กลอย เป็นอาหารที่มีคุณค่าและประโยชน์สามารถนำมาทานแทนข้าวได้ ในสมัยสงคราม ผู้คนที่อพยพไปซ่อนตัวกันอยู่ในป่า นอกจากข้าวแล้ว “เผือก มัน กลอย” เป็นอาหารที่สามารถหาได้ภายในป่านำมาต้มมาหุงกินแทนข้าวได้
หัวกลอย มีสารจำพวกแป้งมากและมีสารพิษที่ชื่อว่าไดออสคอรีน (Dioscorine) ซึ่งเป็นสารพิษ ที่จะมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และส่งผลต่อการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ดังนั้น คนที่รับประทานกลอยที่มีสารพิษเข้าไปจึงมักมีอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และเมื่อประสาทส่วนกลางบีบหัวใจทำให้เกิดอาการ มึนเมา วิงเวียน ใจสั่น ตาพร่า อึดอัด เป็นลม และถ้ากินมากอาจทำให้ถึงตายได้หลังจากที่กินแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง
ทั้งนี้ การศึกษาพิษกลอยพบว่า ปริมาณสารพิษของหัวกลอยในแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกัน โดยกลอยจะมีพิษมากในช่วงที่กลอยออกดอก คือ ช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และจะลดลงเมื่อกลอยเริ่มลงหัวในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน
ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีวิธีการใดที่บอกได้แน่ชัดว่า กลอยหมดพิษแล้วหรือไม่ มีเพียงวิธีที่ทำและเชื่อกันมาว่า ล้างกลอยไปจนกว่าเมือกที่ผิวกลอยหมด แต่วิธีนี้ก็ยืนยันไม่ได้ 100% ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการรับประทานกลอยในช่วงฤดูฝน หันมารับประทานในช่วงฤดูร้อน น่าจะปลอดภัยกว่า และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้พบแพทย์โดยเร็วที่สุด
อ่านเพิ่มเติม >> [กลอย อร่อยซ่อนพิษ]
อ่านเพิ่มเติม >> [ฐานข้อมูลสมุนไพร : กลอย]
เรียบเรียงจาก
1. http://www.dailynews.co.th/agriculture/162687
2. http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000130201
ภาพประกอบจาก : หัวกลอย : http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/shtc/webboard/faq_files/3_1_1.jpg