Anantasook.Com

[กล้าไหม] ผอ.โรงเรียนมัธยม ให้เด็กประเมินความพึงพอใจการบริหารงานในรอบปี นักเรียนประเมินผลงาน ผอ. ผ่าน-ไม่ผ่าน

มีคนเคยถามผมอยู่บ่อยครั้งว่า “มาเป็น ผอ.โรงเรียน หรือผู้บริหารสถานศึกษาทำไม เป็นครูก็ดีอยู่แล้ว” ซึ่งคำตอบที่ผมจะตอบอย่างหนักแน่นทุกครั้งคือ “ผมเป็นครู พัฒนานักเรียนได้ไม่กี่คน แต่ถ้าผมเป็น ผอ. และหากโชคดี ได้ร่วมงานกับครูดีมีคุณภาพ ผมจะสามารถสร้างโอกาสให้เด็กนักเรียนได้อีกหลายคน และหลายกลุ่มกว่าเดิม”

เมื่อผมมาเป็น ผอ.โรงเรียน หัวใจในการพัฒนางาน จึงอยู่ที่ “การทำเพื่อนักเรียน” โดยผ่านทีมงาน “ครูที่รักการพัฒนาตนเอง” ผมมองว่า นักเรียนคือ ผู้รับบริการ หรือลูกค้า และครูคือ เพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะต้องทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจสูงสุด อย่างมีคุณภาพภายใต้บริบทของเราเอง (แนวคิดที่ว่า ครูคือ เพื่อนร่วมงาน เป็นแนวคิดหนึ่ง ที่บางท่านไม่เห็นด้วย) 

ผมจึงมีความคิดว่า หากจะวัดหรือประเมินผลงานผู้บริหารสถานศึกษา นอกจากดูจากผลงานการพัฒนานักเรียน ผลงานครู ผลงานผู้บริหารและสถานศึกษา อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถวัดได้คือ ความพึงพอใจของนักเรียน

ดังนั้น เมื่อผมบริหารจัดการสถานศึกษา โรงเรียนตาเบาวิทยา ครบ 1 ปี (22 สิงหาคม 2559 – 21 สิงหาคม 2560) ผมจึงตัดสินใจแบบวัดดวงกันเลย เพื่อวัดคะแนนความนิยมของตนเองจากนักเรียนทั้งโรงเรียน โดยให้นักเรียนประเมินผลงาน ผอ. เป็นระดับ 1-5 (น้อยสุดไปมากที่สุด) และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรผมก็พร้อมยอมรับ ท่านจะสังเกตว่า ผมไม่ให้คุณครูประเมินผมนะครับ (แต่จะแอบไปประเมินกันเองก็ไม่ว่ากัน)

ผลการประเมินเป็นดังนี้ นักเรียน 170 คน มาใช้สิทธิ์ 130 คน (คิดเป็นร้อยละ 76.47 ของนักเรียนทั้งหมด) และคนที่มาใช้สิทธิ์ ให้คะแนนความพึงพอใจระดับ 5 (59 คน) คะแนนระดับ 4 (38 คน) คะแนนระดับ 3 (26 คน) คะแนนระดับ 2 (6 คน) คะแนนระดับ 1 (1 คน) คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 4.14 จากระดับคะแนน 5 เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจการบริหารงานของ ผอ.โรงเรียนตาเบาวิทยา (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) 82.8% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก (ซึ่งผมเองก็ไม่คิดว่าจะได้คะแนนระดับนี้ และแอบหวั่นใจว่า ในรอบปีที่ 2 หากมีการประเมินอีกครั้ง จะรักษาระดับคะแนนนี้ไว้ได้อยู่หรือไม่)

ผลคะแนนนี้สะท้อนนัยยะอะไรบ้าง ผมมองว่าผลประเมินสะท้อนดังนี้ (1) นักเรียนที่เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้มีความสุข นักเรียนมีความสุขจะเลือกคะแนนที่ตัวเองมีความสุข (2) ครูที่โรงเรียนแห่งนี้ ส่วนใหญ่ตั้งใจทำงานเพื่อเด็กนักเรียน และสนองนโยบายของผู้บริหารโรงเรียน (3) ผอ.โรงเรียน ยิ้มมีความสุข ที่นักเรียนให้กำลังใจ และ (4) ผมเชื่อว่า ผู้ปกครองของนักเรียนก็น่าจะมีความสุข เพราะลูกของเขาน่าจะนำเรื่องที่เขามีความสุข ไปพูดต่อที่บ้านเช่นกัน

ท้ายที่สุด ผมจึงเชื่อว่า ถ้าผู้บริหารสถานศึกษา เอาวิธีนี้มาใช้ดู ผลการประเมินน่าจะเป็นดัชนีชี้วัด อะไรได้หลายอย่างเช่นกัน กล้าไหมครับ ถ้ากล้าเอาเลยครับ สำหรับผม ปีหน้าเป็นอย่างไร เดี๋ยวเอาตัวเลขมาโชว์อีกครั้ง ถ้าต่ำลง ก็พร้อมยอมรับและปรับปรุงตนเอง

Exit mobile version