ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่จีน ตามปฏิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้น ชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป [สำหรับปี 2557 นี้ วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 31 มกราคม]
ประวัติวันตรุษจีน
สำหรับที่มาของวันตรุษจีน นั้น เชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมที่ไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย เมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า “ซุ่ย” ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า “เหนียน” หมายถึง การเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง
นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันชุงเจ๋” ซึ่งหมายถึงเทศกาลดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง
การกำหนดวันตรุษจีน ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ
การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน(คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้าน ทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น
– กุ้ง หมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข
– เป๋าฮื้อแห้ง หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี
– สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี
– จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้
– ขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึง บรรพชนอวยพร
หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง
สัญลักษณ์ของ วันตรุษจีน
สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ วันตรุษจีน คือ “อั่งเปา ” ซึ่งมีความหมายว่า “กระเป๋าแดง” หรือจะใช้คำว่า “แต๊ะเอีย” ซึ่งมีความหมายว่า “ผูกเอว” จากที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอว โดยการให้อั่งเปานี้ คู่แต่งงานจะให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว จะออกมาจากบ้านเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติ และด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า “Let bygones be bygones” (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป)
วันตรุษจีน ปี พ.ศ. 2557
สำหรับวันตรุษจีน 2557 นี้ ตรงกับวันศุกร์ ที่ 31 มกราคม 2557 ซึ่งวันตรุษจีนไม่ถือเป็นวันหยุดราชการนะ แต่ตามบริษัทห้างร้านของคนจีนอาจจะอนุญาตให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนอยู่กับบ้าน ถือเป็นวันหยุดพักผ่อนพิเศษสำหรับคนจีน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าบริษัทไหน หรือร้านไหนจะกำหนดให้หยุดได้กี่วัน
วันจ่ายตรุษจีน 2557
ตามธรรมเนียมของคนจีนแล้ว วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก จะเป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ มาเตรียมพร้อมไว้ ก่อนที่ร้านค้าต่าง ๆ จะหยุดยาวในช่วงวันตรุษจีน ซึ่งจะตรงกับวันก่อนวันสิ้นปี โดยในปี 2557 นี้ วันจ่ายตรุษจีนคือวันพุธ ที่ 29 มกราคม
วันไหว้ตรุษจีน 2557
วันไหว้ของเทศกาลตรุษจีนก็คือ “วันสิ้นปี” ซึ่งจะเป็นวันที่มีการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยอาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ ฯลฯ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยในปี 2557 นี้ วันไหว้ตรุษจีน คือ วันพฤหัสบดี ที่ 30 มกราคม
วันเที่ยวตรุษจีน 2557
วันเที่ยวสำหรับชาวจีนก็คือ “วันปีใหม่” หรือ “วันตรุษจีน” ซึ่งวันเที่ยวตรุษจีน 2557 คือ วันศุกร์ที่ 31 มกราคม นั่นเอง และเป็น “วันถือ” ด้วย โดยในวันนี้ชาวจีนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม พากันออกไปท่องเที่ยว และไปไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพรัก ชาวจีนจะถือว่าวันนี้เป็นวันแห่งสิริมงคล และงดทำบาปทั้งปวง
ของไหว้วันตรุษจีน
การเลือกอาหารไหว้ตรุษจีนนั้น ชาวจีนจะเลือกสรรอาหารที่มีความหมายมงคล ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ หรือ เนื้อสัตว์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ของไหว้วันตรุษจีน มักจะประกอบด้วย
– ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์
– เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย
– ปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์
– หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้
– ปลาหมึก หมายถึง เหลือกิน เหลือใช้ (เหมือนปลา)
– บะหมี่ยาว หรือหมี่ซั่ว หรือ ฉางโซ่วเมี่ยน ตามชื่อหมายถึง อายุยืนยาว
– เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก
– ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
– สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
– หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุก
– กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภเข้ามา และขอให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
– แอปเปิล หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
– สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ควรระวังไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)
– ส้มสีทอง หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล
– องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน
สิ่งที่ต้องระวังก็คือ “เต้าหู้ขาว” ซึ่งแม้จะเป็นอาหารที่ชาวจีนนิยมรับประทาน แต่ชาวจีนจะไม่นำเต้าหู้ขาวมาใช้เป็นของไหว้ตรุษจีนเด็ดขาด เพราะสีขาวเป็นสีสำหรับงานโศกเศร้า ไม่เหมาะกับวันตรุษจีนซึ่งเป็นวันมงคล
นอกจากอาหารคาว และผลไม้แล้ว ชาวจีนก็ยังนิยมเลือกขนมหวานมาไหว้ตรุษจีนด้วย โดยขนมหวานที่เราพบเห็นได้บ่อยในการไหว้ตรุษจีน ก็คือ
– ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
– ขนมเทียน คือ เป็นขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
– ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต
– ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว คือ ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่าห่อโชค
– จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป
ข้อห้ามวันตรุษจีน
ชาวไทยเชื้อสายจีนในหลาย ๆ บ้านที่เคร่งครัดธรรมเนียมปฏิบัติมาก ๆ จะยึดคติความเชื่อบางอย่างที่จะไม่ทำกันในวันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ดังเช่น
– ไม่ทำงานบ้าน ไม่จับไม้กวาด ไม่ทำความสะอาด เช่น การซักล้าง หรือ การกวาดบ้านปัดฝุ่น เพราะเชื่อว่าการปัดกวาด ซักล้างนี้เป็นการขับไล่ความโชคดีออกไป ดังนั้น คนจีนมักจะทำความสะอาดบ้านตั้งแต่ก่อนที่วันขึ้นปีใหม่จะมาถึง
– ไม่สระผม คนจีนถือว่าการสระผมเป็นการชะล้างความโชคดีที่จะมาถึงในช่วงวันขึ้นปีใหม่ จึงจะไม่สระผมในวันเริ่มต้นและวันสุดท้ายของวันขึ้นปีใหม่
– ไม่ใช้ของมีคม ไม่ว่าจะเป็นมีด, กรรไกร, ที่ตัดเล็บ เพราะเหมือนกับว่าเป็นการตัดสิ่งที่ดี หรืออนาคตที่ดีที่จะนำมาในวันขึ้นปีใหม่
– หลีกเลี่ยงการโต้เถียง ไม่พูดคำที่มีความหมายในทางลบ เช่น คำที่มีความหมายไม่ดี คำที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรือความตาย เพราะถือว่าไม่เป็นสิริมงคล นอกจากนี้ชาวจีนยังหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศพ และการฆ่าสัตว์ปีกไป
– ห้ามซุ่มซ่าม ชาวจีนถือว่าการเดินสะดุด หรือทำสิ่งของตกแตกในช่วงวันขึ้นปีใหม่ หมายถึงการงานสะดุด และนำความโชคไม่ดีเข้ามาในอนาคต
ตัวอย่าง คําอวยพรตรุษจีน
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้เราคงได้ยินคำอวยพรที่ว่า “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” กันจนเบื่อ เลยอยากจดจำประโยคใหม่ ๆ ไว้ใช้อวยพรคนอื่นเขาบ้าง เอ้า…งั้นลองมาดูประโยคตัวอย่างต่อไปนี้แล้วจำไปพูดกันเลยจ้า
– ซินเหนียนไคว่เล่อ … ขอให้มีความสุขในวันปีใหม่
– กงเฮ่อซินเหนียน … สุขสันต์วันปีใหม่
– ต้าจี๋ต้าลี่ … ค้าขายได้กำไร
– เจาไฉจิ้นเป่า … เงินทองไหลมาเทมา ทรัพย์สมบัติไหลเข้าบ้าน
– จินอวี้หม่านถัง … ร่ำรวยเงินทอง ทองหยกเต็มบ้าน
– ไฉหยวนกว่างจิ้น … เงินทองไหลมาเทมา
– เหนียนเหนียนโหย่วอวี๋ … เหลือกินเหลือใช้ทุกปี
– ฝูโซ่วว่านว่านเหนียน … อายุยืนหมื่น ๆ ปี
– หลงหม่าจินเสิน … สุขภาพแข็งแรง
– ห่าวยวิ่นเหนียนเหนียน …โชคดีตลอดไป
เหตุการณ์ที่โรงเรียนในวันตรุษจีน
สำหรับประเทศไทย วันตรุษจีน ไม่ใช่วันหยุดราชการ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนจีน หรือโรงเรียนที่มีนักเรียนจีน ก็อาจจะหยุด เป็นกรณีพิเศษกันนะครับ ส่วนโรงเรียนทั่วไปส่วนใหญ่ แม้ไม่มีนักเรียนจีนหรือครูจีน นักเรียนของเราก็อาจ หยุดฉลองตรุษจีน กับเขาด้วยเหมือนกัน ประมาณว่า ร่วมฉลองได้ทุกเทศกาล และบางครั้งคุณครูก็อาจจะมีขนมไหว้เจ้า ตรุษจีน มาทานกันที่โรงเรียนด้วย (ผอ. ชอบเอาขนมไหว้เจ้ามาฝาก … ทั้งๆ ที่ ไม่ได้จีนอะไรเลย…อาจเป็นเทคนิคการบริหารงานบุคคลของท่าน ผอ.) และเท่าที่สังเกตมาหลายปี วันตรุษจีน คุณครูผู้หญิง มักใส่ชุดสีแดง กันนะครับ แม่นบ่ !!! อีกอย่าง ซื้อทองช่วงตรุษจีน ราคาอาจแพงขึ้นกว่า ช่วงปกตินะครับ เพราะคนชอบซื้อทองเป็นของขวัญวันตรุษจีน คนซื้อมาก ต้องการมาก ราคาก็ถือโอกาสขยับขึ้น … นิดหน่อย ถ้าวางแผนดีๆ ซื้อล่วงหน้าสักเดือนก็อาจได้ราคาถูก ก็เป็นได้
เรียบเรียงจาก
1. http://hilight.kapook.com/view/19792
2. http://hilight.kapook.com/view/80448
3. ภาพประกอบจาก www.ijdreamvacation.com/blog/wp-content/uploads/2014/01/Chinese-New-Year-2014.jpg