Anantasook.Com

องค์ประกอบของการเขียนบทภาพยนตร์ ขั้นตอนสำหรับการเขียนบทภาพยนตร์ ขั้นตอนการเขียนบทถ่ายทำคลิปวิดีโอ

Scriptwritingองค์ประกอบของการเขียนบทภาพยนตร์

1. เรื่อง (story) หมายถึง เหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นและดำเนินไปสู่จุดสิ้นสุด เรื่องอาจจะสั้นเพียงไม่กี่นาที อาจยาวนานเป็นปี หรือไม่รู้จบ (infinity) ก็ได้สิ่งสำคัญในการดำเนินเรื่อง คือปมความขัดแย้ง (conflict) ซึ่งก่อให้เกิดการกระทำ ส่งผลให้เกิดเป็นเรื่องราว
2. แนวความคิด (concept) เรื่องที่จะนำเสนอมีแนวความคิด (Idea) อะไรที่จะสื่อให้ผู้ชมรับรู้
3. แก่นเรื่อง (theme) คือ ประเด็นเนื้อหาสำคัญหรือแกนหลัก (Main theme) ของเรื่องที่จะนำเสนอ ซึ่งอาจประกอบด้วยประเด็นรอง ๆ (sub theme) อีกก็ได้ แต่ต้องไม่ออกนอกแนวความคิดหลัก
4. เรื่องย่อ (synopsis) เป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาใหม่ เรื่องที่นำมาจากเหตุการณ์จริง เรื่องที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรม หรือแม้แต่เรื่องที่ลอกเลียนแบบมาจากภาพยนตร์อื่น สิ่งแรกนั้นเรื่องต้องมีความน่าสนใจ มีใจความสำคัญชัดเจน ต้องมีการมีการตั้งคำถามว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น (What…if…?) กับเรื่องที่คิดมา และสามารถพัฒนาขยายเป็นโครงเรื่องใหญ่ได้
5. โครงเรื่อง (Plot) เป็นการเล่าเรื่องลำดับเหตุการณ์อย่างมีเหตุผล เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์จะต้องส่งเสริมประเด็นหลักของเรื่องได้ชัดเจน ไม่ให้หลงประเด็น โครงเรื่องจะประกอบด้วยเหตุการณ์หลัก (main plot) และเหตุการณ์รอง (sub plot) ซึ่งเหตุการณ์รองที่ใส่เข้าไปต้องผสมกลมกลืนเป็นเหตุเป็นผลกับเหตุการณ์หลัก
6. ตัวละคร (character) มีหน้าที่ดำเนินเหตุการณ์จากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดสิ้นสุดของเรื่องตัวละครอาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเป็นนามธรรมไม่มีตัวตนก็ได้ การสร้างตัวละครขึ้นมาต้องคำนึงถึงภูมิหลังพื้นฐาน ที่มาที่ไป บุคลิกนิสัย ความต้องการ อันก่อให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ของตัวละครนั้น ๆ ตัวละครแบ่งออกเป็นตัวแสดงหลักหรือตัวแสดงนำ และตัวแสดงสมทบหรือตัวแสดงประกอบ ทุกตัวละครจะส่งผลต่อเหตุการณ๑นั้น ๆ มากน้อยตามแต่บทบาทของตน ตัวเอกย่อมมีความสำคัญมากกว่าตัวรองเสมอ
7. บทสนทนา (dialogue) เป็นถ้อยคำที่กำหนดให้แต่ละตัวละครได้ใช้แสดงโต้ตอบกันใช้บอกถึงอารมณ์ ดำเนินเรื่อง และสื่อสารกับผู้ชม ภาพยนตร์ที่ดีจะสื่อความหมายด้วยภาพมากกว่าคำพูด การประหยัดถ้อยคำจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ความหมายหรืออารมณ์บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ถ้อยคำมาช่วยเสริมให้ดูดียิ่งขึ้นก็ได้

โครงสร้างการเขียนบท
1. จุดเริ่มต้น (Beginning) ช่วงของการเปิดเรื่อง แนะนำเรื่องราว ปูเนื้อเรื่อง
2. การพัฒนาเรื่อง (Developing) การดำเนินเรื่องผ่านเหตุการณ์เดียวหรือหลายเหตุการณ์ เนื้อเรื่องจะมีความซับซ้อนมากขึ้น
3. จุดสิ้นสุด (Ending) จุดจบของเรื่อง แบ่งออกเป็นแบบสมหวัง (Happy ending) ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ และแบบผิดหวัง (Sad ending) ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ

ขั้นตอนสำหรับการเขียนบทภาพยนตร์
1. การค้นคว้าหาข้อมูล (research) เป็นขั้นตอนการเขียนบทภาพยนตร์อันดับแรกที่ต้องทำ ถือเป็นสิ่งสำคัญหลังจากเราพบประเด็นของเรื่องแล้ว จึงลงมือค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเสริมรายละเอียด เรื่องราวที่ถูกต้อง จริง ชัดเจน และมีมิติมากขึ้น คุณภาพของภาพยนตร์จะดีหรือไม่จึงอยู่ที่การค้นคว้าหาข้อมูล ไม่ว่าภาพยนตร์นั้นจะมีเนื้อหาใดก็ตาม
2. การกำหนดประโยคหลักสำคัญ (premise) หมายถึง ความคิดหรือแนวความคิดที่ง่าย ๆ ธรรมดา ส่วนใหญ่มักใช้ตั้งคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นถ้า…” (What…if) ตัวอย่างของ premise ตามรูปแบบหนังฮอลลีวู้ด เช่น เกิดขึ้นในนิวยอร์คคือเรื่อง West Side Story, เกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์ดาวอังคารบุกโลก คือเรื่อง The Invasion of Mars, เกิดอะไรขึ้นถ้าก็อตซิล่าบุกนิวยอร์คคือเรื่อง Godzilla, เกิดอะไรขึ้น ถ้ามนุษย์ต่างดาวบุกโลกคือเรื่อง The Independence Day, เกิดอะไรขึ้นถ้า เรื่อง โรเมโอ & จูเลียตเกิดขึ้น บนเรือไททานิค คือเรื่อง Titanic เป็นต้น
3. การเขียนเรื่องย่อ (synopsis) คือ เรื่องย่อขนาดสั้น ที่สามารถจบลงได้ 3-4 บรรทัดหรือหนึ่งย่อหน้า หรืออาจเขียนเป็น story outline เป็นร่างหลังจากที่เราค้นคว้าหาข้อมูลแล้วก่อนเขียนเป็นโครงเรื่องขยาย (treatment)
4. การเขียนโครงเรื่องขยาย (treatment) เป็นการเขียนคำอธิบายของโครงเรื่อง (plot) ในรูปแบบของเรื่องสั้น โครงเรื่องขยายอาจใช้สำหรับเป็นแนวทางในการเขียนบทภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ บางครั้งอาจใช้สำหรับยื่นของบประมาณได้ด้วย และการเขียนโครงเรื่องขยายที่ดีต้องมีประโยคหลักสำคัญที่ง่าย ๆ น่าสนใจ

4.1 ส่วนประกอบของโครงเรื่องขยาย (treatment)
4.1.1 การเปิดเรื่อง คือ จุดเริ่มต้นของเรื่องซึ่งถือว่าเป็นตอนสำคัญที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้ติดตามเรื่องราวต่อไป
(1) เปิดเรื่องโดยการบรรยาย การเปิดเรื่องแบบนี้มักเป็นการเริ่มต้นเล่าเรื่องอย่างเรียบ ๆ แล้วค่อย ๆ ทวีความเข้มข้นของเรื่องขึ้นเป็นลำดับ อาจเป็นการบรรยายฉาก บรรยายตัวละครหรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
(2) เปิดเรื่องโดยการพรรณนา การเปิดเรื่องวิธีนี้อาจเป็นการพรรณนาฉากพรรณนาตัวละคร หรือพรรณนาเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ คล้ายวิธีการบรรยายเพียงแต่เน้นที่จะสร้างภาพเพื่อปูพื้นอารมณ์ให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกคล้อยตามเป็นพิเศษ
(3) เปิดเรื่องโดยใช้นาฏการหรือการกระทำของตัวละครที่ก่อให้เกิดความสนใจโดยเร็ว การเปิดเรื่องวิธีนี้สามารถทำให้ผู้อ่านกระหายที่จะติดตามเรื่องราวต่อไปได้มากเป็นพิเศษ (4) เปิดเรื่องโดยใช้บทสนทนา การเปิดเรื่องแบบนี้สามารถเรียกร้องความสนใจของผู้อ่านได้ดีวิธีหนึ่ง ถ้าถ้อยคำที่นำมาเริ่มต้นนั้นเร้าใจหรือกระทบใจผู้อ่านทันที แต่ก็ต้องพยายามเชื่อมโยงบทสนทนานั้นให้เกี่ยวพันกับเรื่องต่อไปอย่างแนบเนียนด้วย
(5) เปิดเรื่องโดยใช้สุภาษิต บทกวี เพลง หรืออาจใช้ข้อความที่คมคาย ชวนคิดชวนให้ฉงนสนเท่ห์น่าติดตาม

4.1.2 การดำเนินเรื่อง นอกจากโครงเรื่องจะประกอบด้วย การเปิดเรื่องในตอนต้นแล้ว การดำเนินเรื่องซึ่งเป็นตอนกลางของเรื่องก็มีความสำคัญอยู่มากเช่นเดียวกัน เพราะผู้แต่งจะต้องดึงความสนใจของผู้อ่านให้ติดตามเรื่องอย่างจดจ่ออยู่เสมอ ดังนั้น จึงต้องสร้างความขัดแย้ง (Conflict) ที่เร้าใจ แล้วคลี่คลายความขัดแย้งเหล่านั้นอย่างแนบเนียนไปจนถึงเป้าหมายสุดยอดในตอนปิดเรื่อง รวมทั้งต้องอาศัยกลวิธีเล่าเรื่องที่เหมาะสมประกอบด้วย
(1) ความขัดแย้ง (Conflict) คือ ปัญหาที่จะทำให้เรื่องราวดำเนินต่อไป วีรวัฒน์ อินทรพร กล่าวไว้ว่า ความขัดแย้งแบ่งได้หลายประเภทดังนี้
(1.1) ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์หมายถึง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครกับตัวละคร ซึ่งอาจเป็นตัวละครเอกกับตัวละครรอง เช่น ความขัดแย้งระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง ความขัดแย้งระหว่างแฮรี่พอตเตอร์กับลอร์ดโวลเดอมอร์ เป็นต้น
(1.2) ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หมายถึง การกำหนดให้ตัวละครต้องต่อสู้กับธรรมชาติ อาจเป็นภัยธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อม ความแห้งแล้งตามธรรมชาติ เช่น ต่อสู้กับภัยพิบัติน้ำท่วมโลก หรือต่อสู้กับดาวหางที่จะมาพุ่งชนโลก เป็นต้น
(1.3) ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม หมายถึง การกำหนดให้ตัวละครเอกมีความขัดแย้งกับสังคม ถูกสังคมรังเกียจ หรือไม่ได้รับการเชื่อถือ เป็นต้น
(1.4) ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับตัวเอง อาจเป็นความขัดแย้งทางกายภาพ เช่น ความพิการ หรือความขัดแย้งทางจิตใจ เช่น การเอาชนะใจฝ่ายดีและฝ่ายชั่วของตนเอง เป็นต้น
(2) กลวิธีเกี่ยวกับการดำเนินเรื่อง
(2.1) เล่าเรื่องตามลำดับปฏิทิน (Chronological order) คือ การเล่าเรื่องไปตามลำดับเวลา ก่อนหลังของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องลูกอีสาน ของคำพูน บุญทวี เป็นต้น
(2.2) เล่าเรื่องย้อนต้น (Flashback) คือ การดำเนินเรื่องที่เล่าย้อนสลับกันไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ดังนั้น เรื่องจึงอาจเริ่มต้นที่ตอนใดก็ได้ เช่น ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา เป็นต้น
(2.3) เล่าเหตุการณ์เกิดต่างสถานที่สลับกันไปมา แต่เรื่องยังต่อเนื่องกันไปตลอด
(2.4) เล่าตอนกลางก่อนแล้วย้อนมาตอนต้นเรื่อง คือ จัดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนกลางของเรื่องมาก่อนแล้วจึงเล่าเรื่องตอนต้นมาบรรจบกันก่อนที่จะดำเนินเรื่องไปสู่ตอนจบ

4.1.3 การปิดเรื่อง
(1) ปิดเรื่องแบบหักมุม หรือพลิกความคาดหมายของผู้อ่าน (Surprise ending หรือ Twist ending) การปิดเรื่องแบบนี้เป็นการทำให้ผู้อ่านคาดไม่ถึง ไม่ควรให้ผู้อ่านระแคะระคายตั้งแต่ต้นเรื่องหรือกลางเรื่อง เพราะจะทำให้เรื่องขาดความความน่าสนใจ ส่วนมากมักปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นมากกว่านิยาย โดยเฉพาะในงานเขียนประเภทอาชญานิยายหรือนวนิยายลึกลับซ่อนเงื่อน
(2) ปิดเรื่องแบบโศกนาฏกรรม (Tragic ending) คือ การจบเรื่องด้วยความตายความผิดหวัง ความสูญเสีย หรือความล้มเหลวในชีวิต เช่น เรื่องคู่กรรม ของทมยันตี แม้พระเอกคือโกโบริจะตายตอนจบ แต่ทมยันตีก็ได้ให้พระเอกและนางเอก ได้มีโอกาสเปิดเผยความรักซึ่งกันและกันที่ต่างคนต่างไม่ยอมกล่าวในตอนดำเนินเรื่อง ทำให้ผู้อ่านประทับใจเพราะตัวละครเข้าใจกัน ถ้าทมยันตี ให้โกโบริตายโดยไม่ได้บอกรักอังศุมาลิน นวนิยายเรื่องนี้คงไม่ยืนยงเป็นอมตะมานานจนทุกวันนี้
(3) ปิดเรื่องแบบสุขนาฏกรรม (Happy ending) คือ การจบเรื่องด้วยความสุขหรือความสำเร็จของตัวละคร การปิดเรื่องแบบนี้มีนักเขียนนิยมใช้กันโดยทั่วไปทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย เช่น อยู่กับก๋ง เป็นต้น
(4) ปิดเรื่องแบบสมจริงในชีวิต (Realistic ending) คือการจบเรื่องแบบทิ้งปัญหาไว้ ให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบเอาเอง เพราะในชีวิตจริงมีปัญหาหลายอย่างที่ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือหาคำตอบให้แก่ปัญหานั้นได้ เช่น เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นต้น

4.2 โครงสร้างของโครงเรื่องขยาย
4.2.1 บทเปิดเรื่อง (Exposition) คือ บทนำเรื่องที่ผู้แต่งจะปูพื้นฐานให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวละคร เหตุการณ์ เวลา และสถานที่
4.2.2 การผูกปม (Complication) และการขมวดปม (Rising Action) คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังบทเปิดเรื่อง ปัญหาและความขัดแย้งของโครงเรื่องจะค่อย ๆ ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด และทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดหักเหของเรื่อง
4.2.3 จุดวิกฤต (Crisis) เป็นส่วนหนึ่งของการขมวดปม ความตึงเครียดของเรื่องสามารถเกิดขึ้นได้หลายครั้ง ดังนั้นจุดวิกฤตจึงเกิดขึ้นได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงความตึงเครียดที่สุดของเรื่องจนเกิดการหักเหเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเรื่องจะจบลง ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดของเรื่องและเป็นจุดสุดท้ายของช่วงการขมวดปม
4.2.4 การแก้ปม (Falling Action) คือ ตอนที่เรื่องค่อย ๆ ลดความตึงเครียดลง นำไปสู่ความคลี่คลายของปมปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ ในที่สุด
4.2.5 การคลี่คลายเรื่อง (Resolution หรือ Denouement) คือ การคลี่คลายปัญหาและความขัดแย้ง เป็นตอนจบหรือตอนสุดท้ายของเรื่อง ทำให้เรื่องจบได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถวิเคราะห์ แยกแยะโครงเรื่องได้ครบตามขั้นตอนทั้ง 5 ขั้น ได้เสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้แต่งที่อาจตัดหรือรวบบางขั้นตอนเข้าไว้ด้วยกัน เช่น อาจจะรวมบทเปิดเรื่องกับการผูกปมเข้าด้วยกัน เป็นต้น

5. บทภาพยนตร์ (screenplay) สำหรับภาพยนตร์บันเทิง หมายถึง บท (Script) ซีเควนส์หลัก (Master scene/Sequence) หรือซีนาริโอ (Scenario) คือ บทภาพยนตร์ที่มีโครงเรื่องบทพูด แต่มีความสมบูรณ์น้อยกว่าบทถ่ายทำ (Shooting script) เป็นการเล่าเรื่องที่ได้พัฒนามาแล้วอย่างมีขั้นตอน ประกอบด้วย ตัวละครหลัก บทพูด ฉาก แอ็คชั่น ซีเควนส์ มีรูปแบบการเขียนที่ถูกต้อง เช่น บทสนทนา อยู่กึ่งกลางหน้ากระดาษ ฉาก เวลา สถานที่ อยู่ชิดขอบหน้าซ้ายกระดาษ ไม่มีตัวเลขกำกับช็อต และโดยหลักทั่วไปบทภาพยนตร์หนึ่งหน้ามีความยาวหนึ่งนาที

6. บทถ่ายทำ (shooting script) คือ บทภาพยนตร์ที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเขียน บทถ่ายทำจะบอกรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทภาพยนตร์ ได้แก่ ตำแหน่งกล้อง การเชื่อมช็อต เช่น คัท (Cut) การเลือนภาพ (Fade) การละลายภาพ หรือการจางซ้อนภาพ (Dissolve) การกวาดภาพ (Wipe) ตลอดจนการใช้ภาพพิเศษ (Effect) อื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเลขลำดับช็อตกำกับเรียงตามลำดับตั้งแต่ช็อตแรกจนกระทั่งจบเรื่อง และขนาดภาพในการเขียน shooting script

7. บทภาพ (storyboard) คือ บทภาพยนตร์ประเภทหนึ่งที่อธิบายด้วยภาพ คล้ายหนังสือการ์ตูน ให้เห็นความต่อเนื่องของช็อต ตลอดทั้งเรื่องมีคำอธิบายภาพประกอบ เสียงต่าง ๆ เช่น เสียงดนตรี เสียงประกอบฉาก และเสียงพูด เป็นต้น ใช้เป็นแนวทางสำหรับการถ่ายทำหรือใช้เป็นวิธีการคาดคะเนภาพล่วงหน้า (Pre-visualizing) ก่อนการถ่ายทำว่า เมื่อถ่ายทำสำเร็จแล้ว หนังจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งบริษัทของ Walt Disney นำมาใช้กับการผลิตภาพยนตร์การ์ตูนของบริษัทเป็นครั้งแรก โดยเขียนภาพเหตุการณ์ของแอ็คชั่นเรียงติดต่อกันบนบอร์ด เพื่อให้คนดูเข้าใจและมองเห็นเรื่องราวล่วงหน้าได้ ก่อนลงมือเขียนภาพ ส่วนใหญ่บทภาพจะมีเลขที่ลำดับช็อตกำกับไว้ คำบรรยายเหตุการณ์ มุมกล้อง และอาจมีเสียงประกอบด้วย โดยสตอรี่บอร์ดจะประกอบไปด้วยรายละเอียดดังนี้
– ตัวละครอะไรบ้างอยู่ในซีน (Scenery) ตัวละครหรือวัตถุเคลื่อนไหวอย่างไร
– ตัวละครมีบทสนทนาอะไรกันบ้าง
– ใช้เวลาเท่าไหร่ระหว่างซีนที่แล้วถึงซีนปัจจุบัน
– ใช้มุมกล้อง ใช้กล้องอะไรบ้างในซีนนั้น ๆ ใกล้หรือไกล หรือใช้มุมอะไร

ที่มา : คู่มือการอบรมเทคนิคการนำเสนอด้วย Video Training โดย สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน

Exit mobile version