ตะขบ สุดยอดผลไม้ไทยมากคุณค่า สรรพคุณและประโยชน์ของตะขบ กินตะขบ ดีต่อสุขภาพ

takobตะขบ : มีใยอาหาร แคลเซียม และโพแทสเซียมสูง ช่วยดูดซับคอเรสเตอรอล ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้และเส้นเลือดสมองแตก
ชื่อวงศ์ : TILIACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muntingla calabura L.
ชื่อสามัญ : Calabura ,Jamalcan ,cherry ,jam tree
ชื่อพื้นเมืองอื่น : ครบฝรั่ง (สุราษฏร์ธานี) ตะขบ , ตะขบฝรั่ง (ภาคกลาง) ตะขบควาย ตะขบไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ตะขบเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5-7 เมตร เปลือกสีเทา กิ่งแผ่สาขาขนานกับพื้นดิน ตามกิ่งมีขนปกคลุม ขนนุ่ม และปลายเป็นตุ่ม ยอดอ่อนเมื่อจับดูรู้สึกเหนียวมือเล็กน้อย
– ใบ เป็นใบเลี้ยงเดียว เรียงสลับแบบทแยงกัน ลักษณะใบรูปขอบขนานแกรมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบข้างหนึ่งมน ข้างหนึ่งแหลม ขอบใบหยัก มีขนปกคลุมหนาแน่ เส้นใบมี 3-5 เส้น ด้านบนสีเขียวด้านล่างสีนวล ก้านใบยาว มีขน โคนก้านเป็นปม ๆ
– ดอก ดอกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ เหมือนง่ามใบ เวลาบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ก้านดอกยาว มีขน กลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ ไม่ติดกัน สีเขียว รูปหอก ปลายแหลมเป็นหางยาว โคลนกลีบตัดด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว รูปไข่กลับป้อม ๆ ย่น เกลี้ยง
– ผล ลักษณะลูกทรงกลม ผิวบางเรียบ ขนาด 1.5 เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีแดง รสหวาน
– เมล็ด มีลักษณะเล็ก ๆ จำนวนมาก

นิเวศวิทยาของตะขบ
ตะขบมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ขึ้นทั่วไปตามพื้นที่ในเขตร้อน เกิดตามที่รกร้างว่างเปล่า หรือตามป่าโปร่งทั่วไป นิยมปลูกเป็นไม้ร่มเงาตามบ้านเรือน

การปลูกและขยายพันธุ์
เป็นไม้กลางแจ้งที่ปลูกง่ายโตเร็ว เจริญเติบโตได้ดีในดินทั่ว ๆ ไป ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หรือต้นที่เกิดขึ้นใหม่

ประโยชน์ทางยา
รส และสรรพคุณในตำรายา
เปลือกต้น รสฝาด เป็นยาระบาย เพราะมีสารพวก Mucilage มากใบ รสฝาดเอียน ใช้ในการขับเหงื่อ ดอก รสฝาด แก้ปวดศีรษะ แก้หวัด ปวดเกร็งในทางเดินอาหาร ลดไข้ ต้มรวมกับสมุนไพรอื่น ๆ เอาน้ำดื่มเป็นยาขับระดู และแก้โรคตับอักเสบ ผล รสหวานเย็น มีกลิ่นหอมบำรุงกำลัง ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ ราก รสฝาด กล่อมเสมหะและอาจม

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้
1. เป็นยาระบาย โดยใช้เปลือกต้นสด หรือแห้ง ประมาณ 1 ฝ่ามือสับเป็นชิ้นต้มในน้ำเดือด 1 ลิตร ประมาณ 15 นาที กรองเอาน้ำดื่ม ซึ่งในเปลือกจะมีสารพวก Mucilage มาก ซึ่งเป็นยาระบายที่ดี
2. แก้ปวดศีรษะ แก้หวัด ปวดเกร็งในระบบทางเดินอาหาร และลดไข้โดยใช้ดอกแห้ง 3-5 กรัม ชงเป็นน้ำชาดื่ม

นอกจากนี้ ยังมีผลการวิเคราะห์ทางคุณค่าโภชนาการเกี่ยวกับปริมาณใยอาหารและแร่ธาตุในผลไม้จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขออกมาว่า ในปริมาณผลไม 100 กรัม จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบ 76-94 กรัม มีใยอาหาร 0.5-6.3 กรัม มีน้ำตาลรวม 3-18 กรัม และมีพลังงาน 33-97 กิโลแคลอรี ซึ่งจากการศึกษาพบวาผลไม้ ที่มีใยอาหารสูงสุดได้แก่ ตะขบ มีมากกว่า 6.3 กรัม มากกว่าผลไม้ชนิดอื่นที่ว่ามีใยอาหารสูงแล้วเกือบ 2 เท่าอย่างเช่น ฝรั่งแป้นสีทอง มี 3.3 กรัม และฝรั่งกิมจูมี 3.1 กรัม นอกจาก ตะขบจะมีใยอาหารสูงแล้ว ยังมีแคลเซียมและโพแทสเซียมสูงอีกด้วย ซึ่งมีประโยชน์ดูดซับคอเลสเตอรอล ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้และป้องกันเส้นเลือดสมองแตกได้ด้วย

ข้อควรทราบ
1. ผลสุกจะมีรสหวานเย็น กลิ่นหอม รับประทานแล้วจะเป็นยาบำรุงกำลังทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ
2. การทานผลสุกของตะขบ ควรระมัดระวังว่าภายในมีขี้แมลงวันหรือหนอนอยู่หรือไม่ 

เรียบเรียงจาก : https://www.facebook.com/FoodandHealthforyou/posts/616157978433218



Leave a Comment