บุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือน ของชาวอีสานนิยมทำกันในเดือน 6 (พฤษภาคม) อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ และบูชาพญาแถน (พระอินทร์) ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ตำนานพื้นบ้านอีสานเล่าถึงเรื่องพญาคันคากรบกับพญาแถน ไว้ดังนี้
ตำนานพื้นบ้านอีสาน เรื่อง พญาคันคาก
เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พระกุมารประสงค์จะได้พระชายาที่มีสิริโฉมงดงาม แต่พญาเอกราชได้ห้ามปรามไว้ ด้วยทรงอับอายในรูปกายของท้าวคันคาก แต่ท้าวคันคากก็ไม่ย่อท้อ ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์ ด้วยบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนของท้าวคันคาก พระอินทร์จึงเนรมิตปราสาทพร้อมทั้งประทานนางอุดรกุรุทวีป ผู้เป็นเนื้อคู่ให้เป็นชายา ส่วนท้าวคันคากเอง ก็ถอดรูปกายคันคากออกให้ กลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม
พญาเอกราชยินดีกับพระโอรส จึงสละราชบัลลังก์ให้ครองเมืองต่อ ทรงพระนามว่า พญาคันคาก พญาคันคากตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเดชานุภาพเป็นที่เลื่องลือ จนเมืองน้อยใหญ่ต่างมาสวามิภักดิ์ แต่ก็ทำให้มีผู้เดือดร้อน คือพญาแถนผู้อยู่บนฟากฟ้า เพราะมนุษย์หันไปส่งส่วยให้พญาคันคากจนลืมบูชาพญาแถน จึงแกล้งงดสั่งพญานาคให้ไปให้น้ำในฤดูทำนา ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองจึงไปร้องขอพญาคันคากให้ช่วย
พญาคันคากจึงเกณฑ์กองทัพสัตว์มีพิษทั้งหลาย ได้แก่ มด ผึ้ง แตน ตะขาบ กบ เขียด เป็นอาทิ ทำทางและยกทัพขึ้นไปสู้กับพญาแถน โดยส่งมดปลวกไปกัดกินศัตราวุธของพญาแถนที่ตระเตรียมไว้ก่อน ทำให้เมื่อถึงเวลารบ พญาแถนไม่มีอาวุธ แม้จะร่ายมนต์ ก็ถูกเสียงกบ เขียด ไก่ กา กลบหมด เสกงูมากัดกินกบเขียด ก็โดนรุ้ง (แปลว่าเหยี่ยว) ของพญาคันคากจับกิน ทั้งสัตว์มีพิษก็ยังไปกัดต่อยพญาแถนจนต้องยอมแพ้ในที่สุด
พญาคันคากจึงเริ่มเจรจาต่อพญาแถน ขอให้เมตตาชาวเมือง ประทานฝนตามฤดูกาลทุกปี พญาแถนแสร้ง “งานยุ่ง อาจลืมวันเวลา” พญาคันคากจึงทูลเสนอว่าจะให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟขึ้นมาเตือน พญาแถนก็เห็นชอบด้วย จึงทำสัญญาต่อกันว่า
1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
3. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกเดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบเขียดคางคกที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน และเมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะมีการเล่นว่าว ตอนกลางดึกมักจะได้ยินเสียงสนู
บั้งไฟและประเพณีบุญบั้งไฟ
สมัยที่ผมเป็นเด็ก ได้มีโอกาสเป็นลูกมือของพ่อ (และทดลองทำเองด้วย) ในการหาไม้ต้นลิ้นฟ้า และปอหู มาเผาทำเป็นถ่านสำหรับคั่วผสมกับดินประสิว ตำให้ละเอียด ทดสอบดูความเร็วของการปะทุ ด้วยการนำมาโรยเป็นทางยาวแล้วจุดไฟ สมัยนั้น ตัวบั้งไฟทำจากไม้ไผ่ (ปัจจุบันใช้ท่อเหล็กหรือท่อพีวีซี) ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้หวายหรือลวดมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยจุกไม้หนา แล้วทำการอัดดินปืนให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด อัดกับต้นไม้ สำหรับขนาดการทำบั้งไฟ มีหลักกำหนดว่า
1. บั้งไฟร้อย มีน้ำหนักดินปืน(ดินดำ) ประมาณ 3 ก.ก.
2. บั้งไฟหมื่น มีน้ำหนักดินปืน(ดินดำ) ประมาณ 12 ก.ก.
3. บั้งไฟแสน มีน้ำหนักดินปืน(ดินดำ) ประมาณ 120 ก.ก.
4. บั้งไฟล้าน มีน้ำหนักดินปืน(ดินดำ) ประมาณ 500 ก.ก
ประเพณีบุญบั้งไฟ ปกติจัดงาน 2 วัน วันแรกคือ วันแห่บั้งไฟสวยงาม วันที่ 2 เป็นการจุดบั้งไฟขึ้นสูง โดยใช้เวลาเป็นตัวเทียบ จับเวลาจากบั้งไฟขึ้นจากฐานจนตกสู่พื้นดิน หากบั้งไฟพ่นดินปืนออกมาแต่ไม่ขึ้น หรือแตก เจ้าของบั้งไฟก็จะถูกจับโยนลงตม(โคลน) เป็นที่สนุกสนาน และหากบั้งไฟแตกก็จะเป็นอันตรายมาก จนทำให้ร่างกายฉีกขาดเสียชีวิต
ถ้าพูดถึงการจัดงานบุญบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ ต้องที่จังหวัดยโสธร เพราะได้จัดสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ความพิเศษของงานบั้งไฟของชาวยโสธร ไม่เพียงแต่โด่งดังในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังโด่งดังไกลไปถึงชาวเมืองโยชิดะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ประชากรส่วนหนึ่งยังคงมีอาชีพทำนา และมีประเพณีการจุดบั้งไฟ คล้ายกับจังหวัดยโสธร แต่ในความคล้ายก็มีความต่าง เพราะการจุดบั้งไฟของชาวโยชิดะเป็นไปเพื่อการอวยพรและขอบคุณพระเจ้าที่บันดาลให้ฝนตก และบั้งไฟของเขาจะเน้นการตกแต่งที่ความสวยงามมากกว่า การขึ้นของบั้งไฟจึงไม่สูง ขบวนแห่เรียบง่าย และทำในเดือนตุลาคมของทุกปี จนพัฒนาไปสู่การทำความตกลงระหว่างโยชิดะและยโสธร ให้เป็นเมืองคู่แฝด เมื่อ 8 พฤษภาคม 2542
จะเห็นได้ว่า การทำบั้งไฟ และประเพณีบุญบั้งไฟ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย และมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดี โดยต้นทุนทางปัญญา บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมมานาน และมีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่เราจะสามารถต่อยอดสิ่งที่เรามี เปลี่ยนจากบั้งไฟที่จุดทิ้ง มีความสุขปีละครั้ง มาเป็น “จรวดบั้งไฟ” ที่จะทำให้ไทยก้าวไกลด้านเทคโนโลยีจรวด เป็นจ้าวอวกาศได้หรือไม่ อย่างไร? [โรเบิร์ต ฮัตชิงส์ ก็อดการ์ด(ค.ศ.1882) ชาวสหรัฐอเมริกา เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ได้มีความมานะพยายามในการคิดค้นและประดิษฐ์จรวดอย่างจริงจัง โดยหันมาใช้ของเหลว (ออกซิเจนเหลวผสมก๊าซโซลีน) เป็นเชื้อเพลิงแทนดินประสิว จนจรวดเคลื่อนที่ด้วยความเร็วขึ้นสูงถึง 60 ไมล์/ชั่วโมง ต่อมาก็ได้ปรับปรุงอีก จนจรวดนั้นพุ่งขึ้นสูงถึง 2,000 ฟุต ด้วยความเร็ว 500 ไมล์/ชั่วโมง และครั้งสุดท้ายขึ้นสูง 7,500 ฟุต ด้วยความเร็ว 550 ไมล์/ชั่วโมง] จึงขอฝากเป็นการบ้านให้ช่วยกันขบคิดพิจารณาดู เพื่อใช้เป็นพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ เทคโนโลยีอวกาศขั้นสูงต่อไป
นอกจากนี้ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) ได้ดำเนินการจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก” ที่ จังหวัดยโสธร เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์คางคก (ขี้คันคาก) และยังเกี่ยวข้องกับตำนานประเพณีบุญบั้งไฟของจังหวัดยโสธรด้วย (เรียกว่าลงตัวทั้งเหตุและผล ทั้งวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม) และที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์คางคก ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ในภาคอีสานที่น่าสนใจ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งด้วย มาจังหวัดยโสธร อย่าลืมมาเที่ยวนะครับ
คลิป การจุดบั้งไฟเล็ก ของชุมชน บ้านโนนจำปา-หนองแคน-ยางเตี้ย
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบการเรียบเรียงจาก
1. http://lang4fun.blogspot.co.nz/2004/12/blog-post_09.html
2. https://sites.google.com/site/asdfggfdsasdf/aa
3. ภาพประกอบ 1 จาก http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/223/15223/images/bangfai/10100610_resize.JPG