Anantasook.Com

[แซบเว่อร์] เมนูไข่มดแดง อาหารชั้นสูง โปรตีนสูง ไขมันต่ำ ธุรกิจเกี่ยวกับไข่มดแดง ประโยชน์ของไข่มดแดง

egg-antไข่มดแดง เป็นอาหารพื้นบ้านชั้นสูง (เพราะอยู่บนที่สูงบนต้นไม้) ที่ชาวบ้านนิยมรับประทาน เพราะว่ารสชาติของไข่มดแดงนั้นมีรสชาติหวาน มัน และถ้าหากกัดโดนไข่ของมดแดง จะได้ความรู้สึกที่ไข่มดแดงแตกในปาก จะรับรู้ได้ถึงความอร่อยอย่างมากเลยทีเดียว โดยฤดูร้อน เป็นช่วงเวลาที่นิยมอย่างมากในการรับประทานไข่มดแดง  เพราะไข่มดจะออกไข่ในช่วงฤดูกาลนี้ ไม่มีให้กินตลอดปี

ชาวบ้านจะเริ่มออกหาแหย่รังมดแดงตามต้นไม้หัวไร่ปลายนา เริ่มประมาณช่วงเดือนธันวาคม ช่วงนี้มักจะได้ไข่ลูกเล็กๆที่เรียกว่าไข่ผาก เข้าเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเมษายนจึงจะได้ไข่ใหญ่ รวมทั้งนางพญามดมดมีปีก ที่ชาวบ้านเรียก “แม่เป้ง” จะพบอยู่ในรังด้วย ชาวบ้านจะนำมากินหมดทั้งไข่ผาก ไข่ใหญ่ แม่เป้ง ไม่เว้นแม่แต่ตัวมดแดงเพราะมดแดงมีรสเปรี้ยวจึงนิยมนำมาปรุงอาหารเช่น ใส่ก้อยปลา ใส่เมี่ยงอีสาน ฯลฯ  

อาหารที่ทำจากไข่มดแดง  ได้แก่   ต้มปลาช่อนใส่ไข่มดแดง  แกงหน่อไม้ใส่ไข่มดแดง  ยำไข่มดแดง  ก้อยไข่มดแดง  ไข่เจียวใส่ไข่มดแดง   ห่อหมกไข่มดแดง  แกงจืดไข่มดแดง  น้ำพริกไข่มดแดง  แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง ลาบไข่มดแดง  เป็นต้น

ประโยชน์ของมดแดงและไข่มดแดง

คุณค่าทางอาหารของไข่มดแดง  ไข่มดแดงที่ชาวบ้านเอามากินหมายถึงไข่ผสมกับตัวอ่อนระยะดักแด้ของมดงานและมดราชินีซึ่งจะมีเม็ดใหญ่สีขาวถึงชมพูอ่อน ขณะที่ดักแด้ของมดงานและมดตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าคือประมาณ 5 ม.ม. แต่ของมดราชินีจะใหญ่ขนาดแคปซูลยา ยาวประมาณ 1 ซ.ม. ชาวบ้านทางเหนือเรียกไข่แบบนี้ว่า   เต้ง ทางอีสานเรียก แม่เป้ง ถ้ามดแดงรังไหนมีไข่ใหญ่แบบนี้มากๆ ก็จะอร่อยกว่า

คุณค่าทางอาหารของไข่มดแดง ตามที่กรมอนามัยแถลงไว้ คือ มีโปรตีนสูง 8.2 กรัม/100 กรัมของไข่มด นับว่ามีมากพอสมควร ส่วนไขมันในไข่มดแดงจะน้อยกว่าในไข่ไก่มาก มีเพียง 2.6 กรัม ขณะที่ไข่ไก่มีมากถึง 11.7 กรัม ดังนั้น แคลอรีจากไข่มดแดงจึงน้อยกว่าไข่ไก่ สำหรับปริมาณกิโลแคลอรีในไข่มดแดงให้พลังงาน 86 กิโลแคลอรี ในขณะที่ไข่ไก่ให้พลังงานถึง 155 กิโลแคลอรี เมื่อเทียบคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณ 100 กรัมเท่ากัน

นอกจากนี้ การนำไข่มดแดงมาทำเป็นอาหาร ก็ควรปรุงให้สะอาด โดยต้องล้างก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร และต้มหรือลวกให้สุกทุกครั้ง ไม่ควรกินแบบสุกๆ ดิบๆ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อโรค สำหรับวัตถุดิบที่นิยมนำมาปรุงประกอบกับไข่มดแดง มักจะเป็นผักพื้นบ้านจะต้องล้างทำความสะอาด เพื่อลดการปนเปื้อนจากเชื้อโรคและพยาธิ สารพิษหรือยาฆ่าแมลงเช่นเดียวกัน โดยการล้างอย่างน้อย 3 น้ำ ดังนี้
1. ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้งหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านผักสดอย่างน้อย 2 นาที
2. ใช้สารละลายอื่นๆ ในการล้างหรือแช่นานประมาณ 2-10 นาที อาทิ น้ำเกลือ หรือใช้น้ำส้มสายชู หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิงโซดาหรือผงฟู)
3. นำมาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสารพิษตกค้างและไม่ควรใช้อุปกรณ์ประกอบอาหาร เช่น เขียงหรือมีดร่วมกันระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ

ประโยชน์ของมดแดง

1. ใช้เป็นอาหาร ได้จากไข่ และตัวมดแดง มดแดงมีกรดน้ำส้ม ให้รสเปรี้ยว มีคุณสมบัติเป็นกรด ใช้แทนมะนาวหรือน้ำส้มสายชู ให้รสชาติอร่อยกลมกล่อม รายการอาหารที่ได้จากมดแดงและไข่มดแดง ได้แก่ ยำไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง ทอดไข่ยัดไส้ เป็นต้น

2. ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ดังนี้
(1) ใช้สูดดม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย โดยนำมดแดงมาขยำแล้วสูดดม
(2) แก้ท้องร่วง เอาเนื้อไก่พื้นบ้านแหย่เข้าไปในรังมดแดง เมื่อมดแดงกัดเนื้อไก่ได้ปริมาณมากดึงออกมาแล้วใช้มือขยำ นำไปย่างไฟให้สุก กินขณะที่ยังร้อน อาการท้องร่วงจะบรรเทาและหายไป
(3) แก้ท้องผูก นำมดแดงมาต้ม ใส่น้ำสะอาด 1-2 ถ้วย พอเดือดยกลง แต่งรสโดยใช้เกลือพอเหมาะ กรองด้วยผ้าขาวบาง ดื่มทันที
(4) ใช้ลบรอยไฝหรือขี้แมลงวัน โดยจับเอาตัวมดแดงกัดตรงเม็ดไฝ ให้มันฉี่ใส่ ถ้าไฝเม็ดโตให้กัดหลายตัวพร้อมกัน ด้วยฤทธิ์ของน้ำกรด ไฝจะบวมและเปื่อย ละลายเอาสีดำไหลออกมา เมื่อแผลหายจะไม่ปรากฏเม็ดไฝอีก มีเพียงรอยแผลเป็นเล็กน้อยเท่านั้น 2.5 ใช้แก้โรควูบ นำรังมดแดงร้างที่เกิดจากต้นคูนมาใส่หม้อนึ่ง ต้มให้เดือดแล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะอังกับไอน้ำเดือด สูดเอาไอร้อน ทำประจำ ที่เป็นโรควูบจะอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุด

3. ใช้กำจัดศัตรูพืช ต้นผลไม้ต่างๆ พืชผัก เช่น บวบ ถั่วฝักยาว แตงร้าน หากมีมดแดงอาศัยอยู่จะปราศจากหนอน แมลง เพลี้ย รบกวน เพราะมดแดงจะจัดการนำไปเป็นอาหารจนหมดสิ้น ต้นมะม่วงที่มีปัญหาเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยแป้งในต้นมะขาม หากนำมดแดงไปเลี้ยงเอาไว้จะหมดปัญหา ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการกำจัดศัตรูพืชและปลอดสารพิษด้วย 4.ให้ความเพลิดเพลิน ผู้ที่เลี้ยงมดแดงจะมีความเพลิดเพลิน ไม่เคร่งเครียด มดแดงจะช่วยให้ผ่อนคลายจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การดำรงชีวิตของมัน ซึ่งผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคนจะสัมผัสได้

ธุรกิจเกี่ยวกับไข่มดแดง
มดแดงจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากตลาดมีความต้องการไข่มดแดงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีราคาค่อนข้างสูงราคาประมาณกิโลกรัมละ 200 –  400 บาท   จึงทำธุรกิจเกี่ยวกับไข่มดแดงเป็นที่น่าสนใจแก่ผู้คนจำนวนมาก  

ธุรกิจที่เกี่ยวกับไข่มดแดง เช่น ธุรกิจร้านอาหารไข่มดแดง ธุรกิจไข่มดแดงอัดกระป๋อง ธุรกิจการเลี้ยงมดแดง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน ไข่มดแดงเป็นอาหารยอดนิยม เพราะว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหาร มีรสชาติที่อร่อยและราคาแพง จึงทำให้ไข่มดแดงกลายเป็นอาหารที่หาทานได้ยาก และกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินให้กับธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเลี้ยงมดแดงและธุรกิจไข่มดแดงอัดกระป๋อง เพื่อส่งออกไข่มดแดงไปยังต่างประเทศ

โครงงานไข่มดแดง [การศึกษาผลกระทบของแหล่งอาหารมดต่อปริมาณและคุณภาพ “ไข่มดแดง”]

เรียบเรียงจาก
1. http://f-going.myreadyweb.com/page-20842
2. http://supper-ant.blogspot.com/
3. http://www.clipmass.com/story/35155
4. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000020270

Exit mobile version