[CBSEL วันที่ 11] ศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนหนานคาย โรงเรียนฉงชิ่ง อี้จง (Chongqing No.1) (8 พ.ย. 2560; Sakanan)

วันที่ 11 : 8 พฤศจิกายน 2560 : ช่วงเช้า : เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนหนานคาย โดยวิทยากร รองผู้อำนวยการโรงเรียนเสียว ลี่ และคณะ โรงเรียนหนานคาย เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเมืองฉงชิ่ง ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1936 ที่มีประวัติการก่อตั้งมายาวนาน มีตึกเรียน หอพักที่มีมาตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนครั้งแรก ที่จุดกึ่งกลางของพื้นที่ที่แยก อาคารเรียนเป็นด้านซ้ายและขวา มีอนุสาวรีย์ของประธานเหมาเจ๋อตุง ซึ่งเดิมมีเพื่อแยกนักเรียนชายและนักเรียนหญิงไว้คนละด้าน ปัจจุบันจัดการเรียนการสอนรวม และแยกฝั่งซ้ายมือเป็นโซนกิจกรรม (เช่น หอประชุม อาคารกีฬา อาคารศิลปะ หอเกียรติยศโรงเรียน อาคารที่พักครูปัจจุบัน) ทางด้านขวามือ เป็นโซนอาคารปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ ห้องสมุดและห้องที่ใช้จัดการเรียนการสอนในวิชาหลัก โดยมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยและครบถ้วน เราได้พบห้องที่ศิษย์เก่าคนหนึ่งได้ทำนักวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลก ศิษย์เก่าคนนี้จึงสร้างห้องดังกล่าวให้กับโรงเรียนและถือเป็นจุดหนึ่งที่ให้นักเรียนเข้ามาเรียนรู้ ปัจจุบันโรงเรียนมีนักเรียนราว ๓,๐๐๐ คน มีเครือข่ายโรงเรียนลักษณะนี้ จำนวน ๕ แห่ง

จุดเด่นของโรงเรียน คือ การสอบคัดคนเก่งระดับหัวกะทิเข้ามาเรียน โรงเรียนมีการจัดหลักสูตร International จำนวน ๒ ห้อง (ห้องละ ๒๕ คน) และนักเรียนที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ จะผ่านการสอบคัดเลือก เป็นนักเรียนที่มีคะแนนผลการเรียนสูง นักเรียนสามารถสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ทุกคน โดย 90% ของนักเรียนทั้งหมดจะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ผลงานนักเรียนในหอเกียรติยศส่วนใหญ่เป็นด้านจิตรกรรม ศิลปวัฒนธรรม มีวิชาการย้อมผ้า ทำกรเป๋าผ้า เป็นต้น

เราได้สังเกตการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ เรื่อง Global warming ทำให้เห็นได้ว่า ครูนำประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมมาเป็นประเด็นในการจัดการเรียนรู้ ครูกระตุ้นการเรียนให้นักเรียนแต่ละคนใช้จินตนาการของตนเอง โดยให้นักเรียนแต่ละคนคิดหาสาเหตุของปัญหา ตลอดจนกระบวนการของเกิดขึ้นของ Global warming ในเซี่ยงไฮ้ จากนั้นแชร์ความคิดกับเพื่อนที่นั่งติดกัน จากนั้นให้นักเรียนอาสานำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน โดยขณะที่เพื่อนนำเสนอมีการซักถามและแสดงความเห็นที่เห็นด้วยและเห็นคัดค้านด้วยข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนแต่งกายโดยอิสระมีหนังสือกองบนโต๊ะ ในโต๊ะ และใต้โต๊ะ และในช่วงพักออกกำลังกาย นักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนจะลงไปในสนามกีฬา และออกกำลังกาย จากนั้นกลับเข้าห้องเรียนเรียบร้อย ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาเพียง ๑๐ นาที

ครูที่คัดมาสอนมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ผอ. ไต่เต้ามาจากครูในโรงเรียน (คล้ายๆระบบในโรงเรียนสาธิตฯ ของไทย) โดยท่านยืนยันว่า นักเรียนไม่มีปัญหายาเสพติด ไม่มีปัญหาชู้สาว เพราะนักเรียนเรียนจนไม่มีเวลาสนใจเรื่องอย่างนั้น แต่อาจจะเป็นเพื่อนกันชายหญิง และโรงเรียนไม่มีกฎเรื่องนี้ เพราะไม่มีปัญหานี้ ส่วนปัญหาความประพฤติก็มีบ้าง เช่น ย้อมผม ใส่เครื่องประดับที่มีราคา เป็นต้น ซึ่งจะมีฝ่ายกิจการนักเรียนคอยดูแล

ข้าพเจ้าสรุปได้ว่า ปัจจัยความสำเร็จ คือ “การศึกษาต้องมาก่อน เป็นวัฒนธรรมของจีน” ที่มีมาทุกยุคสมัย ครูอาจารย์หรือ “เหล่าซือ” คือ บุคคลที่ได้รับความสำคัญและมีความสำคัญมากๆ ผลิตครูอย่างดี โดยคัดเอาคนระดับหัวกะทิมาเป็นครู ทำงาน Active ต่อเนื่อง อัดเงินพิเศษสุดเข้าไป จนไม่อยากไปทำงานอื่นและไม่อยากหนีไปเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน (และวัฒนธรรมคือ ครูก็ Active ถ้าไม่ Active ก็น่าจะเชิญออก แต่คงไม่มีใครอยากออกเลยต้อง Active) ครู Active นักเรียนก็ Active จนเป็นวัฒนธรรม (คือ ทำแบบนี้จนเป็นปกติ) และในชีวิตจริงก็ต้อง Active ถ้าไม่ Active ก็จะเป็นแค่ คนธรรมดาในคน 2,000 ล้านคน นอกจากนี้ เขาเชื่อมั่นในผู้นำทุกระดับว่า นำพาไปในทิศทางที่ถูกต้อง (เขาใช้ว่าเดินหน้าไปสู่แสงสว่าง) ผู้นำ (ผอ.โรงเรียน) สั่งแล้วทำทันที ซึ่งแตกต่างจากบ้านเรา ที่จะมีความสงสัย ความลังเล ความไม่เชื่อมั่นและการคัดค้านในนโยบายต่างๆ ด้านการศึกษา ที่รัฐบาลประกาศออกมา ทำให้บางนโยบายหายไป และบางนโยบายกว่าจะมีการดำเนินการอย่างทั่วถึงก็ใช้เวลานานหลายปี

ช่วงบ่าย : ศึกษาดูงานการเรียนการสอนที่โรงเรียนฉงชิ่ง อี้จง (Chongqing No.1) วิทยากรโดย รองเลขาธิการพรรค โอว เจี้ยน โรงเรียนฉงชิ่ง อี้จง เป็นโรงเรียนมัธยมแห่งแรกของฉงชิ่ง จึงชื่อว่า “อี้จง” (มี No. 1-8) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย มีประวัติการก่อตั้งมายาวนาน มีผู้นำประเทศ เช่น เติ้ง เสี่ยว ผิง เดินทางมาเยี่ยมโรงเรียน โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนหนานคาย (พื้นที่ฝั่งละราว ๑๐๐ ไร่) นักเรียนปัจจุบันราว ๓,๐๐๐ คน (รวม ๘ แห่ง มีราว ๑๒,๐๐๐ คน) ในบริเวณโรงเรียนมีสำนักเรียนที่ก่อตั้งและสร้างมาตั้งแต่ ๕๐๐ ปีที่แล้ว เจ้าของเป็นครูของฮ่องเต้ ๒ พระองค์ ท่านรองเลขาธิการพรรค โอว เจี้ยน ผู้รักษาราชการแทน ผอ. (ซึ่งเป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มาปฏิบัติงานในโรงเรียนนี้และเป็นผู้ช่วย ผอ.) ที่ให้การต้อนรับและเป็นวิทยากรร่วมกับคุณครูดีเด่นของโรงเรียนอีกท่านหนึ่ง นำเดินชมโรงเรียนยืนยันว่า โครงสร้างของสำนักเรียนยังเป็นของเดิม และปรับปรุงเล็กน้อย โดยโรงเรียนใช้สถานที่แห่งนี้เป็นจุดส่งเสริมการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของนักเรียน และถือว่าเป็นเกียรติที่ทางโรงเรียนได้ใช้สถานที่ที่มีความสำคัญและมีความยาวนานทางประวัติศาสตร์ต้อนรับคณะของเรา ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของสถานที่นี้ก็ถูกใช้เป็นหอเกียรติยศแสดงประวัติและผลงานของโรงเรียน

โรงเรียนแห่งนี้ เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติในประเทศ โดยมีครูและนักศึกษาที่ตายจากการปฏิวัติ รวม ๘ คน ในโรงเรียนมีอนุสาวรีย์ของคนเหล่านี้ (เขาเรียกว่า อนุสาวรีย์ผู้เสียสละชีวิตเพื่อการศึกษาของชาติ) และวันเกิดเหตุนี้ (๑๑ เมษายน) ถือว่าเป็นวันสำคัญของโรงเรียน หลังการปฏิวัติ น้องชายแท้ๆ ของเติ้ง เสี่ยว ผิง เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรก (จะสังเกตว่า ทั้งภรรยาและน้องชาย ของเติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในเมืองนี้)

ในบริเวณโรงเรียนเต็มไปด้วยข้อความปรัชญา คำขวัญ คติพจน์ คำคมผู้นำ วัฒนธรรม ตามหลัก “คุณธรรมนำความรู้” ของปราชญ์ชาวจีนโบราณ มีระฆัง ๒ อัน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวแขวนอยู่ในลานของโรงเรียน และมีกลิ่นอายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ โดยมีรูปสลักท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง และอนุสาวรีย์ครูและนักเรียนที่เสียชีวิต อาจกล่าวได้ว่า ทุกจุดมีเรื่องเล่าและมีตำนาน อย่างไรก็ตาม ตัวอาคารเรียน ห้องประชุม ๓ แห่งขนาดใหญ่ (ขนาดมาตรฐานมหาวิทยาลัยไทย) ห้องสมุด ห้องเรียน สนามกีฬา ก็มีความทันสมัย ตามมาตรฐานโรงเรียนของประเทศจีน ซึ่งถือว่าพร้อมและครบถ้วน ในห้องเรียนของนักเรียนทุกโต๊ะรกไปด้วยหนังสือ และนักเรียนที่นี่ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เยอะและมีคะแนนสูงสุดในฉงชิ่งหลายคนเช่นเดียวกัน

วันนี้ ข้าพเจ้าได้มอบวารสาร สควค. ที่ขึ้นปก “ไท่หยาง” (พระมหากษัตริย์ไทย; พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลที่ ๑๐) ไว้ที่ห้องสมุดทั้งสองโรงเรียน (โรงเรียนหนานคายและโรงเรียนฉงชิ่ง อี้จง) ถือว่า นำสิ่งดีดีจากบ้านเรา มาไว้ที่โรงเรียนและสำนักเรียนที่เก่าแก่แห่งนี้

หมายเหตุ : บันทึกประจำวันนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ในแต่ละวันขณะอบรมหลักสูตร Educational Leadership Training Programme for Thai School Leader ณ Southwest University สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการ อ่านเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ควรใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ



Leave a Comment