พระนางจามเทวี ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ (เมืองลพบุรีในปัจจุบัน) ส่วนปีที่พระนางทรงประสูติ ระยะเวลาครองราชย์ และปีสวรรคตนั้น มีกล่าวไว้แตกต่างกัน หลายเล่ม เช่น
1. ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าครองราชย์ พ.ศ. 1205 ครองราชย์อยู่ 7 ปี
2. คุณมานิต วัลลิโภดม สอบค้นว่าประสูติ เมื่อพ.ศ.1166 ครองราชย์ พ.ศ. 1205 ครองราชย์อยู่ 17 ปี สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 1258 พระชันษาได้ 92 ปี
3. ตำนานฉบับที่คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ แปลใหม่ ประสูติ พ.ศ. 1176 ครองราชย์ พ.ศ. 1202 สละราชสมบัติ พ.ศ. 1234และสวรรคต พ.ศ. 1274 เป็นต้น
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งอยู่ตำบลในเมือง บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย พระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม ความสามารถและกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมาร ได้เสด็จมาทรงเปิดอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525
ประวัติพระนางจามเทวี : กล่าวกันว่า พระนางจามเทวี ทรงเป็นเบญจกัลยานีรูปงาม มีศีล และมีความสามารถ ทรงอยู่ในฐานะหม้าย เนื่องจากพระสวามีได้ออกบวช โดยในพงศาวดารเมืองหริภุญชัย กล่าวว่า พระสวามีเป็นเจ้าประเทศราชในเมืองรามัญ (ตำนานมูลศาสนาว่า คือ เมืองรา หรือ เมืองราม) ซึ่งต่อมาได้มีศรัทธาบรรพชาเป็นเพศบรรพชิต ขณะที่สวามีออกบวชนั้น พระนางจามเทวีก็ได้ตั้งท้องมาแล้ว 3 เดือน แล้วได้เดินทางไปครองเมืองหริภุญชัย ตามคำเชิญของสุกกทันตฤาษี และวาสุเทพฤาษี ผู้ส่ง นายคะวะยะ เป็นทูตมาเชิญ (ทั้งนี้ ฤาษีสองท่านนั้น อาจเป็นปุโรหิตหรือเจ้าผู้ครองเมืองละว้า)
พระนางจามเทวีได้นำพระสงฆ์ สมณะชีพราหมณ์ พ่อค้าวาณิช ช่างต่างๆ อย่างละ 500 ประมาณกว่า 7,000 คน เดินทางไปทางน้ำ ซึ่งก็คือน้ำปิง เมื่อผ่านที่ใดก็ตั้งเมืองเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดเส้นทาง (เข้าใจว่าเป็นการขยายพระราชอำนาจ, ดินแดน) พระนางใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 7 เดือน จึงเดินทางมาถึงเมืองหริภุญชัย
เมื่อเสด็จมาถึงเมืองหริภุญชัยได้ 7 วัน พระนางก็ประสูติพระโอรสฝาแฝดชื่อ มหันตยศ และ อนันตยศ ต่อมาทรงได้ช้างเผือกคู่บารมี ลักษณะสีขาวเผือก หรือที่เรียกว่า ผู้ก่ำงาเขียว เมื่อพระโอรสมีพระชนม์ 7 พรรษา พระนางจามเทวีได้สละราชสมบัติอภิเษกให้ มหันตยศ ครองเมืองหริภุญชัย ส่วนอนันตยศ พระนางจามเทวีได้ให้นำผู้คนพลเมืองไปตั้งเมืองเขลางค์นครหรือลำปางในปัจจุบัน ส่วนพระนางได้นุ่งขาวห่มขาว สมาทานเบญจศีล จนถึงวันสิ้นพระชนม์ ดังตำนานมูลศาสนาได้กล่าวว่าพระนางทรงสมาทานเบญจศีลอยู่เสมอทุกวันมิได้ขาด
ในด้านศาสนา ทรงเป็นแบบอย่างที่ดี ในการปฏิบัติธรรมให้เสนาอำมาตย์ราชมนตรี และประชาชนถือปฏิบัติเป็นอย่างดี ที่สำคัญยิ่งทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองวัฒนาสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้ทรงสร้างจตุรพุทธปราการเป็นพระอารามประจำจตุรทิศแห่งพระนคร เพื่อเป็นพุทธปราการปกป้องคุ้มครองพระนครให้พัฒนาสถาพรปราศจากภัยภิบัติต่างๆ ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดสี่มุมเมือง ดังนี้
1. อาพัทธาราม ปัจจุบันคือ วัดพระคง เป็นพุทธปราการ อารักขาประจำทางฝ่ายทิศเหนือ
2. อรัญญิกรัมมการาม ปัจจุบันเป็น วัดร้างดอนแก้ว ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านเวียงยองเป็นพุทธปราการ อารักขาประจำทางฝ่ายทิศตะวันออก
3. มหาสัตตาราม ปัจจุบันคือ วัดสังฆาราม (ประตูลี้) เป็นพุทธปราการอารักขาประจำทางฝ่ายทิศใต้
4. มหาวนาราม ปัจจุบันคือ วัดมหาวัน เป็นพุทธปราการอารักขาประจำทางฝ่ายทิศตะวันตก
พระนางจามเทวีได้ทรงใช้กุศโลบายที่หลากหลายรูปแบบในการต่อสู้ และชักจูงพวกละว้า ให้หันมานับถือศาสนาพุทธโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อสู้กับหัวหน้าเผ่าละว้า ขุนหลวงวิลังคะ ด้วยอิทธิฤทธิ์ของช้างผู้ก่ำงาเขียว ได้ขับไล่ข้าศึกละว้าหนีกระจัดกระจายไปอยู่ตามป่าเขา นอกจากนี้ทรงใช้กุศโลบายในการผสมกลมกลืนชาติพันธุ์กับท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม โดยการให้พระราชโอรสทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสกับธิดาสองคนของพญามิลักขะและได้สู่ขอธิดาสองคนของนายคะวะยะ ให้กับพระราชโอรสด้วย ถือได้ว่าทำให้ชนชาวละโว้และชนพื้นเมืองอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสามารถเผยแพร่อุดมการณ์ทางศาสนาเข้าสู่ชนพื้นเมืองได้อย่างรวดเร็ว และได้ใช้กุศโลบายทางสันติธรรมและเมตตาธรรมเข้าต่อสู้จนชนะที่สุด โดยมีบางส่วนได้เข้ามา สวามิภักดิ์หันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาทำให้มีการผสมกลมกลืนทาชาติพันธุ์ สังคมเกิดความสงบสุขและพุทธศาสนาเจริญอย่างมั่นคงในอาณาจักรหริภุญชัยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
อ่านประวัติพระนางเจ้าจามเทวี โดยละเอียดที่ : http://th.wikipedia.org/wiki/พระนางจามเทวี
ภาพประกอบจาก : http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php?action=dlattach;topic=6815.0;attach=25249;image