[เปิดใจ] เหตุผลที่ควรแก้ไขหลักเกณฑ์ ห้าม ผู้บริหารระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ย้ายข้ามระดับการศึกษา

Sak-Ananกระผม นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข ขอนำเรียนต่อทุกท่านที่ติดตามข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจ และตอบข้อสงสัยในการดำเนินการเสนอให้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ดังที่เผยแพร่ปรากฎเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ ในเชิงวิชาการ ดังนี้

ผมขอเรียนเบื้องต้นว่า โดยส่วนตัว ไม่มีอคติใดๆ ต่อผู้หนึ่งผู้ใด หรือมีมุมมองที่ไม่ดีต่อครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับประถมศึกษาแต่อย่างใด ผมเอง มีทั้งครู พี่ เพื่อน น้อง ที่เป็นชาวมัธยมศึกษาและไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับประถมศึกษา บางท่านมีโอกาสกลับมัธยมศึกษา หลายท่านไม่ได้กลับแต่ได้เป็นบุคลากรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาระดับประถมศึกษาอย่างน่าประทับใจ  ซึ่งเรื่องนี้ ถือว่าท่านเหล่านั้นได้เลือก ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะอุทิศตนเพื่องานการศึกษาของชาติในระดับใด (ทั้งกรณี ชาวประถมศึกษา มาสอบเป็นผู้บริหารระดับมัธยมศึกษา หรือชาวมัธยมศึกษา ไปสอบเป็นผู้บริหารระดับประถมศึกษา) นอกจากนี้ ผมยังเป็นพ่อ ที่ส่งลูกเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาของรัฐที่มีผู้มากความสามารถเป็นผู้บริหารสถานศึกษา จึงเห็นความสำคัญของการบริหารการศึกษาในระดับประถมศึกษาอย่างดีว่า ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถอย่างสูงมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา และไม่ควรสูญเสียผู้บริหารมือดีของประถมศึกษาไปให้ระดับการศึกษาอื่น

สิ่งที่ผมนำเสนอไปแล้วและที่กำลังจะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงการนำเสนอเชิงหลักการกว้างๆ ในฐานะที่ตนเองสังกัดข้าราชการในระดับมัธยมศึกษา และต้องการเห็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อการศึกษาระดับมัธยมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ได้ก้าวหน้าทางวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษา เช่นเดียวกับผู้ที่อุทิศตนเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ก็ควร ได้ก้าวหน้าทางวิชาชีพในระดับประถมศึกษาอย่างสูงสุดเช่นกัน

ทั้งนี้ สิ่งที่ผมจะใช้เป็นหลักการสำคัญของการเสนอแนวคิดครั้งนี้  ปรากฏอยู่แล้วในเหตุผลของการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 (ดูราชกิจจานุเบกษาเล่ม 127 ตอนที่ 45 ก วันที่ 22 กรกฎาคม 2553 หน้าที่ 3) ที่กล่าวว่า  “…..การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเกิดความไม่คล่องตัวและเกิดปัญหาการพัฒนาการศึกษา สมควรแยกเขตพื้นที่การศึกษาออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อให้การบริหารและการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการพัฒนาการศึกษาแก่นักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้สัมฤทธิผลและมีคุณภาพยิ่งขึ้น” ซึ่งโดยนัยยะนี้ การบริหารและการจัดการศึกษาในระดับสถานศึกษา ให้ประสบความสำเร็จมีประสิทธิภาพ ต้องมาจาก ผู้บริหารสถานศึกษาที่รู้ลึกรู้จริงและเคี่ยวกรำอยู่กับการศึกษาระดับนั้นๆ มาอย่างต่อเนื่อง หรือมาจากคนที่ตั้งใจและอุทิศตนไปปฏิบัติงานเป็นผู้บริหารระดับนั้นๆ แล้ว เท่านั้น การย้ายข้ามไปข้ามมา กรณีที่ไม่ใช่เหตุผลเพื่อการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง จะทำให้คนที่พร้อมอุทิศตนและรู้จริงในขอบข่าย ภาระงานต้องสูญเสียโอกาสในการร่วมพัฒนาการศึกษา 

สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนงานการศึกษาของชาติ คือ ในระดับของการปฏิบัติงาน  โรงเรียนไม่ควรว่างเว้นจากการมีผู้บริหารมาอำนวยการสถานศึกษา เพราะจะทำให้โรงเรียนขาดการพัฒนาและจะส่งผลให้ผู้เรียน สูญเสียโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง  ดังนั้น การที่โรงเรียนประถมศึกษาว่างเว้นจากการมีผู้อำนวยการนานๆ และยังมีการย้ายไปสังกัดระดับมัธยมศึกษา แล้วไม่มีคนบรรจุแทนนั้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการของระดับการศึกษาประถมศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยนอกจากจะซ้ำเติมสถานการณ์ขาดผู้บริหารระดับประถมศึกษาให้มากขึ้นแล้ว ยังไปปิดโอกาสตำแหน่งว่างที่ควรจะบรรจุผู้สอบขึ้นบัญชีได้ของระดับมัธยมศึกษา (ซึ่งเป็นผู้ที่เลือก ตั้งแต่สมัครสอบแล้วว่าจะอุทิศตนและมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษา)

ยิ่งไปกว่านั้น หากการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาข้ามระดับ (ประถมศึกษาไปมัธยมศึกษา หรือมัธยมศึกษาไปประถมศึกษา) หากเป็นไปเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ก็ย่อมเป็นอานิสงค์แก่ประเทศชาติ แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังเปิดโอกาสให้มีการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ประสงค์ย้ายข้ามระดับการศึกษาได้อีกด้วย เพื่อตัดวงจรนี้ หลักเกณฑ์การย้ายบางข้อควรได้รับการพิจารณาแก้ไข (รายละเอียดตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้)

ด้วยเหตุและผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ข้อเสนอของผู้เข้ารับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.ระดับมัธยมศึกษา รุ่นที่ 63-66/2558 จึงมิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล หากแต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติ เพื่อการพัฒนาของการบริหารสถานศึกษาในระดับประถมศึกษา และยังช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการที่ปฏิบัติงานในระดับมัธยมศึกษา โดยเฉพาะผู้มีชื่อขึ้นบัญชีผ่านการคัดเลือก รอบรรจุและแต่งตั้งเป็น ผอ.มัธยมศึกษา ได้ตามสมควรอีกด้วย  

จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านที่ติดตามได้เข้าใจในเจตนารมณ์

ด้วยไมตรีจิต
นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข

หมายเหตุ :
1. ข้อเขียนข้างต้นนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนเท่านั้น
2. ข่าวที่เกี่ยวข้องและเป็นประเด็น : [http://www.kroobannok.com/76009]



Leave a Comment