Anantasook.Com

พิธีกรรมวันออกรถใหม่ วันรับรถคันใหม่ การเจิมรถยนต์ใหม่ ความเชื่อวันถอยรถคันใหม่ ต้องทำอะไรบ้าง !?

วันออกรถใหม่ วันรับรถ เจ้าของรถ ควรจะต้องเตรียมตัวและปฏิบัติตามหลักการที่บูรพาจารย์ทั้งหลายได้แนะนำให้ถือปฏิบัติ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่รถและแก่ชีวิตของเจ้าของรถ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากนะครับ ทำเพื่อความสบายใจ และบางทีอาจมีลาภลอย โชคดีจากรถคันใหม่ก็ได้ “อาจารย์สุรคำ” [ surakumhoro999@gmail.com] มีข้อแนะนำดังนี้
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนหนึ่งวันก่อนวันรับรถ มีดังนี้
          1. นํ้าพุทธมนต์วัดที่ท่านศรัทธา
          2. ชุดที่ถูกโฉลกกับท่าน
          3. รูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ท่านเคารพบูชา 1 องค์
          4. พวงมาลัยดอกไม้ ( ดาวเรือง หรือ ดอกมะลิ หรือ ดอกไม้ 7 สี)
          5. พ่อ หรือ แม่ หรือ เพื่อน หรือ บุคคลที่มีชื่อเป็นมงคลติดรถ เช่น นายสมหวัง นางวันดี เป็นต้น
          6. กล้วย 1 หวี เอาไว้ถวายแม่ย่านางรถ 

ในวันรับรถใหม่ หรือวันออกรถ มีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
          1. ก่อนออกจากบ้าน เลือกชุดสีที่ถูกโฉลกกับตน
          2. ออกจากบ้านในฤกษ์ที่ดีตาม วันนั้นๆ
          3. เมื่อถึงศูนย์บริการ หรือ เต็นท์รถ ให้จัดเตรียมของทั้งหมดก่อนได้ฤกษ์ที่โหรกำหนดให้
          4. เมื่อจะขับออกไปให้สตาร์ทรถ และเปิดไฟหน้าเอาไว้ห้ามดับจนกว่าจะถึงบ้าน
          5. ประพรมนํ้าพุทธมนต์ โดยใช้กิ่งไม้ที่เป็นมงคลพรม เช่น ทับทิม ใบเงิน นาค ทอง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น
          6. อัญเชิญรูปเคารพตามที่ท่านนำมาตั้งไว้บนหน้ารถ (พระพุทธเจ้าหันหน้าออก เทพหันหน้าเข้า หลวงปู่หลวงพ่อหันหน้าเข้า เป็นต้น)
          7. หยิบพวงมาลัยดอกไม้ มาอธิษฐาน ตามปรารถนา จะคล้องไว้ที่รูปเคารพ หรือ พวงมาลัยรถก็ได้
          8. หลังจากนั้น ดูว่าได้ฤกษ์ออกรถหรือยัง ถ้าไม่ทราบ ดูว่าท้องฟ้าปลอดโปร่งดีไหม ถ้าดีออกเลย
          9. ให้ผู้ติดตามที่มีชื่อเป็นมงคล ทำการบีบแตร ๓ ครั้ง หรือเขานั้นจะขับรถให้เราด้วยจะดีมาก
         10. ให้พ่อแม่หรือผู้ติดตามในข้อ 9 อวยพรให้เราในสิ่งดีๆ ( อย่าทำเป็นเล่นกัน) เพราะว่าช่วงนี้นั้น เทพเทวดาที่มีบุญสัมพันธ์กับเราท่านจะมาสถิตดูแล รักษาเราให้ได้ใช้งานโดยปลอดภัย และเกิดสิริมงคลกับเราตราบนานเท่านานที่เรายังคงเคารพท่านอยู่
          11. กลับถึงบ้านโดยปลอดภัย (ไม่ควรแวะระหว่างทาง)
           การที่เราทำแบบนี้ก่อนที่พระท่านจะเจิมรถของเราให้นั้น เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของในทางโลกวิญญาณ เพราะรถที่ไม่เจ้าของเหมือนศาลที่ไม่มีเจ้าที่ อาจจะทำให้สัมภเวสีแอบมาอยู่ในรถได้

การเจิมรถยนต์ใหม่ เมื่อมีการออกรถใหม่ เจ้าของรถ ควรจะต้องนำรถไปให้พระเกจิ อาจารย์เจิมรถเพื่อก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล โดยผู้มีความประสงค์จะเจิมรถยนต์ใหม่ ควรดำเนินการดังนี้

จัดทำพานขันธ์ 5 ประกอบด้วย ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่ พวงมาลัย 1 พวง ซองปัจจัยถวายพระสงฆ์ตามกำลังศรัทธา นำพานขันธ์ 5 ซองปัจจัย และพวงมาลัยถวายพระสงฆ์ แจ้งความประสงค์ต่อพระสงฆ์เรื่องการเจิมรถยนต์ใหม่ พระสงฆ์ นำดินสอพองผสมน้ำเตรียมไว้ เจิมรถยนต์พร้อมบริกรรมพระคาถา การเจิมรถยนต์บริเวณหลังคาด้านใน แถวหน้าตรงกลาง จำนวน 9 จุด เรียงเป็นลักษณะสามเหลี่ยม พระสงฆ์นำพระเครื่องติดหน้ารถยนต์ หันพระพักตร์ของพระเครื่องออกไปด้านหน้ารถยนต์ จากนั้น นำน้ำมนต์พรมรอบคันรถยนต์ทั้งด้านในด้านนอก และเจ้าของรถยนต์เพื่อเป็นสิริมงคล

ความหมายของจุดแต่ละจุดในการเจิมรถยนต์ มีความหมายดังนี้

อุณาโลม
หมายถึง องค์พระ ระหว่างเขียนจะมีการภาวนาว่า มา ปะ นะ ชา ยะ เต

     1 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า เอกะอะมิ หมายถึง คุณแห่ง พระนิพพานอันยิ่งใหญ่
     2 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า พุท โธ หมายถึง นามพระพุทธเจ้า
     3 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า มะ อะ อุ หมายถึง คุณแห่งแก้ว 3 ประการ (พระรัตนตรัย) และอีกความหมายคือ พระไตรปิฎก
     4 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า ทุ สะ นิ มะ (หัวใจอริยสัจสี่) , นะ ชา ลิ ติ (พระสิวลี), อุ อา กา สะ (หัวใจเศรษฐี), นะ มะ อะ อุ (พระไตรปิฎก), นะ มะ พะ ทะ (ธาตทั้งสี่)
     5 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า นะ โม พุท ธา ยะ หมายถึง พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ หรือคุณแห่งศีล 5 มีพุทธคุณ
     6 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า อิ สฺวา สุ สุ สฺวา อิ หมายถึง คุณแห่งไฟ หรือพระเพลิง รวมทั้งหมายถึงคุณแห่งพระอาทิตย์
     7 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า สะ ธะ วิ ปิ ปะ สะ อุ หมายถึง คุณแห่งลม หรือพระพาย
     8 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า พา มา นา อุ กะ สะ นะ ทุ หมายถึงคุณแห่งพระกรรมฐาน คุณแห่งศีล 8 คุณแห่งพระอังคาร
     9 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ หมายถึง คุณแห่งมรรค 4 ผล 4 และพระนิพพาน 1
     10 จุด ใช้เขียนอักขระที่ว่า เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว หมายถึง คุณแห่งครูบาอาจารย์ คุณแห่งอากาศ หมายถึงคุณแห่งศีล 10 หมายถึงคุณแห่งพระเสาร์ 30 ทัศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนจุดในการเจิม ของพระเกจิอาจารย์ จะไม่เท่ากัน แต่การลงจุดนั้นจะเขียนเป็น รูปสามเหลี่ยมเหมือนกัน โดยส่วนยอดของสามเหลี่ยมนั้นจะเป็นอุณาโลม ในขณะที่บางท่าน อาจจะเพิ่มอักขระบางตัวไว้เข้าไป ส่วนการบริกรรมพระคาถา ระหว่างการเจิมนั้น สุดแล้วแต่จะได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์อย่างไร เช่น ถ้า เจิม ๓ จุด อาจจะบริกรรมคาถา มะ อะ อุ หรือ แยกเป็น 2 จุด ก่อน คือ พุท โธ ส่วนอีกจุดนั้นบริกรรมพระคาถา เอกะอะมิ

เจิม 10 จุด อาจจะ บริกรรมคาถา เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว ครั้งเดียวเลยก็ได้ หรืออาจจะแยกเขียนเป็น 4 แถว คือ 4 จุด ล่างบริกรรมคาถาว่า ทุ สะ นิ มะ แถวถัดมา 3 จุด บริกรรมว่า มะ อะ อุ แถวที่มี 2 จุดบริกรรมว่า พุท โธ ส่วนแถวบนสุด 1จุด บริกรรมว่า เอกะอะมิ

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเชื่อในเรื่องวันออกรถใหม่ และการเจิมรถยนต์ใหม่ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันรับรถใหม่ ผู้ออกรถใหม่ ต้องลงนามในเอกสารตรวจรับรถใหม่ป้ายแดง เจ้าของรถ ควรมีโอกาสได้ตรวจรับรถใหม่ป้ายแดงด้วยตนเอง อ่านต่อ >> [การตรวจรับรถคันใหม่ เอกสารตรวจรับรถใหม่ป้ายแดง] 


เรียบเรียงจากประสบการณ์รับรถใหม่และข้อมูลจาก
     1. http://numberforcars.blogspot.co.nz/2012/09/blog-post_8.html
     2. http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/130621/การเจิมรถยนต์
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://www.weekendhobby.com/offroad/toyota2700club/picture%5C2510255120572.jpg

Exit mobile version