elephant) มี 2 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่
          – ช้างป่าแอฟริกา (Loxodonta Africana cyciotis)
          – ช้างทุ่งแอฟริกา (Loxodonta Africana africana)
          อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ความสูงโดยเฉลี่ย 3.5 เมตร ซึ่งนับว่าสูงกว่าช้างเอเชีย หัวช้างแอฟริกาจะเล็กกว่าหัวช้างเอเชียเห็นได้ชัด และมีโหนกที่หัวเพียงลอนเดียว ลักษณะที่แตกต่างกับช้างเอเชียที่เห็นชัดอีกอย่างหนึ่ง คือ มีใบหูที่ใหญ่กว่า เมื่อกางออกเต็มที่จะมีใบหูใหญ่มาก ปลายงวงมี 2 จะงอย เท้าหน้ามีเล็บข้างละ 5 เล็บ เท้าหลังมีข้างละ 3 เล็บ เป็นช้างที่มีความฉลาดน้อยกว่าช้างเอเชียและดุร้าย ยังไม่มีผู้ใดนำมาฝึกเพื่อการแสดง ช้างแอฟริกาชอบอยู่กลางทุ่งผิดกับช้างเอเชียที่ชอบอยู่ในที่ร่ม

      2. ช้างเอเชีย (Asia Elephant) มี 3 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่
         – ช้างศรีลังกา มีรูปร่างขนาดใหญ่ สีกายดำ ใบหูใหญ่มีสีกระจายบริเวณใบหู ใบหน้า งวงและลำตัว ไม่มีงา
         – ช้างอินเดีย ขนาดตัวเล็กกว่าชนิดแรก สีตามจุดต่างๆจางกว่า พบในประเทศเนปาล ภูฏาน อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียและแคว้นยูนานของจีน
         – ช้างสุมาตรา มีขนาดตัวเล็กที่สุด สีผิวจางมากที่สุด พบในมาเลเซียและสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

ช้างเอเชีย มีขนาดความสูงในลักษณะที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ เฉลี่ยวัดจากปลายขาหน้าถึงไหล่ประมาณ 3 เมตร กะโหลกหัวใหญ่ มีมันสมองมาก จึงเฉลียวฉลาด สามารถนำมาฝึกให้ทำงานหรือฝึกให้แสดงท่าทางต่างๆ ได้ ใบหูเป็นแผ่นกว้าง ขอบหูด้านบนอยู่ในระดับหัวช้าง ปลายงวงจะมีจะงอยเดียว หลังโค้งจนแลเห็นชัด เท้าหน้ามีเล็บข้างละ 5 เล็บ เท้าหลังมีเล็บข้างละ 4 เล็บ

ช้างเอเชีย ถ้าช้างตัวผู้ที่มีงา เรียกว่า ช้างพลาย ไม่มีงา เรียกว่า ช้างสีดอ ส่วนตัวเมีย เรียกว่า ช้างพัง และช้างตัวเมียจะไม่มีงา แต่บางตัวอาจมีงาสั้นๆ เล็กๆ เรียกว่า ขนาย

2.3 ธรรมชาติของช้าง
elephant-species
(1) ลักษณะทั่วไป
ช้างเป็นสัตว์บก เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุด อายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี มีรูปร่างอ้วน ป้อม ส่วนหลังโค้ง ส่วนหัวกว้างใหญ่ มีรูปทรงเป็นโหนกหรือลอน 2 ลอน ตาและใบหูขนาดเล็ก มีกระดูกซี่โครง 16 คู่ กระดูกหาง 33 ข้อ เท้าหน้ามี 5 เล็บ เท้าหลังมี 4 เล็บ มีงวงยาวประมาณ 1.2-1.6 เมตร มีหางยาวประมาณ 1.2-1.8 เมตร เมื่อช้างโตเต็มวัย ตัวผู้จะมีน้ำหนัก 3,700-4,500 กิโลกรัม สูง 2.4-2.9 เมตร ตัวเมียมีน้ำหนัก 2,300-3,700 กิโลกรัม สูง 2.1-2.4 เมตร ลูกช้างแรกคลอดสูงประมาณ 90 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัวประมาณ 90 กิโลกรัม   

ช้าง จะมีเฉพาะฟันกราม มีลวดลายเป็นวงรีเรียงกัน มีสันร่อง (Ridges) ตัวโตเต็มวัยจะมีสันร่องมากที่สุด แต่ไม่เกิน 27 สันร่อง กินอาหารประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวต่อวัน หรือประมาณ 250-280 กิโลกรัม กินน้ำประมาณ 60 แกลลอน หรือ 15 ปีบ หรือ 150-200 ลิตรต่อวัน ใช้เวลาหากิน 18 ชั่วโมง และนอนหลับเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง

(2) นิสัยช้าง
ช้างป่า โดยทั่วไปชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง หรือ โขลง โขลงหนึ่งประมาณ 10-50 เชือก ในป่าที่มีความสมบูรณ์ไปด้วยอาหารและน้ำ ช้างแต่ละโขลงจะมีมากน้อยแตกต่างกัน แต่ในโขลงหนึ่งๆ จะมีช้างตัวใดตัวหนึ่ง เป็นผู้นำโขลง ช้างที่มีอายุมากบางตัว ไม่ชอบอาศัยอยู่ร่วมกับโขลง มักจะออกหากินตามลำพัง เรียกว่า ช้างโทน ช้างป่าชอบหากินกลางคืน ตั้งแต่ตอนเย็นจนสว่าง พอแดดเริ่มออก จะเข้าป่าหาที่ร่มเย็นเพื่อพักผ่อน เวลานอนมักจะยืนหลับ ตัวจะโยกเยกไปมา แต่บางครั้งก็จะนอนตะแคงกับพื้น

ส่วนช้างที่เลี้ยงตามบ้าน มักมีนิสัยอยู่กับคนหรืออยู่ตามหมู่บ้าน โดยทั่วไปทั้งช้างตัวผู้และช้างตัวเมีย จะไม่ดุร้ายหรือทำร้ายผู้ใด ยกเว้นเวลาตกมัน โดยเฉพาะช้างตัวผู้จะมีอารมณ์ที่ดุร้าย ชอบทำลายสิ่งที่ขวางหน้าแม้แต่ช้างด้วยกันเอง

(3) การผสมพันธุ์ช้าง
ช้างจะเริ่มผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 13-15 ปี จนถึงอายุ 50 ปี ฤดูกาลผสมพันธุ์ไม่แน่นอน สุดแท้แต่โอกาสและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การผสมพันธุ์ ช้างเพศผู้จะขึ้นทับช้างเพศเมีย ครั้งหนึ่งใช้เวลา 30-40 นาที และใช้เวลาในการผสมจริงๆ (สอดเครื่องเพศ) เพียง 10-15 วินาที เท่านั้น

การเป็นสัด เป็นอาการของช้างที่พร้อมจะผสมพันธุ์ ช้างตัวเมียจะเป็นสัดปีละ 3-4 รอบ (ถ้าไม่ตั้งท้อง) เป็นสัดครั้งหนึ่งอยู่นาน 2-8 วัน (เฉลี่ย 4 วัน) ช้างจะตั้งท้องนานประมาณ 18-22 เดือน (ลูกช้างเพศผู้จะอยู่ในท้องนานกว่าลูกช้างเพศเมีย) การตกลูก ปกติตกลูกคราวละ 1 ตัว อาจมีแฝดได้ เช่น ช้างจุ๋มจิ๋ม เมื่อลูกช้างออกลูกแล้ว จะดูแลลูกและอยู่ร่วมกันกับแม่ประมาณ 3 ปี รวมระยะเวลา 5 ปี แม่ช้างจึงจะเริ่มผสมพันธุ์อีกครั้ง ดังนั้น แม่ช้าง 1 เชือก ตลอดชีวิตจะตกลูกได้ 4-6 เชือก

(4) การตกมัน
ช้างพลายและช้างพังที่โตเต็มวัย อายุประมาณ 20-40 ปี ถ้ามีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ มีโอกาสตกมันได้ บางเชือกขณะตกมันจะมีนิสัยดุร้ายและจำเจ้าของไม่ได้ อาการตกมันของช้างจะเกิดได้ตลอดทั้งปี แต่จะเกิดได้มากในช่วงฤดูหนาว เพราะอากาศเย็นสบาย อาการตกมันจะคงอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ 

(5) การเลี้ยงดูช้าง
ช้างเป็นสัตว์ที่ชอบอากาศเย็น กินพืชเป็นอาหาร เช่น หญ้า หน่อไม้ ต้นกล้วย กล้วยสุก อ้อย ทางมะพร้าว ข้าวเปลือก ข้าวสุก เป็นต้น โดยเฉลี่ยช้างที่โตเต็มวัย จะกินอาหารประมาณวันละ 250-280 กิโลกรัม ดื่มน้ำได้วันละ 60 แกลลอน ดังนั้น การเลี้ยงดูช้าง อาจกล่าวได้ 2 ลักษณะ

1. ช้างป่า ควรจัดหาป่าที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยอาหารของช้าง ออกกฎหมายคุ้มครองป่าและช้าง ไม่ให้ใครเข้าไปบุกรุกยึดพื้นที่ มีแนวป้องกันไฟป่า ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่ที่มีคุณภาพ คอยสอดส่องดูแลป่าและช้างป่า

2. ช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง เป็นช้างที่มีเจ้าของครอบครอง ในอดีต ชาวบ้านจะนำช้างไปเลี้ยงในตอนกลางวัน โดยให้หาอาหารกินเอง พอถึงเย็นก็นำกลับบ้าน หรือบางครั้งจะผูกช้างไว้ที่ป่า แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าสาธารณะมีน้อย อาหารไม่เพียงพอ จึงต้องซื้ออาหารให้กิน ประกอบกับคนเลี้ยงช้างส่วนใหญ่มีรายได้น้อย เนื่องจากรายได้หลัก คือ การทำนาและรับจ้างทั่วไป จนประสบปัญหา ไม่มีเงินซื้ออาหารให้ช้างกิน จึงต้องนำช้างของตนไปทำงานนอกพื้นที่หรือเป็นช้างเร่ร่อน

2.4 คชศาสตร์ ชาติสกุลช้าง
        1. ช้างสามัญ คือ ช้างเลี้ยงหรือช้างทั่วไป
        2. ช้างสำคัญ คือ ช้างที่คัดเลือกมาจากช้างสามัญที่มีรูปร่างดี แล้วขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญ ช้างเชือกใดถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ ที่ว่าด้วยช้างมงคลหรือช้างเผือก แต่ไม่สมบูรณ์ มีสีผิวกายไม่ดำ เรียกว่า ช้างประหลาด ถ้ามีสีผิวกายดำ เล็บดำ เรียกว่า ช้างเนียม
        3. ช้างมงคล หมายถึง ช้างที่เป็นมิ่งมงคล เป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง เกิดจากบารมี หรือเพื่อเสริมบารมีของสมเด็จพระจักรพรรดิราชเจ้า

ช้างเผือก เป็นช้างมงคลคู่บารมีพระมหากษัตริย์ และเป็นสัญลักษณ์ของความร่มเย็นเป็นสุข บ้านใดเมืองใด ที่มีช้างเผือกมาสู่พระบารมี บ้านนั้นเมืองนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง โดยลักษณะช้างเผือกตามตำราคชลักษณ์ช้างมงคล มี 7 ประการ คือ ตาขาว เพดานปากขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาว ขนหางขาว และอัณฑโคตร์ขาว

สำหรับช้างเผือกคู่พระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ปัจจุบันยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ “พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิสุทธวงศ์ สรรพมงคล ลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ ประสิทธิ์รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรพิตรสารศักดิเลิศฟ้า” ซึ่งคล้องได้ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ. 2499  

ที่มา : ชุดการเรียนรู้ เรื่อง สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่
ลิขสิทธิ์และผลงานของ : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (www.anantasook.com)
ทุนสนับสนุนประจำปีงบประมาณ 2552 จาก : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 



Leave a Comment