วันที่ 10 : 7 พฤศจิกายน 2560 : ช่วงเช้า : รับฟังการพัฒนาและการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความสำเร็จ ปัญหาและแผนการแก้ไข วิทยากรโดย ศาสตราจารย์ซ่ง หนาย ซิ่ง จากศูนย์วิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยซีหนาน
ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ มีการปฏิรูปการศึกษาในประเทศ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้โรงเรียนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมีที่มาจาก [๑] ความต้องการการพัฒนา ทั้งในระดับปฐมวัย (ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และรัฐต้องเข้าไปสนับสนุน), การศึกษาภาคบังคับ (เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในด้านมาตรฐานทั้งในเมืองและชนบท), การศึกษาระดับ ม.ปลาย (ที่มีลักษณะการบูรณาการในการจัดการเรียนรู้), [๒] การเปรียบเทียบในระดับสากลกับประเทศที่พัฒนาแล้วและจัดว่าเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในลักษณะ Benchmarking เทียบเคียงความสำเร็จของผู้อื่น (อะไรที่ไม่มีในจีน ประเทศจีนจะทำ และทำให้ดีกว่า), [๓] การปฏิรูปหลักสูตร ม.ปลาย ๔ ด้าน ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ด้วยตนเอง, การปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตร, การเพิ่มศักยภาพครูผู้สอน, และการเพิ่มประสิทธิภาพการประเมิน ทั้งนี้การแสดงข้อมูลทางสถิติในส่วนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจการปฏิรูปการศึกษาของจีนมากขึ้น
ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาในจีน ได้แก่ (๑) ด้านการเข้ารับการศึกษา มีการขยายตัวทางการศึกษาของนักเรียนปฐมวัย โดยมีจำนวน ครูและผู้บริหารโรงเรียนเพิ่มขึ้นหนึ่งล้านคน (๒) การกระจายตัวทางการศึกษาภาคบังคับมีอัตราเพิ่มขึ้น มีการได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง (๓) มาตรฐานการศึกษาเพิ่มขึ้น จำนวนนักเรียนที่เรียนและจบ ม.ต้น เพิ่มขึ้นเพราะรัฐให้เรียนฟรีจนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ (๔) อัตราส่วนสายสามัญต่ออาชีพ อยู่ในอัตราที่น่าพอใจ คือ 54.9 : 45.1 (เป้าหมายอยู่ที่ 50 : 50) (๕) อัตราการเข้าเรียน ม.ปลาย เพิ่มขึ้นทุกระดับ (๖) บุคลากรครูเพิ่มขึ้น (มีทั่วประเทศ 14 ล้านคน ครูปฐมวัยเพิ่มมากที่สุด) (๗) มีการสร้างมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ มีการกำหนดการรายงานผลการปฏิบัติงาน จัดระบบการตรวจสอบและประเมินผลการศึกษาภาคบังคับ (๘) งบประมาณทางการศึกษา ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเมืองชนบท (ส่วนกลาง : พื้นที่ : 60/40) พื้นที่ปกครองตนเอง (ส่วนกลาง : พื้นที่ : 80/20) (๙) เพิ่มขนาดอาคารเรียน สร้างมาตรฐานในโรงเรียนทั่วประเทศ (๑๐)เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับครูในชนบท เพิ่มความมั่นคงให้ครู เพิ่มบุคลากรจัดอบรม เพิ่มความรู้เพิ่มเงินเดือน (๑๑) คลี่คลายปัญหาพี่เลี้ยงเด็ก ข้าราชการที่ย้ายเมืองให้ย้ายลูกไปเรียนในเมืองที่ย้ายไปได้ หรือถ้าไม่ย้ายลูกไปด้วย ก็จะมีหน่วยงานมาดูแล (๑๒) นักเรียนประถมศึกษา ราว 26 ล้านคน รับประทานอาหารกลางวันฟรี และเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน (๑๓) ด้านการลดภาระและเพิ่มคุณภาพ มีการลดปริมาณการสอบ, ลดเวลาเรียนเพิ่มวิชาพลศึกษา, คะแนนนักเรียนสูงขึ้นกว่าเดิม และนักเรียนมีร่างกายแข็งแรง การเต้นหัวใจและส่วนสูงเพิ่มขึ้น
ปัญหาใหญ่ๆ ได้แก่ ปริมาณการจบการศึกษาบางพื้นที่ลดลง (ม. ต้นลดจาก 95% เหลือ 86% ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแต่มีแนวโน้มลดลง)/ ภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง (โรงเรียนประถมศึกษาในภาคกลาง ขาดโครงสร้างพื้นฐาน)/ ขาดแคลนครูในภาคตะวันตก/ งบประมาณที่รัฐจัดให้ยังถือว่าไม่เพียงพอ/ การจัดสรรครูยังไม่พอกับความต้องการ/ ภาระของนักเรียนยังมีมาก เพราะมีการสอนแบบบูรณาการ ใน ม.ปลาย ลด 9 กลุ่มวิชาเหลือ 5 กลุ่มวิชา แต่ก็ยังต้องใช้วิชาหลักในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย)/ สายสามัญและอาชีพไม่สมดุล (สายสามัญ >อาชีพ)
แนวทางแก้ไข ประกอบด้วย เพิ่มงบระดับปฐมวัยและในเขตชนบท/ ส่งครูไปภาคตะวันตกและภาคกลางเพิ่มขึ้น/ เพิ่มจำนวนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา โดยความร่วมมือกับหลายฝ่าย ในอนาคตจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีส่วนร่วมกับการสำเร็จการศึกษา/ พัฒนาระบบทะเบียนนักเรียนให้ออนไลน์เชื่อมโยงกันทั่วประเทศ/ เพิ่มความรับผิดชอบภาครัฐ/ สร้างทีมบุคลากรที่เข้มแข็ง ทำให้เขตเมืองกับชนบทมีความเจริญใกล้เคียงกัน/ สร้างรูปแบบการทดสอบเข้ามหาวิทยาลัย/ สร้างระบบตรวจสอบโรงเรียนสอนพิเศษ (ซึ่งมีเยอะมาก)
ช่วงบ่าย : เรามีอภิปรายในหัวข้อ “การพัฒนาโรงเรียนและวัฒนธรรม” วิทยากร ศ.อู๋ เสี่ยว หรง วิทยากรให้เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอภิปรายใน ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม คืออะไร (๒) รูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมได้แก่อะไร (๓) ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและการพัฒนาโรงเรียน ซึ่งแต่ละกลุ่มได้นำเสนอดังนี้
กลุ่มที่ ๑ ข้าพเจ้าเป็นตัวแทนกลุ่มนำเสนอซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ วัฒนธรรม คือ สิ่งดีดีที่บรรพชนได้สร้างขึ้น และกลายเป็นวิถีชีวิตของหมู่คณะที่แสดงออกในหลายรูปแบบ โดยมีความสัมพันธ์กับชาติพันธุ์ ศาสนาและท้องถิ่น รูปแบบวัฒนธรรม อาทิเช่น (๑) เรามีภาษาเป็นของตนเอง และมีการเรียนการสอนภาษาไทยในโรงเรียน (๒) เรามีกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมของชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งมีการส่งเสริมโดยจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นและส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในวันสำคัญทางศาสนา (๓) เรามีพฤติกรรมที่เป็นพื้นฐานในอุปนิสัยของเด็กไทยและคนไทย คือ การเคารพในความอาวุโสและมีการไหว้หลายระดับที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย
กลุ่มที่ ๒ รูปแบบทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นมาจากพระพุทธศาสนา อินเดีย และจีน มีวันอนุรักษ์ไทยในกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนและมีกิจกรรมการเรียนการสอนด้านวัฒนธรรมในโรงเรียน
กลุ่มที่ ๓ วัฒนธรรมคือความเจริญงอกงามที่ส่งต่อกันมาแม้เป็นเวลายาวนานแต่ยังคงอยู่ แบ่งเป็น ๒ ด้าน คือ ด้านรูปธรรมและนามธรรม มีการกำหนดไว้ในหลักสูตรและบูรณาการในทุกสาระการเรียนรู้
กลุ่มที่ ๔ เคารพในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รูปแบบการแสดงออกด้านสถาปัตยกรรม ความเป็นเอกราชของชาติ มีภาษาเป็นของตนเอง มีสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และกิจกรรมที่เกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ในสถานศึกษา โดยมีบ้าน วัด โรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วม
จากนั้นวิทยากรนำเสนอทั้งสามประเด็นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วัฒนธรรม มีการพัฒนารูปแบบ มีกาiสืบทอด มีประวัติศาสตร์ และยังคงอยู่ และมีรูปแบบการแสดงออก ๗ ด้าน ได้แก่ (๑) ประเพณีดั้งเดิม (๒) สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม (๓) ศิลปะดั้งเดิม (๔) เครื่องใช้ดั้งเดิม (๕) ความเชื่อดั้งเดิม (๖) ความคิดดั้งเดิม และ (๗) เทคโนโลยีแบบดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น
– ทุกเดือนมีประเพณี เช่น ตรุษจีน ไหว้บะจ่าง กินบะจ่าง แข่งเรือ ไหว้พระจันทร์ ขนมไหว้พระจันทร์ แตกต่างกันตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น
– สถาปัตยกรรมหลากหลาย เช่น ทิเบต พระราชวังต้องห้าม บ้านริมน้ำ บ้านเป็นตระกูล พระพุทธรูป
– ศิลปะ ตัวอักษร การเขียนตัวอักษรด้วยพู่กัน วาดภาพ วรรณกรรมสามก๊ก การแสดงและการละเล่น
-เครื่องใช้ เช่น เครื่องปั้นดินเผา การเขียนข้อความลงบนไม้ไผ่
-แนวคิดดั้งเดิม เช่น ขงจื้อ เต๋า และนิกายมหายาน ในยุคชุนชิว แต่ละแนวคิดต่างแข่งขันกันเพื่อให้ถูกยอมรับและถูกใช้ในอนาคต
– วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น อักษรศาสตร์ แพทย์แผนจีน ดาราศาสตร์จีน ปรัชญา
ทั้งนี้ในการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมนั้น จะใช้โรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญในการสืบทอดวัฒนธรรม ร่วมกับ ๕ ส่วน ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน รัฐบาล ประชาชน พิพิธภัณฑ์ โดยในโรงเรียนบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการสืบทอด ได้แก่ ผู้บริหาร ครู นักเรียน และอื่นๆ และรูปแบบการสืบทอดจะกระทำผ่านหลักสูตร และกิจกรรมส่งเสริมทางศิลปวัฒนธรรม
มุมมองหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะจริงจังมาก คือ การใช้การศึกษาเป็นตัวสืบทอดวัฒนธรรม และใช้วัฒนธรรมเป็นตัวสร้างอัตลักษณ์ของคนในชาติ ทั้งวัฒนธรรมของประเทศที่ตระหนักถึงความเป็นชาติและวัฒนธรรมของโรงเรียนที่ตอบสนองท้องถิ่น เราได้ชมกรณีตัวอย่างของโรงเรียนต้นแบบวัฒนธรรมของจีน เช่น โรงเรียนหมิงเต้า ในประเทศไต้หวันและโรงเรียนหูเป่ย (ซึ่งประเทศไทยก็มีโรงเรียนที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวและสำเร็จเป็นแบบอย่างได้เหมือนกัน) แต่สิ่งหนึ่งที่เขาพูดตอนท้ายคือ การมาของหุ่นยนต์ Alplazero ที่สามารถคิดได้เองและประมวลผลเอง จะท้าทายการจัดการศึกษายุคใหม่ที่ผสานสัมพันธ์กับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติจะทำได้อย่างไร
หมายเหตุ : บันทึกประจำวันนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ในแต่ละวันขณะอบรมหลักสูตร Educational Leadership Training Programme for Thai School Leader ณ Southwest University สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการ อ่านเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ควรใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ