Anantasook.Com

ระบบการศึกษาของกัมพูชา ผลการดูงานที่โรงเรียนโอเสม็ด [ระบบการศึกษาของเขมร]

           ข้อมูลจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ให้ข้อมูลว่า ระบบการศึกษาของกัมพูชาว่า มีการปฏิรูปด้านการศึกษาของกัมพูชาก่อนปี พ.ศ.2518 โดยประเทศกัมพูชายึดระบบการศึกษาแบบฝรั่งเศสซึ่งให้มีการศึกษาภาคบังคับ 13 ปี (6+4+2+1) ภายหลังปี พ.ศ. 2522 กระทรวงศึกษาฯใช้ระบบการศึกษาแบบ 10 ปี (4+3+3) และต่อมาได้ขยายเป็นแบบ 11 ปี และใช้สืบเนื่องจากปี พ.ศ.2529 ถึง 2539
          กระทรวงศึกษาของกัมพูชา ยังคงดำเนินการพัฒนาระบบการศึกษา มีการปฎิรูปหลักสูตร มีการพัฒนาตำราเรียนใหม่และนำเทคนิคการสอนใหม่ๆ มาให้กับครูเพื่อเตรียมสำหรับการนำระบบการศึกษาแบบ 12 ปีมาใช้ (6+3+3) ในปีการศึกษา 2539-2540 โดยระบบนี้ จะแบ่งเป็นการศึกษาก่อนประถมศึกษา 3 ปี ประถมศึกษา 6 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี และระดับอุดมศึกษา 4-7 ปี ส่วนการจัดการศึกษาด้านอาชีวะและเทคนิคจัดให้ตั้งแต่ 1 ปี ไปจนถึง 3-5 ปีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษานี้ บางสถาบันการศึกษาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรสาธารณสุขหรือแรงงาน การจัดการศึกษานอกระบบจะเน้นการฝึกทักษะ ให้กับประชาชน โดยการศึกษาระดับ “ประถมศึกษา” เรียกว่า “ประกอบ” , การศึกษาระดับ ม.1-3 เรียกว่า “ปฐมภูมิ” หรือ “อนุวิทยาลัย”, การศึกษาระดับ ม.4-6 เรียกว่า “ทุติยภูมิ” หรือ “วิทยาลัย”, การศึกษาในระดับอุดมศึกษา เรียกว่า “สากลวิทยาลัย” หรือ “มหาวิทยาลัย”

22 มิถุนายน 2551 :: ศวคท. :: ครูศักดิ์อนันต์ อนันตสุขและคณะนักศึกษาหลักสูตร ป.บัณฑิต บริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เดินทางไปศึกษาดูงานโรงเรียนประถมศึกษาโอเสม็ดและศึกษาบริบทชุมชนโอเสม็ด ราชอาณาจักรกัมพูชา (ตรงข้ามด่านชายแดนช่องจอม จังหวัดสุรินทร์) อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเรียนรู้เรื่อง การจัดการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ เมื่อข้ามด่านชายแดนช่องจอมแล้ว เราจะพบกาสิโนสองแห่ง ชื่อโรยัลฮิลล์กับโอเสม็ดรีสอร์ทผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ คือ คนจากประเทศไทย หากเราไม่แวะเข้ากาสิโนและเดินตรงไปตามถนนสายหลัก ซึ่งเป็นถนนลาดยางมะตอยอย่างดี เราจะพบตลาดใหม่ เรียกว่า ภาซา เทมย (ตลาดใหม่) บรรยากาศคล้ายๆ ตลาดการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และหากเราจะเดินทางลึกเข้าไปในประเทศ เพื่อการท่องเที่ยวหรือมาที่โรงเรียนโอเสม็ด เราต้องใช้บริการ “รถสองแถว” หรือ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” โดยโรงเรียนประถมศึกษาโอเสม็ด อยู่ในเขตอำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา ห่างจากด่านชายแดนช่องจอมเข้าไปราว 3 กิโลเมตร 

## รายการ มองโลกแบบวิกรม ตอนที่ 18 25/07/55 ตอน การศึกษาในกัมพูชา

หมายเหตุ : เนื่องจากภาพการศึกษาดูงานนี้ ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.anantasook.com มานานแล้ว ไฟล์ภาพและข้อมูลการเดินทางไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ยังไม่สามารถสืบค้นเจอ ผู้เขียนจะนำมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป
ที่มา : ระบบการศึกษาของกัมพูชา : http://www.bic.moe.go.th/th/index.php?option=com_content&view=article&id=395&catid=61

Exit mobile version