บทที่ 8 การอนุรักษ์ช้างสุรินทร์
8.1 ประโยชน์ที่ได้จากช้าง
1. การขายช้าง ปัจจุบันลูกช้างเชือกหนึ่ง ราคาประมาณ 200,000-400,000 บาท ช้างหนุ่มจะมีราคา 450,000 บาทขึ้นไป ช้างที่มีอายุมากขึ้นราคาจะต่ำลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของช้าง
2. การแสดงของช้าง เป็นอาชีพหลักของช้างที่ศูนย์คชศึกษาบ้านตากลาง ปัจจุบันช้างที่ขึ้นต่อทะเบียนอำเภอท่าตูม มีจำนวน 300 เชือกและประจำที่ศูนย์คชศึกษา จำนวน 75 เชือก โดยแสดงที่ศูนย์คชศึกษามีรายได้ตกเชือกละ 8,000 บาทต่อเดือน ส่วนช้างที่เหลือจะไปเร่ร่อนหารายได้ตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากมีรายได้ดีกว่าศูนย์คชศึกษา เช่น สวนเสือศรีราชา จะมีรายได้เชือกละ 20,000 บาทต่อเดือน
3. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากช้าง มูลช้างนำมาทำเป็นกระดาษสาและปุ๋ยอินทรีย์ งาและกระดูกช้างใช้ทำเป็นเครื่องประดับ สร้อยข้อมือ แหวน ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 150-300 บาท พวกกุญแจจากงาและกระดูกช้าง ราคาตั้งแต่ 30-50 บาท เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและการแกะสลัก นอกจากนี้ยังมีการนำงาช้างมาแกะสลักเป็นรูปพระพุทธรูปตามวันเกิด รูปนางกวัก มีราคาตั้งแต่ 500-2,000 บาท
4. การร่วมงานประเพณีในท้องถิ่น เช่น การบวชนาคช้าง การแสดงช้างประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ การจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง เป็นต้น ส่วนรายได้อยู่ที่การตกลงของเจ้าภาพ ผู้จัดงานและควาญช้างหรือเจ้าของช้าง อยู่ที่ราคาประมาณ 2,000-3,000 บาท โดยเฉพาะงานที่เจ้าภาพมีฐานะทางเศรษฐกิจดี จะได้ราคามาก
8.2 แนวทางการอนุรักษ์ช้างสุรินทร์ที่ยั่งยืน
ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและคุ้มครองอนุรักษ์ช้างในประเทศไทย จำนวน 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ. รักษาช้างป่า พ.ศ. 2464, พ.ร.บ. สัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 กำหนดให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันช้างไทย ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ จารีตประเพณี การดูแลและคุ้มครองช้างไทย เพื่อให้คนไทยทุกคนได้ร่วมกันรำลึกและตระหนักถึงความสำคัญของช้าง และพร้อมใจกันอนุรักษ์ช้างให้คงอยู่คู่กับชาติไทยตลอดไป ทุกคนควรให้ความสำคัญแก่ช้าง ดังต่อไปนี้
1. รัฐควรออกกฎหมายคุ้มครองและอนุรักษ์ช้าง อย่างรัดกุม
2. จัดหาป่า หรือพื้นที่ปลูกป่า เพื่อเป็นอาหารช้างให้เพียงพอ
3. ส่งเสริมให้ความรู้แก่เยาวชนไทย ให้มีความตระหนัก รู้สึกรัก และหวงแหนป่าและสัตว์ป่า
4. ให้ทุนสนับสนุน การศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางเพิ่มประชากรช้างให้มีมากขึ้น และถูกวิธีตามหลักวิชาการ
5. จัดตั้งโรงพยาบาลช้าง ในบริเวณพื้นที่ที่มีช้าง และมีสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับช้างประจำอยู่ พร้อมเวชภัณฑ์ เครื่องมือการรักษาช้างอย่างครบครัน
6. ส่งเสริมผู้เลี้ยงช้าง เจ้าของช้าง ให้มีรายได้พอเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้
8.3 ศูนย์คชศึกษาและการส่งเสริมการท่องเที่ยวหมู่บ้านช้าง
ศูนย์คชศึกษา ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 บ้านตากลาง อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ประมาณ 58 กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 เส้นทางสายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด เลี้ยวซ้ายเมื่อถึง กม. 36 เข้าปากทางบ้านกระโพ ลึกเข้าไปตามถนนลาดยางบนที่ราบใกล้แม่น้ำมูล และลำห้วยน้ำชี ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร นอกจากจะเป็นสถานที่ให้ช้างได้อยู่อาศัยแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ด้วย พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่งอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยพืชพรรณต่างๆ จึงทำให้ศูนย์คชศึกษา สามารถรองรับช้างได้ถึง 150 เชือก
ภายในศูนย์คชศึกษา มีพิพิธภัณฑ์ช้าง ศาลปะกำ การแสดงความสามารถของช้าง วิถีความเป็นอยู่ของคนกับช้าง และมีของที่ระลึก สินค้าโอท็อปจำหน่ายด้วย โดยช่วงที่น่าไปเยี่ยมหมู่บ้านช้างมากที่สุด คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เพราะควาญช้างจะกลับมาเก็บเกี่ยวข้าวและนำช้างมาร่วมงานแสดงของจังหวัด ซึ่งมีช้างกลับมาอยู่บ้านเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้ดูและศึกษาอีกมากมาย ดังนี้
1. การแสดงช้าง ทุกวันๆละ 2 รอบ คือ เช้า (เวลา 10.00 น.) และบ่าย (เวลา 14.00 น.)
2. การศึกษาหาความรู้เรื่อง ช้าง พบกับกำหลวงพืด (ครูบาใหญ่) ตัวจริงที่ยังมีชีวิตอยู่ ชมภาพประวัติศาสตร์ความเป็นมาของช้าง และโครงกระดูกช้างที่สมบูรณ์ที่สุด
3. ชมวิถีชีวิตชาวกวยเลี้ยงช้าง และการฝึกหัดช้าง
4. ชมช้างอยู่ในธรรมชาติ ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตามทุ่งนา ผสมผสานกับสัตว์เลี้ยงต่างๆ
5. ชมการแสดงโพนช้างแบบโบราณ
6. ชมช้างอาบน้ำ ช้างเล่นน้ำ และร่วมสนุกกับการอาบน้ำ เล่นน้ำกับช้างที่วังทะลุ เวลา 14.30 น.
7. นั่งช้างชมธรรมชาติ ริมฝั่งแม่น้ำมูล และชมหมู่บ้านช้าง
8. ฝึกเรียนรู้ วิถีชีวิตการเป็นควาญช้าง
9. การพักแรมในรูปแบบโฮมสเตย์
10. ชมสุสานช้างที่วัดป่าอาเจียง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ขอเชิญท่องเที่ยวหมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เพื่อร่วมอนุรักษ์ช้างและศิลปวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของชาวกวย ซึ่งถือว่าเป็นบรรพชนผู้สร้างเมืองสุรินทร์ ทั้งนี้ เพื่อการสนับสนุนการท่องเที่ยวหมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือให้ควาญช้างได้กลับมาอยู่บ้านและมีรายได้ โดยไม่ต้องนำช้างออกไปหางานทำหรือเร่ร่อนในต่างถิ่น และยังก่อให้เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนอีกด้วย กล่าวคือ นักท่องเที่ยวได้รับความพึงพอใจ ทรัพยากรการท่องเที่ยว(วัฒนธรรม) ไม่ถูกทำลายก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของชาวกวย อันได้แก่ วิถีชีวิตและพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีความผูกพันและเกี่ยวข้องระหว่างคนกับช้าง
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและจองการแสดงช้างล่างหน้าได้ที่
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ 32000 ; www.surinpao.org
นางสิรินาถ เกิดเหมาะ ผู้จัดการศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างสุรินทร์
โทร. 0-1879-2773
นายกฤตพล (เชียงนวง) ศาลางาม ผู้ประสานงานศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างสุรินทร์
โทรศัพท์/โทรสาร 0-4451-1975 มือถือ 0-1977-5319 , 0-9423-7148
2. ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง โทร. 0-4451-7461
องค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ โทร. 0-4450-3703 , 0-1878-5264