Anantasook.Com

[เด็กเก่ง สอนยังไง] เด็กอัจฉริยะสร้างได้ สร้างลูกรักให้เป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษ

“เด็กที่มีความสามารถพิเศษ” และ “เด็กอัจฉริยะ” นับว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของประเทศที่ไม่ควรมองข้าม แม้มีจำนวนไม่มากนัก หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกวิธี เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะสามารถสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างมหาศาล แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือที่เหมาะสม และส่งเสริมอย่างถูกวิธี อาจสูญเสียศักยภาพได้ ” เด็กกลุ่มนี้จึงควรได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อจะได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ อยากให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ได้ลองพิจารณาดูว่า ลูกของท่านเป็น “เด็กที่มีความสามารถพิเศษหรือมีความเป็นอัจฉริยะ” บ้างหรือเปล่า และถ้าท่านเชื่อว่า “อัจฉริยะสร้างได้” เราก็มาช่วยกัน
จากการวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพบว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสามารถพัฒนาทางสติปัญญาได้รวดเร็วประมาณ 4-10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน  ดังนั้น จึงต้องปรับวิธีการอบรมเลี้ยงดู  วิธีการสอน  และสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมเต็มตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน  แต่ต้องไม่ลืมว่า  แม้พัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กอาจจะสูงกว่าวัย  แต่พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของเด็กอาจจะปกติเป็นไปตามอายุที่แท้จริง   อันจะทำให้เกิดปัญหา เช่น เด็กอายุ 5 ขวบ อาจจะคิดการใหญ่เท่าเด็กวัย 8 – 14  ขวบ แต่ก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยมือน้อยๆ ของเด็กวัย 5 ขวบ เป็นต้น 

นอกจากนี้  เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะคิดไม่เหมือนใครและมีวิธีการ คิดที่สลับซับซ้อน  ยิ่งเด็กฉลาดมากเท่าไรก็ยิ่งคิดซับซ้อนมากขึ้น  และเริ่มรู้สึกรำคาญหรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันไม่รู้ เรื่อง ทำให้เข้ากับเพื่อนและสังคมรอบตัวได้ยาก ก่อให้เกิดความสับสนทาง อารมณ์สูงและ คิดว่าตัวเองมีปัญหา เกิดความเสียขวัญหรือถูกทำร้ายทางด้านจิตใจ   ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องทำหน้าที่เป็นกันชน ปกป้อง และเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจให้เขารับสถานการณ์ได้ ธรรมชาติของเด็กกลุ่มนี้จะรักความ ยุติธรรมและมีความอ่อนไหวทางอารมณ์สูง ในบางกรณี เด็กอาจจะเห็นความไม่ยุติธรรมหรือการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมจนทนไม่ได้และต้องการทำอะไรที่รุนแรงเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง  ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อตัวเองได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็จะต้องอธิบายเรื่อง กาลเทศะ และหาทางแก้ไขโดยใช้กติกาและกลไกของสังคมหากต้องการให้เกิดมรรคผล

แล้วเราจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไร ???

พ่อแม่และครอบครัวคือ ครูคนแรกของลูก ถ้าพ่อแม่ให้เวลากับเด็กมากเท่าไรก็ยิ่งจะสามารถค้นหาความสามารถ  ความถนัด  และความสนใจของลูกได้เร็วขึ้น   รวมทั้งสามารถสร้างโอกาสในการเพิ่มพูนประสบการณ์ให้เขาได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ถ้าคุณมีลูกเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษในวัย 3-7 ขวบ คุณอาจจะช่วยลูกได้ ดังนี้

1. หาเวลาอ่านหนังสือ(ดังๆ) หรือเล่าเรื่องให้ลูกฟัง บ่อยๆ แม้ว่าเด็กจะอ่านได้เองแล้วก็ตาม โดยควรอธิบายสาเหตุความเป็นมาและขยายความ ให้ความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิด คาดเดาสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นและสร้างทางเลือกอื่นๆที่จะช่วยพัฒนาทักษะการคิด ระดับสูงให้เด็กคือ ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนจัดการ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และความสามารถในการตัดสินใจ

2. ช่วยลูกให้ค้นพบความสนใจส่วนตัว เด็กที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านต้องการการกระตุ้น และการส่งเสริม   โดยอาจจะทำได้ด้วยการสร้างกิจกรรมส่งเสริมและการฝึกจากผู้เชี่ยวชาญในรูปแบบของการเข้าค่าย การจัดหาครูสอนพิเศษเช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ดนตรี    ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการเรียนวิชาคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ที่โรงเรียน

3. ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต โดยอาจจะให้ลูกค้นหาและศึกษาจากแหล่งการเรียนรู้ เข้าร่วม กิจกรรมใน “เวทีเด็ก  ปฏิทินกิจกรรม” หรือส่งผลงานไปตีพิมพ์ใน “เวทีเด็ก  นิทรรศการบนจอ” ผ่าน เว็บไซต์  www.thaigifted.org  หัวข้อ “ธนาคารหลักสูตร” ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัดทำขึ้น สำหรับเด็กกลุ่มนี้

4.  แสวงหาความช่วยเหลือจากปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา และเพื่อนๆ ให้มาช่วยดูแล เนื่องจากเด็กกลุ่ม นี้จะมีพลังเหลือเฟือจนพ่อแม่หมดแรง  เด็กทั่วไปจะต้องการนอนพักผ่อน  แต่เด็กกลุ่มนี้เมื่อเทียบกับเด็กทั่วไปจะมีพลังมากและไม่ต้องการพักผ่อน  พ่อแม่จึงต้องหากิจกรรมมาให้เขาทำอยู่ตลอดเวลา  ถ้ามีปู่ย่าตายาย หรือญาติที่พอจะช่วยดูแลเพื่อแบ่งเบาภาระบ้างก็จะดี   นอกจากนี้การได้อยู่ร่วมกันหรือพบปะกันกับหลายๆ ครอบครัว   จะทำให้เด็กได้พบกับการอบรมเลี้ยงดูและการกระตุ้นที่สามารถพัฒนาสมองหรือสติปัญญาและ จิตใจที่แตกต่างไปจากวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่

5.  ฟังและพูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ โดยรับฟังความคิดเห็นของเขา เด็กกลุ่มนี้พอพูดได้ก็จะมีคำถาม และต้องการคำตอบตลอดเวลา จะเป็นเด็กที่ไม่ยอมเชื่อฟังอะไรง่ายๆ     แต่จะยอมจำนนกับเหตุผลเท่านั้น ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องใจเย็นและพร้อมที่จะให้คำอธิบายว่าทำไมพ่อแม่จึงต้องการให้เขาทำเช่นนั้น ด้วยเหตุผลอะไร หรือถ้าเป็นเรื่องความรู้และข้อมูลก็สอนวิธีให้เขาแสวงหาข้อมูลด้วยตนเองจากห้องสมุด อินเทอร์เน็ต หรือแหล่งการเรียนรู้อื่นๆ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง

6. ควรแสวงหาเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือและปรึกษาหารือหรือติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำ ปรึกษา ทั้งนี้  ในเว็บไซต์  www.thaigifted.org  มีหัวข้อเวทีสนทนา ซึ่งจะมีมุมพ่อแม่  และนักการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสดังที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้เด็กที่มีความสามารถพิเศษ ควรจะได้พบปะสังสรรค์กับเด็กที่มีความสามารถเท่าเทียมกัน เพื่อเพิ่มพูนและท้าทายสติปัญญาในเรื่องที่เขามีความสามารถ แต่ก็ควรจะมีเวลาพบปะเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ดังนั้น  กระทรวงศึกษาจึงได้จัดการศึกษานำร่องสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในรูปแบบลักษณะเรียนร่วมใน โรงเรียนทั่วไปที่เรียกว่า school in school program     ซึ่งในอนาคตจะมีโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษารูปแบบนี้ ในทุกจังหวัด (ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ  พ.ศ. 2549-2559)  และ ขณะนี้มีโรงเรียนที่จัดการศึกษานำร่องอยู่  34 โรงเรียนใน 14 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ เพชรบุรี เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง น่าน สงขลา ตรัง  นครศรีธรรมราช สุราษฎรธานี และสตูล  ทั้งนี้การขยายผล ให้ทั่วประเทศคงจะต้องรออีกระยะเวลาหนึ่ง…

 “พรสวรรค์” นั้นลอกเลียนแบบกันไม่ได้ แต่ถ้าเป็น “พรแสวง” นั้นหากันได้ทุกคน เราพร้อมที่จะทำให้  “พรสวรรค์ หรือความอัจฉริยะ” ที่เลียนแบบไม่ได้ ให้ลูกของเรา “มีและเป็น” ได้หรือยัง ??

 เรียบเรียงจาก  :: เมื่อลูกของคุณเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษ โดย รศ.ดร. สำอาง หิรัญบูรณะ และ  บุญเทียม  ศิริปัญญา, เผยแพร่ใน  www.thaigifted.org

Exit mobile version