Anantasook.Com

[CBSEL วันที่ 13] นวัตกรรมการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนรู้ในชั้นเรียนจีน สัมผัสตัวอักษรจีน หลักเรียนภาษาจีน (10 พ.ย. 2560; Sakanan)

วันที่ 13 : 10 พฤศจิกายน 2560 : ช่วงเช้า : รับฟังการบรรยาย นวัตกรรมการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนรู้ในชั้นเรียน วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร. จ้าวซิน จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีหนาน

นวัตกรรม คือ สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราคิด คนอื่นยังไม่เคยคิดมาก่อน สิ่งที่เราพูด คนอื่นยังไม่เคยพูดมาก่อน สิ่งที่เราทำคนอื่นยังไม่เคยทำมาก่อน โดยคำนี้ มีความแตกต่างจากคำว่า “การประดิษฐ์” คือ การมีขึ้นครั้งแรก (ทำยาก) ส่วนคำว่า “นวัตกรรม” คือ การพัฒนาต่อยอดของเดิม (ทำได้ง่าย) โดยคนที่จะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ จำเป็นต้องมีความตระหนักรู้ด้านนวัตกรรม จิตวิญญาณ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม ก่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมต้องมีการพัฒนาบุคลากร ให้ทุกคน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักเรียน ตระหนักถึงนวัตกรรมทางการศึกษาเช่นกัน

มีคำกล่าวหนึ่งของปราชญ์ชาวจีน เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมาว่า “เมื่อการพัฒนามาถึงจุดขีดสุด ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดการพัฒนา การพัฒนาทำให้ไม่ถึงทางตัน สิ่งนั้นจึงจะพัฒนาต่อเนื่อง เมื่อพัฒนาไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้น” อริสโตเติล กล่าวว่า “นวัตกรรมเป็นพลังธรรมชาติของการเป็นมนุษย์ (มีเฉพาะคนเท่านั้นจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้)” นวัตกรรมใหม่ถูกสร้างมาควบคู่กับการอนุรักษ์นวัตกรรมเก่าเช่นนั้นแล้วการสร้างสิ่งใหม่ก็เริ่มจากสิ่งเก่าเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเครื่องปรับอากาศ ก็มีที่มาจากพัด-พัดลม-เครื่องปรับอากาศใช้ในห้อง และเครื่องปรับอากาศติดตามตัว ตามลำดับ กระบวนการนี้เกิดจากการคิดทบทวนปรับปรุงวิเคราะห์ ประเมินซ้ำๆ กัน จนทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ดังนั้น จึงควรสนับสนุนให้นักเรียนรู้จักคิดทบทวน วิเคราะห์ ปรับปรุง

ในวัฒนธรรมจีนมีการปลูกฝังให้มีความเชื่อฟังครู อาจารย์ แนวทางนี้ดูเหมือนจะยากในการทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม แต่จริงๆ แล้ว ศิษย์จะต้องตระหนักรู้ในตนเอง จะสอนให้มีการสร้างนวัตกรรมไม่ได้ ครูทำได้เพียงแนะนำและส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดเป็นของตัวเอง

นวัตกรรมทางการศึกษา คือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เป้าหมายการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ ซึ่ง นวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีเป้าหมายนวัตกรรมมีต้นทุนและความเสี่ยง คำถามที่ต้องคำนึงถึงคือ (๑) การสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาควรพัฒนาอย่างไร (๒) ทำอย่างไรจะสามารถพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาได้ (๓) ทำอย่างไรนักเรียนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการสร้างนวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมี ๔ รูปแบบ

๑) นวัตกรรมด้านการเรียนการสอน คือ การแก้ไขปัญหา แต่ละคนมีปัญหาการเรียนการสอนแตกต่างกัน (ครูต่างกันทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ต่างกัน) นวัตกรรมจึงมุ่งแก้ปัญหา (๑) งานด้านการเรียนการสอน และ (๒) ขนาดการเรียนการสอนที่เกิดความผิดพลาด อุปสรรคหรือปัญหาอื่น ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนของครูเป็นแรงงานทางอารมณ์ (Emotion Labor) ต้องอดทนแสดงหน้าตายิ้มแย้มตลอด ซึ่งขัดกับความรู้สึกในตัวเอง แต่ความสำเร็จของครูก็สามารถวัดได้จากความสำเร็จของนักเรียน แต่ถึงอย่างไร นักเรียนก็เป็นคนที่สำคัญที่สุด เพราะถึงครูเก่งอย่างไรก็ไม่สามารถพัฒนานักเรียนได้ ถ้านักเรียนไม่รักการเรียนรู้

๒) นวัตกรรมด้านการพัฒนาบุคลากรครู มีการสำรวจคุณลักษณะที่ดีของครูในทัศนะของนักเรียนประถมศึกษา ม.ต้น และ ม.ปลาย เพื่อสร้างการเป็นครูคนหนึ่งที่นักเรียนชื่นชอบเคารพนับถือและเป็นที่รัก แม้ว่าผลการสำรวจจะไม่ถูกนำไปใช้ เพราะมาตรฐานการเป็นครูที่ดีกำหนดจากส่วนกลาง แต่ก็อาจเป็นแนวทางหนึ่งให้ครูได้พัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง

๓) นวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอน นโยบาย “ร้อยดอกไม้เบ่งบาน ร้อยสำนักประชันภูมิ” เชื่อว่า “การจัดการสอนมีรูปแบบ แต่ไม่จำกัดวิธีการที่ตายตัว คุณค่าอยู่ที่การรู้จักวิธีการ วิธีการนั้นไม่เน้นตามขั้นตอน เป็นการแสวงหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด”

๔) นวัตกรรมด้านการประเมินผลการเรียนรู้ มีการยกกรณีนวัตกรรม “นักเรียนตรวจการบ้านซึ่งกันและกัน” เป็นกรณีศึกษา ที่จัดทำขึ้นเพื่อมีเป้าหมายลดภาระงานของครูและเพิ่มประสิทธิภาพการสอนให้ครู ผลการวิจัยจะพบว่า ผลการเรียนของนักเรียนไม่ได้ดีขึ้นกว่าตอนที่ครูตรวจการบ้านให้นักเรียน แต่นวัตกรรมนี้ก็ช่วยลดเวลาที่เกินความจำเป็นของครู และช่วยสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนได้

ช่วงบ่าย : เรียนวิชา สัมผัสตัวอักษรจีน วิทยากรโดย อาจารย์ถู หมิน อาจารย์ที่เคยปฏิบัติงานที่สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ๗ ปี อาจารย์ถู หมิน ได้ทำให้พวกเราเข้าใจและมีหลักสังเกตและทำความเข้าใจภาษาจีนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการจัดกิจกรรม จำนวน ๓ ข้อ ได้แก่ (๑) ทำอย่างไรจะรู้จักตัวอักษรจีนอย่างน้อย ๑ ตัว (๒) ต้องเรียนอักษรจีนเท่าใดจึงจะเพียงพอ และ (๓) มีวิธีเรียนภาษาจีนที่ดี ต้องทำอย่างไร

อาจารย์ได้เริ่มต้นให้เราเข้าใจคำพื้นฐานในภาษาจีน ตั้งแต่การทักทาย การแนะนำตนเอง ผ่านการฟัง ดู คิด พูด อ่านและเขียน จากนั้น ได้เปรียบเทียบให้เห็นว่า อักษรภาษาอังกฤษมี ๒๖ ตัว อักษรภาษาไทยมี ๔๔ ตัว (สระ ๓๑ ตัว) ในขณะที่ภาษาจีน มีถึง ๕๐,๐๐๐ คำ โดยยกตัวอย่างหนังสือที่ประธานเหมา เจอ ตุง เขียนมีตัวอักษร ๑,๕๗๖,๗๘๔ คำ แต่มีคำที่ใช้จริงๆ ๓,๑๖๓ คำ ดังนั้น หากเราสามารถจดจำภาษาจีนได้ ๕๘๑ คำ (เรียนรู้ ๖๐๐-๘๐๐ คำ) จะสามารถสื่อสารได้ราว ๘๐%, ๙๓๔ คำ (เรียนรู้ ๑,๓๐๐-๑,๕๐๐ คำ) จะสามารถสื่อสารได้ราว ๙๐%, ๒,๓๑๔ คำ (เรียนรู้ ๒,๕๐๐ คำ) จะสามารถสื่อสารได้ราว ๙๙% จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้ โดยมีคนที่ไม่รู้ภาษาจีน สามารถเรียนจีนที่สถาบันขงจื้อ ได้เข้าใจ ๙๙% ภายใน ๖ เดือน

เรียนภาษาจีน เรียนอย่างไร ในภาษาจีนจะมีตัวอักษรเดี่ยว (dutizi) และตัวอักษรผสม (hetizi) และเรียกการเอาอักษรเดี่ยวมารวมกันว่า (bujian) โดยหากสามารถเรียนและเข้าใจตัวอักษรเดี่ยวได้ ๕% จะสามารถเขียนอักษรผสมได้ถึง ๙๕% จากนั้น ครูได้ทดลองให้เราอ่านตัวอักษรเดี่ยวและตัวอักษรผสม เช่น คำว่า “น้ำ” และ “ตา” เมื่อนำมารวมกันอ่านว่า “น้ำตา” และคำอื่นๆ เช่น ต้นไม้และต้นพืช เป็นต้น

เขียนภาษาจีน เขียนอย่างไร อาจารย์ได้แนะนำ หน่วยที่เล็กที่สุดในการเขียนภาษาจีน ได้แก่ heng, shu, pie, na, dian, ti และทดลองเขียนภาษาจีนอย่างง่าย โดยลำดับการเขียนคือ “เขียนจากบนลงล่าง และเขียนจากซ้ายไปขวา” นอกจากนี้ ยังเรียนตัว pinin ประกอบด้วย พยัญชนะ ๒๑ พยัญชนะ (shengmu) สระ ๓๙ ตัว (yunmu) และวรรณยุกต์ ๔ ตัว (shengdiao)

อ่านภาษาจีน อ่านอย่างไร เสียงวรรณยุกต์ในภาษาจีนมี ๔ เสียง เทียบกับวรรณยุกต์ไทย เรียงตามลำดับได้แก่ เสียงสามัญ เสียงจัตวา เสียงเอก และเสียงโท หากพูดเสียงผิดความหมายจะเปลี่ยนไปและท้ายที่สุดเป็นการนับเลข ๐-๑๐ ฝึกออก ๐-๑๐ ตามเสียงวรรณยุกต์ และฝึกผสมตัวเลขหลัก ๑๐

จะเห็นได้ว่าบรรยากาศชั้นเรียนเป็นไปด้วยความสนุกสนาน และข้าพเจ้าไปเป็นคนกล่าวขอบคุณ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

“ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ถูหมิน เป็นอย่างสูง ที่ได้มอบประสบการณ์ที่พิเศษสุดด้านการอ่าน การเขียน และการเข้าใจภาษาจีนให้กับพวกเรา จนอาจกล่าวได้ว่า พวกเราได้สัมผัสในวัฒนธรรมทางภาษาของจีนอย่างลึกซึ้งที่สุดในวันนี้ เชื่อว่า บรรยากาศในชั้นเรียนในวันนี้ จะเป็นคำตอบอยู่แล้วว่า นักเรียนของอาจารย์ประสบความสำเร็จและมีความสุขในการเรียนเพียงใด เราไม่ปฏิเสธว่า ก่อนหน้านี้ เรามีความเห็นว่า การเรียนภาษาจีนเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่วันนี้อาจารย์ได้เปิดหู เปิดตาและเปิดใจพวกเรา ให้เห็นว่า เป็นเรื่องง่าย และมั่นใจว่า เราทุกคนมีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มขึ้น เพื่อที่เราจะใช้ภาษาจีนเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้อันมหาศาลของจีน และใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันต่อไป เราตั้งใจว่า วันหนึ่ง เราจะพูดภาษาจีนได้เหมือนที่อาจารย์พูดภาษาไทยได้อย่างดีมากๆ เช่นกัน”  

หมายเหตุ : บันทึกประจำวันนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ในแต่ละวันขณะอบรมหลักสูตร Educational Leadership Training Programme for Thai School Leader ณ Southwest University สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการ อ่านเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ควรใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ

Exit mobile version