Anantasook.Com

ประเพณีและความผูกพันของคนกับช้าง ทำบุญช้างเกิด ช้างตาย แยกลูกช้าง บวชนาคช้าง และงานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์

บทที่ 6 ประเพณีและความผูกพันของคนกับช้าง

6.1 ประเพณีทำบุญช้างเกิดและช้างตาย
วิถีชีวิตชองชาวกวย มีความผูกพันกับช้าง ประดุจเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุขร่วมสุข หากคราใดช้างป่วย หรือล้มตาย ทุกคนในครัวเรือนและวงศาคณาญาติ มีความรู้สึกเหมือนกับการสูญเสียญาติพี่น้อง และมีการนำช้างตายไปฝัง และทำบุญอุทิศส่วนกุศลตามประเพณีทางพระพุทธศาสนา เมื่อมีโอกาสชาวกวยจะขุดโครงกระดูกช้างขึ้นมาไว้ที่วัดป่าอาเจียง เพื่ออุทิศส่วนกุศลเหมือนกับญาติพี่น้องที่ล่วงลับ ดังนั้น ชาวกวยทุกคน เมื่อมีช้างตาย จะไม่รับประทานเนื้อช้างโดยเด็ดขาด เพราะถือว่า ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีบุญคุณและเปรียบเหมือนญาติพี่น้อง เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ดังนั้น จึงได้เกิดสุสานช้างไว้เป็นที่ศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษของชาวกวยและบุคคลทั่วไป ปัจจุบันมีโครงกระดูกช้างประมาณ 70 หลุม

สุสานช้าง ตั้งอยู่ภายในวัดป่าอาเจียง ห่างจากศูนย์คชศึกษา 2 กิโลเมตร ทิศตะวันตกโรงเรียนช้างบุญวิทยา พื้นที่วัดเป็นป่า เป็นเนินดินสูง มีพระอาจารย์หาญ  ปัญญาธโร เป็นเจ้าอาวาสและได้อุทิศตนเพื่อชุมชนชาวกวย จนได้รับปริยญากิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2549

6.2 พิธีแยกลูกช้าง
เป็นพิธีหนึ่งในหลายๆ พิธีที่ชาวช้างถือปฏิบัติกันมาช้านาน พิธีนี้กระทำต่อเมื่อลูกช้างคลอดได้ประมาณ 4-5 ปี เพื่อเป็นการแยกลูกช้างออกจากแม่ แล้วนำลูกช้างไปทำการฝึกสอนและการใช้งาน ในการฝึกจะต้องใช้ทั้งคำติและคำชม ทั้งลงโทษเฆี่ยนตีและปลอบใจ หากยังให้ลูกช้างติดแม่อยู่ก็เป็นการยากที่จะสอนได้ เพราะแม่ช้างต้องให้การช่วยเหลือลูกช้าง ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้ฝึกสอนได้และยังเป็นการฝึกให้ลูกช้างเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องมีแม่คอยให้การช่วยเหลือนั่นเอง

ก่อนทำพิธีนี้ ต้องมีการเซ่นบวงสรวงตามประเพณี กล่าวคือ เซ่นผีปะกำ จากนั้นจึงทำพิธีแยกลูกช้าง โดยจะนำเครื่องเซ่นชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วย หมากพลู บุหรี่ ไก่ต้มทั้งตัว (ดูคางเพื่อทำนาย) เหล้าขาว น้ำ ดอกไม้ธูปเทียน(ขันห้า) ไก่เป็น ลูกฟัก และอื่นๆ อีก

เมื่อเตรียมเครื่องเซ่นครบแล้ว ครูบาใหญ่ จะนำเครื่องเซ่นเหล่านั้นไปกระทำพิธีกับต้นไม้ยืนต้นที่ยังไม่ตาย เสร็จแล้วผูกขาแม่ช้างไว้กับต้นไม้ที่แข็งแรง แล้วนำช้างอีกเชือกหนึ่งที่มีความแข็งแรงกว่า มาลากเอาลูกช้างออกจากแม่ช้างไปผูกไว้ที่ที่ห่างไกลกันประมาณ 1 กิโลเมตร นานเป็นแรมเดือนหรือแรมปี

6.3 ประเพณีบวชนาคช้าง
งานประเพณีบวชนาคช้าง หรืองานบวชอะจีง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวกวยตั้งแต่อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งอยู่ที่บ้านตากลาง ตามคตินิยมที่นับถือผีประกอบกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับช้างอย่างแนบแน่น เมื่อคนรุ่นหลังได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนชาวพุทธทั่วไป จึงรวมความเชื่อและศรัทธาปฏิบัติเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชนของตนเอง ด้วยการบวชนาคช้าง นั่นหมายถึงว่าในการที่ชาวกวยจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เช่น พุทธศาสนิกชน ต้องมีขบวนแห่แหนนาคทุกองค์ด้วยการขี่ช้าง บางทีเรียกว่าขี่ช้างแห่นาค แต่ชาวบ้านเรียกว่า งานบวชนาคช้าง ที่ชาวบ้านภาคภูมิใจว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีขบวนช้างร่วมแห่นาคนับร้อยเชือก มีนาคร่วมแห่นับร้อยคน มีขบวนร่วมแห่นาคด้วยนับพันคน สาเหตุที่มีช้างเข้ามาเกี่ยวข้องในการบวชนอกจากเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนผูกพันกับช้าง เช่น ชาวกวยสุรินทร์และชาวไทยพวน ศรีสัชนาลัยแล้ว ยังเป็นคตินิยมสอดคล้องกับมหาชาติชาดก ที่กล่าวถึงว่า ภายหลังพระเวสสันดรเสด็จออกทรงผนวช ณ ป่าหิมพานต์แล้วชาวเมืองต่างเข้าใจและอภัยให้ (ตอนแรกชาวเมืองไม่พอใจที่พระองค์พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ซึ่งเป็นช้างสำคัญคู่เมืองแก่พราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ไป)

ดังนั้น เมื่อครอบครัวใดมีลูกชายอายุครบบวช คือ 20 ปีบริบูรณ์ พ่อแม่จะต้องจัดการบวชให้ลูกชาย การบวชของชาวกวยกำหนดพิธีจัดงานบวชในเทศกาล วิสาขบูชา หรือระหว่างวันเพ็ญขึ้น 13-14-15 ค่ำ เดือน 6 โดยก่อนหน้าวันงาน บรรดาพ่อแม่ของชายหนุ่มที่มีอายุครบบวชจะนัดบวชพร้อมกัน เพื่อให้เป็นงานใหญ่ของหมู่บ้าน ที่สำคัญนาคจะต้องร่วมกันขี่ช้างแห่แหนกันไปทั้งหมู่บ้านถึงจะได้บุญกุศลแรง จึงเป็นงานเดียวในโลกอีกเช่นกันที่ช้างจะมาชุมนุมกันอย่างมากมายไม่แพ้งานแสดงช้าง แต่ทั้งสองงานนี้นับได้ว่าเป็นงานที่ชาวกวยและช้างจะกลับถิ่นบ้านเกิด

6.4 งานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์
การชุมนุมช้างครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 มีการรวมช้างทั้งหมดที่มีในจังหวัดสุรินทร์ ประมาณ 200 เชือก ที่บริเวณหนอองสก็วล (หนองกลอง) ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม  และการจัดงานแสดงช้าง เริ่มครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 เดือนพฤศจิกายน 2503 ณ บริเวณสนามบินเก่าอำเภอท่าตูม (ปัจจุบันคือ โรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์) เป็นการจัดงานเพื่อฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ โดยมีนายวินัย  สุวรรณกาศ นายอำเภอท่าตูมในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่ม ในงานมีการแสดงการเดินขบวนแห่ช้าง การแสดงการคล้องช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็ว มีช้างเข้าร่วมการแสดงในครั้งนั้นราว 60 เชือก นอกจากการแสดงช้างแล้ว ยังมีงานรื่นเริงอื่นๆอีก เช่น การแข่งขันเรือ กลางคืนมีมหรสพตลอดคืน จึงให้มีการจัดงานแสดงช้างเป็นงานประจำปีของอำเภอท่าตูมเรื่อยมา

ปี พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ ตามที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(อ.ส.ท.) เสนอให้มีการจัดงานช้างเป็นงานประจำปีของชาติ ให้ส่วนราชการต่างๆให้การสนับสนุน นายคำรณ  สังขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ขณะนั้น พิจารณาเห็นสมควร ให้ย้ายสถานที่การจัดงานช้างจากอำเภอท่าตูม ไปจัดที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปมาของนักท่องเที่ยว โดยใช้สนามกีฬาจังหวัดสุรินทร์ เป็นสถานที่จัดงานเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันปี (พ.ศ. 2552) เป็นปีที่ 48 แล้ว

ปัจจุบัน การจัดงานช้างและงานกาชาดสุรินทร์ มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี มีการจัดงานประมาณ 10 วัน โดยมีการจัดงานที่เกี่ยวกับช้าง 4 วัน (วันพฤหัสบดี-อาทิตย์) ได้แก่
วันพฤหัสบดี การประกวดรถอาหารช้าง ณ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง และการประกวดสาวงามเมืองช้าง

วันศุกร์ งานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง ณ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง

วันเสาร์และวันอาทิตย์ มีกิจกรรมการแสดงช้างสุรินทร์ ณ สนามแสดงช้าง  โดยมีการแสดงในแต่ละวันๆ ละ 8 องก์ ดังนี้

     องก์ที่ 1 นมัสการองค์สุรินทร์เทวา :: เริ่มการแสดง องค์พระสุรินทร์เทวา ประทับบนหลังคชธารที่มีรูปร่างงดงามที่สุด เสด็จออกมาจากเมฆหมอ
     องก์ที่ 2 จุติสู่โลกาธานี :: ลูกช้างตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งกับเด็กเลี้ยงช้างชาวกูย วิ่งเล่นออกมาด้วยกัน ทั้งคู่หยอกเย้ากันอย่างน่ารัก
     องก์ที่ 3 บูชาฟ้าค้นหาพญาช้างไทย :: หญิงสาวชาวกูย ร่ายรำประหนึ่งกำลังบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์
     องก์ที่ 4 ปฐพีเลื่อนลั่น สนั่นพงไพร :: โขลงช้างป่าตัวใหญ่ เดินผ่านหมอกควันออกมาจากโขลงเดียวเป็นหลายๆ โขลง
     องก์ที่ 5 พาราแซ่ซ้องรับขวัญคชา :: ชายหญิงชาวกูย ในเครื่องแต่งกายสวยงาม ร่ายรำออกมาอย่างอ่อนช้อยสวยงาม
     องก์ที่ 6 คชศาสตร์ศึกษา เรืองฤทธิ์ไกร :: การแสดงการฝึกช้าง
     องก์ที่ 7 รุกรบไพรี ยุทธหัตถีมีชัย :: แสดงยุทธหัตถีของฝ่ายอโยธยา กับขบวนทัพหงสาวดี
     องก์ที่ 8  ช้างไทยสามัคคี :: ผู้ชมร่วมแสดงความจงรักภักดี สามัคคีเทิดไท้องค์ราชัน

ที่มา : ชุดการเรียนรู้ เรื่อง สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่
ลิขสิทธิ์และผลงานของ : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (www.anantasook.com)
ทุนสนับสนุนประจำปีงบประมาณ 2552 จาก : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 

Exit mobile version