เมื่อเข้าสู่ช่วงปิดเทอมใหญ่ ระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว เด็กๆ มักนิยมไปเล่นน้ำเพื่อคลายร้อน ทำให้พบสถิติเด็กจมน้ำ และเสียชีวิตจากการจมน้ำค่อนข้างสูง
จากข้อมูลจะพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่เสี่ยงที่เด็กจะจมน้ำสูงสุดของประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก รองลงมาอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนสถานที่ ที่พบการจมน้ำตายมากที่สุด ได้แก่ หนองน้ำ สระน้ำสาธารณะ ที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมาก แต่เป็นสระน้ำขนาดใหญ่และลึก รวมถึงแหล่งน้ำที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ร้านอาหาร บริเวณชายหาด โดยพ่อแม่ผู้ปกครองจะพาเด็กๆ ไปเล่นน้ำ บางครั้งอาจพลั้งเผลอ จนเด็กจมน้ำตายได้
สถิติการจมน้ำของเด็กในปี 2556 : มีจำนวน 920 คน จังหวัดเกิดเหตุเด็กจมน้ำ 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 40 คน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 36 คน จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 36 คน จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 34 คน และ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 31 คน
สถิติการจมน้ำของเด็กในปี 2557 : มีจำนวน 807 คน จังหวัดเกิดเหตุเด็กจมน้ำ 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เป็นจังหวัดอุดรธานี จำนวน 41 คน รองลงมาจังหวัดสุรินทร์ 39 คน จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 39 คน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 23 คน และ จังหวัดชลบุรี 22 คน
สาเหตุที่ทำให้มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต การเสียชีวิตเกิดมาจากการช่วยเหลือผิดวิธี ซึ่งมี 2 ช่วง คือ
1. ขณะอยู่ในน้ำ ซึ่งเด็กๆ จะเล่นน้ำเป็นกลุ่ม พอมีเพื่อนจมน้ำ ก็จะลงน้ำไปช่วยกันเอง โดยไม่มีความรู้ในการช่วยที่ถูกต้อง และจมน้ำตายด้วยกัน
2. การช่วยเด็กหลังนำขึ้นมาจากน้ำแล้ว คนส่วนใหญ่ เข้าใจผิดว่า การอุ้มพาดบ่า และ กระแทก เอาน้ำออกเป็นเรื่องถูกต้อง ซึ่งในความเป็นจริง เป็นวิธีที่ผิด เนื่องจาก จะทำให้ผู้จมน้ำขาดอากาศหายใจนานขึ้น การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ วิธีที่ถูกคือ ควรรีบเป่าปาก และ นวดหัวใจ เพื่อให้หายใจได้เร็วที่สุด ถ้าพบว่า หายใจเองได้แล้ว ให้จับผู้จมน้ำนอนตะแคง ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก และ ใช้ผ้าห่มคลุมตัวให้ความอบอุ่น งดน้ำ และ อาหาร และ รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
วิธีป้องกันเด็กตกน้ำ หรือจมน้ำ : พ่อแม่ผู้ปกครอง อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่า จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้าน หรือ แหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม ควรให้ความรู้เด็ก สร้างรั้วรอบแหล่งน้ำ และ ติดป้ายเตือน รวมทั้ง การจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ ส่วนเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ห้ามปล่อยให้เด็กอยู่ลำพังแม้เสี้ยวนาที ต้องมองเห็น เข้าถึง และ คว้าถึงง่าย เพราะเด็กวัยนี้จมน้ำง่ายมาก เนื่องจากการทรงตัวไม่ดี ยังไม่มีความพร้อมในการป้องกันตัวเอง แม้แหล่งน้ำมีน้ำเพียงเล็กน้อย หรือ แม้แต่ในถัง หรือ กะละมัง ที่มีน้ำเพียง 1-2 นิ้วก็ตาม
สำหรับเด็กที่ต้องเดินทาง หรือ ทำกิจกรรมทางน้ำ รวมทั้ง ผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ต้องการลงเล่นน้ำคลายร้อน ควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อพบคนตกน้ำ ต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น เพราะอาจจะถูกกอดรัด และ จมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้
วิธีการช่วยเหลือเด็กจมน้ำ [ตะโกน-โยน-ยื่น] สามารถทำได้โดย
1. ตะโกน เรียกให้คนมาช่วย (กรณีที่เป็นเด็กด้วยกัน ห้ามกระโดนลงไปช่วยด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด)
2. โยนอุปกรณ์ ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำได้เกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอน ห่วงยาง ขวดพลาสติกเปล่า วัสดุลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น
3. ยื่นอุปกรณ์ ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า แล้วดึงขึ้นมา
ดังนั้น ช่วงปิดเทอม จึงเป็นช่วงที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องสูญเสียขึ้นในครอบครัว
เว็บไซต์ เฝ้าระวังเด็กจมน้ำ : [ข้อมูลเด็กจมน้ำ]
เรียบเรียงจาก :
1. http://www.siengchownan.com/index.php/topic,4046.html
2. http://www.krobkruakao.com/ข่าวสังคม/เฝ้าระวังเด็กจมน้ำช่วงปิดเทอม.html
ภาพประกอบจาก : http://reh.go.th/roiet2/main/images/picture/gallery/pic_1426224140.gif