เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้น ได้รับการขนานนามว่า “วันมหาวิปโยค” เนื่องจากมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนับแสนคน เดินขบวนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาลคณาธิปไตย สมัยพันเอก ณรงค์ กิตติขจร, จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร
โดยในครั้งนั้นได้มีการเคลื่อนไหวขับไล่กลุ่มเผด็จการทรราชออกจากอำนาจที่ยึดครองมาหลายสมัย รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ปลดปล่อยนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง 13 คน ที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหากระทำผิดกฎหมาย ทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นกบฏภายในราชอาณาจักรและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จากนั้นรัฐบาลได้ออกปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยทหารและตำรวจได้ใช้อาวุธ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และแก๊สน้ำตา ยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ลุกลามใหญ่โต เมื่อประชาชนที่โกรธแค้นต่างร่วมมือกันต่อสู้ และบางส่วนได้เผาทำลายอาคารสถานที่และยานพาหนะของทางราชการ แต่ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแก้ปัญหา เหตุการณ์จึงสงบ โดยจอมพลถนอม และจอมพลประภาส ได้ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ เยี่ยมผู้บาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และสำหรับผู้เสียชีวิต ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเพลิงศพที่ทิศเหนือของท้องสนามหลวง และนำอัฐิไปลอยอังคารด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อ่าวไทย อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีในเวลานั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อฟื้นฟูระเบียบของบ้านเมือง เพื่อประสานสามัคคีให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมในการปกครองประเทศ จากนั้นจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517
ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้น ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 28 ปี พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิ 14 ตุลา ขึ้นด้วย ต่อมารัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ลงมติเห็นชอบให้วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันประชาธิปไตย” ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 30 ปี อันเป็นการรำลึกถึงพลังบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาวที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย
นอกจากนี้ มติของรัฐสภายังเห็นชอบให้มีการนำเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บรรจุในหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเหตุการณ์สำคัญของชาติ ซึ่งถือว่ากรณีดังกล่าวเป็นการเมืองภาคประชาชน ที่มีผลต่อการพัฒนาการเมืองจนมีระบบรัฐสภาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
จากข้อมูลดังกล่าวในข้างต้นจะเห็นว่า วันประชาธิปไตย ถือเป็นวันสำคัญทางการเมือง ที่นอกจากจะทำให้ประชาชน คนรุ่นหลัง ได้ทราบถึงเส้นทางสายการเมืองในอดีตของประเทศไทย ว่ากว่าจะมีระบอบประชาธิปไตยที่ใช้ปกครองบ้านเมืองอย่างสงบและเป็นแบบแผนดังเช่นทุกวันนี้ คนรุ่นก่อนได้เสียสละกันมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ทุกคนควรปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมาย รู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่นอนหลับทับสิทธิ์ และไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า
ขอบคุณภาพประกอบจาก : รายการเรื่องเล่าเช้านี้