มาตรา 92 : ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
มาตรา 87 : ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียน จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้ การละทิ้งหน้าที่หรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือ โดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
โดยนัยของมาตราดังกล่าว หากเป็น “กรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ” หรือ ดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้น ใน “ห้างหุ้นส่วน” หรือ “บริษัท“ ย่อมไม่สามารถทำได้ และหากไม่ปฏิบัติตามจะผิดวินัยร้ายแรง แต่หากทำธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่จดทะเบียนเป็น “ห้างหุ้นส่วน” หรือ “บริษัท” ย่อมสามารถทำได้ (เช่น เปิดร้านค้าขายของในชุมชน, การขายของออนไลน์ ที่จดทะเบียนพาณิชย์เป็นร้านค้าธรรมดาในชื่อตนเองก็สามารถทำได้) แต่หากในเวลาราชการ มีการใช้เวลาไปทำธุรกิจส่วนตัวดังกล่าวข้างต้น จะมีความผิดตามมาตรา 87 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 (ตอบโดย มหาวิชาดอทคอม)
ขยายความมาตรา 92 (รายละเอียดตาม คู่มือการดำเนินการทางวินัย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงาน ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษาธิการ)
มาตรานี้มุ่งเน้นห้ามข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามิให้เป็นตัวกระทําการ ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ เป็นสําคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการยึดการรับราชการเป็นอาชีพ โดยไม่มัวกังวลด้วยการแสวงหาประโยชน์ในทางอื่น
องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 92
1. เป็นตัวกระทําการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
2. เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดํารงตําแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
คําว่า “ตัวกระทําการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท” ในที่นี้หมายถึงกรรมการผู้จัดการหรือ ผู้จัดการ หรือผู้ดํารงตําแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ส่วนคำว่า “ผู้ดํารงตําแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกัน” นั้น หมายถึงกรรมการ อํานวยการหรือผู้อํานวยการ เป็นต้น การเป็น “กรรมการบริหาร” หรือเป็น “ประธานกรรมการ” ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 92 นี้เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้าราชการที่ดํารงตําแหน่งได้ เข้าไป “จัดการ” หรือเป็น “ตัวกระทํา” ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทโดยตรงจึงจะต้องห้าม ซึ่งทั้งนี้ จะต้องพิจารณาจากหลักฐานการจดทะเบียนและหนังสือบริคณห์สนธิ ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท แล้วแต่กรณีอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
ตัวอย่างพฤติการณ์ความผิด
– เข้าไปเป็นตัวกระทําการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (ภาคทัณฑ์)
– เป็นกรรมการอํานวยการหรือผู้อํานวยการแต่มีลักษณะงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ อย่างเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกันกับกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการ (ภาคทัณฑ์)
– เป็นกรรมการผู้มีอํานาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และเป็นตัวแทนของบริษัททํานิติกรรม ในการซื้อขาย (ภาคทัณฑ์)
อนึ่ง การเป็นผู้จัดการมูลนิธิไม่เข้าข้อห้ามตามมาตรานี้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีคำถามคล้ายกันในลักษณะนี้ ดังนี้
1. ข้อมูลจากเว็บ ก.พ.
คำถาม
เป็นข้าราชการแล้วสามารถที่จะเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทได้หรือไม่ ผิดวินัยข้อไหนอย่างไร
คำตอบ
มาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 บัญญัติห้ามข้าราชการ เข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้น ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ทั้งนี้ เนื่องจากทางราชการต้องการให้ข้าราชการอุทิศและทุ่มเทเอาใจใส่กับการทำงานให้แก่ราชการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ หากใช้เวลาราชการไปในการดำเนินกิจการดังกล่าว อาจมีความผิดวินัยฐานทอดทิ้งหรือละทิ้งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 92 อีกฐานหนึ่งด้วย แต่ถ้าไม่ได้เข้าไปกระทำการในลักษณะดังกล่าว เช่น เป็นเพียงผู้ถือหุ้นหรือเป็นที่ปรึกษาโดยไม่ใช้เวลาราชการหรือตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนในลักษณะดังกล่าว ก็ชอบที่จะกระทำได้ อย่างไรก็ตาม กรณีจะเป็นการกระทำความผิดวินัยหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องเป็นกรณีๆไป
2. ข้อมูลจากเว็บมีชัยไทยแลนด์ ตอบโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์
คำถาม
ดิฉันเป็นข้าราชการครูชำนาญการ อยากทำธุรกิจร่วมกับชาวต่างชาติในการจัดหาครูชาวต่างชาติมาสอนในประเทศไทยโดยจะจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนร่วมกัน คำถามคือ
1. ดิฉันสามารถดำเนินธุรกิจนี้ร่วมกับชาวต่างชาติได้ไหมค่ะ
2. ดิฉันสามารถเป็นคณะกรรมการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนได้ไหมค่ะ
3. ดิฉันต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดหรือที่กระทรวงศึกษาธิการไหมค่ะ
คำตอบ (เมื่อ 3 ตุลาคม 2555)
1. ทำน่ะทำได้ แต่ถ้าจะไปเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือเป็นผู้อำนาจบริหาร ก็ต้องระวังเรื่องวินัยไว้ด้วย
2. ดูข้อ 1.
3. จะมัวไปฟังคนอื่นอยู่ทำไม เมื่อเป็นครู ก็ต้องไปเปิดดูกฎหมายว่าด้วยครู ว่าเขากำหนดเรื่องวินัยไว้ว่าอย่างไรบ้าง ความรู้ไม่ว่าจะสาขาอะไร หากรู้ไว้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและแก่ลูกศิษย์เสมอ สมัยก่อนอาจลำบากเพราะไม่รู้จะไปค้นดูที่ไหน แต่สมัยนี้เข้าไปดูในอินเตอร์เนท เขามีกฎหมายทุกชนิดให้เปิดดูได้ คนตอบคำถามนี้ก็ไม่ได้จำกฎหมายได้ทั้งหมดหรอก เมื่อเวลาชาวบ้านถามมา ก็ต้องเข้าไปเปิดตรวจสอบดูให้แน่ใจเสียก่อน สำหรับคุณครูนั้น ถ้าไปเปิดตรวจให้ ครูก็จะได้แต่สิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง ไม่ได้ความรู้จากต้นตอ จึงต้องให้ไปเปิดดู ในหมวดว่าด้วยจรรยาบรรณหรือวินัยของครู