Anantasook.Com

[เที่ยวพิษณุโลก] พระราชวังจันทน์ และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เที่ยวพระราชวังจันทน์ วังพระนเรศวร เมืองพิษณุโลก

Chan_Palaceพระราชวังจันทน์ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชาของกรุงศรีอยุธยาหลายพระองค์ รวมถึงพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิ์กษัตรี ก็ประทับที่นี่ก่อนเสด็จไปครองกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถ

พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ถนนวังจันทน์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ก่อนการบูรณะพระราชวังจันทน์ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (ในป้ายทางเข้ามีการรบุว่า พระราชวังจันทน์ เป็นที่ตั้งของศาลสมเด็จพระนเรศวรและโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม) ปี พ.ศ. 2535 กรมศิลปากร ได้เข้ามาทำการบูรณะค้นหาแนวเขตพระราชวังจันทน์ และดำเนินโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

รูปทรงสันนิษฐาน “พระราชวังจันทน์”
ผลงานการค้นคว้าของ “ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม” อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ภายในพระราชวังจันทน์ หรือวังสมเด็จพระนเรศวร เป็นที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ลักษณะสถาปัตยกรรมของศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นรูปทรงไทยโบราณตรีมุข ภายในมีพระรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่าองค์จริงประทับนั่ง พระหัตถ์ทรงสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำในอิริยาบถประกาศอิสระภาพที่เมืองแครง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดศาล และมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก ความว่า

“”…..ในการกอบกู้เอกราชและเสริมสร้างความมั่นคงแก่ชาติบ้านเมืองเป็นลำดับมานั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและบรรพบุรุษของเราทั้งหลาย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการมาด้วยความเหนื่อยยากและความเสียสละแล้วเพียงไรก็ทราบกันอยู่แล้ว ฉะนั้นควรที่เราทั้งหลายจะพยายามช่วยกันรักษามรดกอันล้ำค่า ซึ่งได้ตกทอดมาถึงเราไว้ให้ดี อย่าให้สูญสลายไปได้……””

พัฒนาการและประวัติศาสตร์ของพระราชวังจันทน์

[ที่มา : http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11745112/E11745112-13.jpg]

พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น โดย เจ้าสามพระยา โอรสของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช และในช่วง พ.ศ. 2006 – 2031 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ก่อสร้าง ขยายขอบเขตพระราชวังจันทน์ให้ใหญ่โตเทียบได้กับพระราชวังหลวงที่พระมหากษัตริย์ประทับ

ต่อมา พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โปรด ฯ ให้พระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกและประทับที่พระราชวังจันทน์มาโดยตลอด รวมถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ที่พระราชสมภพ ณ พระราชวังแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2098 และดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2114

หลังรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาไม่ได้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชมาครองเมืองพิษณุโลก ทำให้เมืองพิษณุโลกลดบทบาทเป็นแค่หัวเมืองชั้นเอก ในขณะที่พระราชวังจันทน์กลายเป็นเพียงวังของเจ้านาย และมีสภาพรกร้าง หลังศึกอะแซหวุ่นกี้ เมื่อ พ.ศ. 2318

เมื่อ พ.ศ.2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมืองพิษณุโลกเพื่อทรงนมัสการพระพุทธชินราชและหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ได้มีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ว่า มีกำแพงสองชั้น กำแพงวังชั้นนอกทรุดโทรมเหลือพ้นดินเล็กน้อย กำแพงวังชั้นในยังเหลือถึง 2 ศอกเศษ และมีฐานซึ่งเข้าใจว่าเป็นพระที่นั่ง เหมือนพระที่นั่งจันทรพิศาล เมืองลพบุรี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวในหนังสือสาส์นสมเด็จ ว่า เรือนพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายที่สูงศักดิ์จะสร้างด้วยไม่จันทน์ที่มีกลิ่น คำว่า วังจันทน์ จึงน่าจะมาจากคำว่า ตำหนักจันทน์ หรือวังเรือนจันทน์

ต่อมา พ.ศ.2474 กระทรวงศึกษาธิการได้ย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มาตั้งในบริเวณพระราชวังจันทน์ รวมถึงส่วนราชการและประชาชนต่าง ๆ ได้เข้ามาอาศัยในบริเวณนี้จนเต็มพื้นที่

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระราชวังจันทน์ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน 2479 กรมศิลปากรได้เข้ามาขุดค้นทางโบราณคดีในเขตพระราชวังจันทน์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2535 และมีประกาศที่ดินโบราณสถาน พื้นที่ 128 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา รวมโบราณสถานใกล้เคียง ได้แก่ วัดวิหารทอง วัดศรีสุคต วัดโพธิ์ทอง สระสองห้องและคลองมะดัน ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 52 ง วันที่ 30 มิถุนายน 2537

วันที่ 20 สิงหาคม 2545 มีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมออกจากพระราชวังจันทน์ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์ ได้กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการทางโบราณคดีเต็มพื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ.2546 ถึงปัจจุบัน

การศึกษาทางโบราณคดีพบว่า พระราชวังจันทน์มีการก่อสร้างซ้อนทับกัน 3 สมัย ดังนี้
1. พระราชวังจันทน์ สมัยที่ 1
พบร่องรอยสิ่งก่อสร้างด้วยอิฐทึบ ลักษณะเป็นแนวกำแพงที่มีระดับพื้นใช้งาน จนถึงระดับฐานอยู่ในระดับลึกที่สุด การดำเนินงานไม่สามารถขุดแต่งให้เห็นซากโบราณสถานได้ทั้งหมด จึงไม่สามารถกำหนดขอบเขตและขนาดของพระราชวัง แต่พบโบราณวัตถุ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งจากเตาศรีสัชนาลัยและเตาสุโขทัย ซึ่งสันนิษฐานว่าอายุของพระราชวังจันทน์ สมัยที่ 1อยู่ในช่วงสมัยสุโขทัย – อยุธยาตอนต้น

2. พระราชวังจันทน์ สมัยที่ 2
ร่องรอยจากการขุดแต่ง ได้พบแนวกำแพงชั้นนอก ก่อด้วยอิฐหนาประมาณ 1 นิ้ว ซึ่งแสดงขอบเขตได้ไม่ชัดเจนทั้ง 4 ด้าน แต่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า แผนผังพระราชวังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 185 เมตร ยาวประมาณ 300 เมตร ภายในพระราชวังมีการก่อกำแพงวางตัวตามแกนทิศเหนือ – ใต้ จำนวน 2 แนว เพื่อแบ่งพื้นที่พระราชวังออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ พระราชวังชั้นนอกอยู่ทางทิศตะวันออก พระราชวังชั้นกลางและชั้นในอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นแบบแผนเดียวกับพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา ,พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี และพระบรมมหาราชวังของกรุงรัตนโกสินทร์ จากรูปแบบการวางพื้นที่ใช้สอยข้างต้นแสดงให้เห็นว่า พระราชวังจันทน์ในสมัยนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สู่แม่น้ำน่าน และเป็นสมัยที่ขอบเขตของพระราชวังกว้างขวางที่สุด สันนิษฐานว่าพระราชวังจันทน์ สมัยที่ 2 อยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น – สมัยอยุธยาตอนกลาง หรือราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 22

3. พระราชวังจันทน์ สมัยที่ 3
ผังพระราชวังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงชั้นนอกก่อด้วยอิฐ กว้าง 192.50 เมตร ยาว 267.50 เมตร กำแพงวังชั้นนอกทางทิศตะวันออกและตะวันตกมีช่องประตูด้านละ 2 ช่อง อยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน ซุ้มประตูทำเป็นลักษณะย่อมุม ก่อเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ กึ่งกลางของซุ้มประตูแต่ละด้านมีร่องรอยการเซาะอิฐให้เป็นร่องครึ่งวงกลม สำหรับใส่เสาไม้เป็นกรอบประตู ด้านในของแนวกำแพงชั้นนอกทั้งสี่ด้าน มีการก่ออิฐยื่นออกมาเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างห่างกัน 1 เมตร ภายในถมดินอัดแน่นไปจนรอบแนวกำแพงด้านใน สันนิษฐานว่าพระราชวังจันทน์ สมัยที่ 3 อยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย – สมัยธนบุรีหรือราวพุทธศตวรรษที่ 22 – 23

พระราชวังจันทน์ สมัยที่ 3 แบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. เขตพระราชวังชั้นนอก คือ พื้นที่ทางทิศเหนือ ระหว่างแนวกำแพงชั้นนอกเข้ามาถึงแนวกำแพงชั้นใน บริเวณกึ่งกลางของแนวกำแพงมีช่องประตูที่จะเข้าไปในเขตพระราชวังชั้นกลาง เชื่อว่าน่าจะเป็นที่ตั้งของศาลาลูกขุนนอก คลังปืนใหญ่ โรงม้า และป้อมเวรยาม ซึ่งไม่พบหลักฐานใด ๆ เนื่องจากเป็นอาคารไม้ จึงชำรุดหักพังจนหมด

2. เขตพระราชวังชั้นกลาง พื้นที่ส่วนนี้เป็นที่ตั้งของพระราชมณเฑียรหรือพระที่นั่ง เพื่อใช้ในพระราชพิธี หรือเสด็จออกว่าราชการ และน่าจะเป็นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ คือ ศาลาลูกขุนในคลังมหาสมบัติและโรงช้างเผือก พบอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างคร่อมทับแนวกำแพง แบ่งพื้นที่ ที่ก่อจากแนวกำแพงพระราชวังชั้นในจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก บริเวณทิศใต้หรือด้านหลังอาคาร มีการสร้างกำแพงคู่ขนานเป็นฉนวนทางเดินจากกำแพงชั้นในทิศตะวันออกเข้ามายังด้านหลังอาคาร

3. เขตพระราชวังชั้นใน เป็นเขตพระราชฐานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมเหสี อยู่ทางทิศใต้ของพระราชวัง สร้างด้วยไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม จึงเรียกกันว่า ตำหนักจันทน์ หรือ เรือนจันทน์

นอกจากนี้ บริเวณเดียวใกล้กับพระราชวังจันทน์ ยังพบโบราณสถานวัดวิหารทอง และวัดศรีสุคต ซึ่งทางราชการกำลังทำการบูรณะและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เช่นกัน (ชมวัดวิหารทอง และวัดศรีสุคตในคลิป)

การเดินทางมายังพระราชวังจันทน์ : รถยนต์ จากที่ว่าการอำเภอ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวังจันทร์ก่อนถึงสะพานนเรศวร ขับเลียบไปตามแม่น้ำน่านพระราชวังจันทร์และศาลสมเด็จพระนเรศวรอยู่ทางด้านซ้ายมือ หรือ จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่ , วัดพระพุทธชินราช) ข้ามสะพานนเรศวร ลงสะพานเลี้ยวขวาเข้าถนนวังจันทร์เดินเลียบลำน้ำน่านไปเรื่อย ๆ พระราชวังจันทร์และศาลสมเด็จพระนเรศวรอยู่ทางด้านซ้ายมือ

ชมคลิป นำชมพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก [รอติดตั้ง]

หมายเหตุ : ที่มาข้อมูลเกี่ยวกับ “พัฒนาการและประวัติศาสตร์ของพระราชวังจันทน์” เขียนโดยคณิน อุดมความสุข ระบุว่า นำมาจาก เอกสารแผ่นพับ “พระราชวังจันทน์ พระราชวังเมืองพิษณุโลก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก” โดย สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. มปป.

ที่มา :
1. https://www.gotoknow.org/posts/341293
2. https://www.gotoknow.org/posts/341340

Exit mobile version