ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถี หรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้
ครั้งที่ 1 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระอินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์
ครั้งที่ 2 ในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปร กรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต
ครั้งที่ 3 คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชามังสามเกลียดแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ที่ตำบลหนองสาหร่าย ยุทธหัตถีครั้งนี้ กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย (และรวมถึงประวัติศาสตร์โลก) และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล
ในปี พ.ศ.2135 พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนห้าหมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทราบว่า พม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมก ไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวง บริเวณหนองสาหร่าย
เช้า ของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ.2135 สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้ มาแล้ว หรือ เคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่า หลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์ และจาตุรงค์บาท เท่านั้น ที่ติดตามไปทัน
สมเด็จ พระนเรศวร ทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้ กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรง ของสองพระองค์หลงถลำเข้ามา ถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบ ของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึก จึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคย มาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า “เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม ขอเชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกัน ให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างอย่างเราไม่มีอีกแล้ว”
พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอ เข้าชน เจ้าพระยาไชยานุภาพ เสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพ ชนพลายพัทธกอ เสียหลัก สมเด็จพระนเรศวร ทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
ส่วน สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ เมื่อ ทัพหลวงของอยุธยา ตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร ด้านหงสาวดีก็ยกทัพกลับกรุงหงสาวดีเช่นกัน จากนั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดยกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลา อีกยาวนาน
วันยุทธหัตถี หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หมายถึง วันที่ระลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 อันตรงกับวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2135 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2548 ที่ถือให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” ถือ เป็นวันรัฐพิธี โดยมีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
ชมคลิป >> รู้จักยุทธหัตถี ใน 3 นาที
ตัวอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 5 ยุทธหัตถี
เรียบเรียงจาก
1. http://guru.sanook.com/2300/วันยุทธหัตถี/
2. http://2devreg.com/dr1/index.php/ios/223-nares2
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://2devreg.com/dr1/images/nares/naras2.gif