การออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน เป็นการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด เป็นเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ การจัดทำหน่วยการเรียนรู้อิงมาตรฐาน เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด เป็นเป้าหมายการเรียนรู้ของหน่วยฯ ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน ครูผู้สอนจะต้อง ดำเนินการดังนี้
1. จัดทำโครงสร้างรายวิชา
2. การออกแบบการจัดการเรียนรู้ โดยเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้เทคนิค Backward Design ซึ่งมี 3 ขั้นตอน ได้แก่
2.2 กำหนดหลักฐานที่เป็นผลการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่กำหนด (ออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ และกำหนดชิ้นงาน/ภาระงาน)
2.3 ออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามเป้าหมายที่กำหนด (โดยตรวจสอบผลการจัดการเรียนรู้จาก “หลักฐานที่เป็นผลการเรียนรู้” )
การจัดทำโครงสร้างรายวิชา
เมื่อได้รายวิชาลงโครงสร้างของหลักสูตรสถานศึกษาเรียบร้อยแล้ว ครูผู้สอนต้องจัดทำโครงสร้างรายวิชาโดยดำเนินการ ดังนี้
1. วิเคราะห์ตัวชี้วัดทั้งหมดในคำอธิบายรายวิชานั้นๆ
2. จัดกลุ่มตัวชี้วัดที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันแล้วตั้งชื่อหน่วยการเรียนรู้
3. กำหนดสาระสำคัญของแต่ละหน่วยการเรียนรู้
4. กำหนดจำนวนชั่วโมง และคะแนนสำหรับแต่ละหน่วยให้เหมาะสม(รวมตลอดปี/ภาคเรียนเท่ากับที่กำหนดในโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา)
การออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 สพฐ. แนะนำ ให้ใช้การออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค Backward Design ซึ่งมี 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ได้แก่
ขั้นที่ 1. กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ ของหน่วยการเรียนรู้ ในส่วนนี้คือ การกำหนดส่วนเริ่มต้นของแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
– ชื่อหน่วยการเรียนรู้
– เป้าหมายการเรียนรู้
– สาระสำคัญ (นำมาจากโครงสร้างรายวิชา)
– ตัวชี้วัด (นำมาจากโครงสร้างรายวิชาเขียนรหัสและรายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัด)
– คุณลักษณะของวิชา (นำมาจากตารางการวิเคราะห์ตัวชี้วัดเพื่อจัดทำคำอธิบายรายวิชา หรืออาจจะเลือกคุณลักษณะที่สำคัญและเด่น กำหนดเป็นคุณลักษณะของหน่วยฯ)
– สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน (จากหลักสูตรฯ) ความสามารถในการสื่อสาร, ความสามารถในการคิด, ความสามารถในการแก้ปัญหา, ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต, ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
– คุณลักษณะอันพึงประสงค์ (8 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ จากหลักสูตรฯ) ได้แก่ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์, ซื่อสัตย์สุจริต, มีวินัย, ใฝ่เรียนรู้, อยู่อย่างพอเพียง,มุ่งมั่นในการทำงาน,รักความเป็นไทย, มีจิตสาธารณะ
ขั้นที่ 2. กำหนดหลักฐานที่เป็นผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามเป้าหมายการเรียนรู้ที่กำหนด (โดยในหน่วยการเรียนรู้หนึ่งๆ อาจมีหลายหลักฐานการเรียนรู้ เช่น เรื่อง ไฟฟ้ากระแสตรง คุณครูอาจตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ไว้ 4 ประการ และต้องมีหลักฐานการเรียนรู้ของแต่ละเป้าหมายการเรียนรู้อย่างน้อย 1 อย่างหรืออาจจะมีมากกว่า 1 อย่างก็ได้ เพื่อเป็นการยืนยัน สร้างความมั่นใจให้กับครูผู้สอนว่า ผู้เรียนมีความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ จริง หรือหลักฐานที่เป็นผลการเรียนรู้ 1 อย่าง อาจจะตอบได้หลายเป้าหมายการเรียนรู้ก็ได้) โดยชิ้นงานและภาระงานต่างๆ จำแนกได้ดังนี้
2.1 ชิ้นงาน/ภาระงานโดยรวม ที่เป็นหลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนมีความเข้าใจตามเป้าหมายของหน่วยการเรียนรู้
2.2 ชิ้นงาน/ภาระงานที่เป็นหลักฐานว่ามีความเข้าใจตามเป้าหมายที่เป็นตัวชี้วัด คุณลักษณะ สมรรถนะสำคัญ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ขั้นที่ 3 ออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมีแนวดำเนินการ ดังนี้
1. จัดลำดับหลักฐานการเรียนรู้ โดยนำหลักฐานที่เป็นผลการเรียนรู้ทั้งหมดที่ระบุในในขั้นที่ 2 (หลักฐานที่ซ้ำกัน ให้นำมาจัดลำดับครั้งเดียว) ตามลำดับ ตามที่ครูผู้สอนจะทำการสอนผู้เรียน จนจบหน่วยการเรียนรู้
2. ออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยนำหลักฐานการเรียนรู้ ที่เป็นผลการเรียนรู้เป็นหลักในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนทำภารกิจ หรือผลิตผลงาน/ชิ้นงานได้ตามที่กำหนดใน ขั้นที่ 2 ด้วยตัวของผู้เรียนเอง โดยครูเป็นคนกำหนดกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเข้าใจ แล้วทำงานได้บรรลุเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ของหน่วยฯที่กำหนด
จากนั้น ครูผู้สอนจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ตามองค์ประกอบของแผน ทั้งนี้อาจใช้แนวทางการเขียนแผนการสอนของศูนย์การเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (ศวคท.) ก็ได้ ซึ่งมีส่วนประกอบในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ มีดังนี้
1. หัวแผนแผนการจัดการเรียนรู้
– ลำดับที่ของแผน เช่น แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1
– ชื่อเรื่องและจำนวนชั่วโมงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของแผน
– ลำดับที่ของสาระ หน่วย ชื่อหน่วย เรื่องที่สอน
– ชื่อกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือชื่อวิชาและชั้นที่เรียน
– มาตรฐานการเรียนรู้
2. ตัวแผนการจัดการเรียนรู้
– เป้าหมายการเรียนรู้
– หลักฐานการเรียนรู้ หรือ ชิ้นงาน/ภาระงาน
– สาระสำคัญ/แนวคิดหลัก (อาจไม่ต้องมีก็ได้ แต่ต้องลงรายละเอียดในส่วนเนื้อหา)
– ตัวชี้วัด หรือ ผลการเรียนรู้
– จุดประสงค์การเรียนรู้
– สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน (หรือ ทักษะทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการเน้น)
– คุณลักษณะอันพึงประสงค์ (หรือคุณธรรมที่ต้องการเน้น)
– สาระการเรียนรู้ /เนื้อหา (อาจไม่ต้องมีก็ได้ แต่ต้องลงรายละเอียดในสาระสำคัญ)
– กระบวนการเรียนรู้ / กิจกรรมการเรียนรู้
– สื่อ/นวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้
– การวัดผลและประเมินผล
– กิจกรรมเสนอแนะ
3. ท้ายแผนการจัดการเรียนรู้
– ความเห็นและข้อเสนอแนะของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้/หัวหน้ากลุ่มบริหารวิชาการ / รองผู้อำนวยการสถานศึกษา/ผู้อำนวยการสถานศึกษา
– บันทึกหลังการจัดการเรียนรู้ อาจประกอบด้วยผลการใช้แผนฯ สรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ปัญหา/อุปสรรค ข้อเสนอแนะ ครูผู้สอนลงนาม / ผู้บริหารลงนาม
– เอกสารประกอบท้ายแผน เช่น สื่อ/นวัตกรรม ใบงาน ใบความรู้ แบบทดสอบ /เครื่องมือวัดผลประเมินผล ให้แนบไว้ท้ายแผน
เมื่อพิจารณาแนวทางการเขียนแผนการสอนของศูนย์การเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (ศวคท.) แล้วจะพบว่า สามารถเปลี่ยนแผนของ ศวคท. เป็นแผนการจัดการเรียนรู้แบบ Backward Design ง่ายๆ โดยการที่คุณครูแต่ละท่านพิจารณาว่า ในการเรียนรู้ในแผนการสอนนั้นๆ คุณครูมีเป้าหมายการเรียนรู้อย่างไร และเมื่อเรียนจบแล้วหลักฐานการเรียนรู้ที่มี หรือชิ้นงานภาระงานของนักเรียนคืออะไร (คุณครูสามารถออกแบบได้ด้วยตนเอง ทั้งสองส่วนไม่เกินสี่บรรทัด เท่านั้น) จึงถือว่าเป็นการตอบคำถามคุณครูหลายท่านด้วยว่า จะเขียนแผน Backward Design อย่างไร (ผมขอตอบง่ายๆ คือ เขียนแบบเดิม (ที่จริงจะเขียนตามที่ทฤษฎีข้างต้นบอกมาก็ได้ โดยการสังเคราะห์เนื้อหาในหนังสือเรียน แล้วสร้างหน่วยการเรียนรู้ขึ้นมาใหม่ แต่แบบนั้นเหนื่อยเกินไป เหมาะสำหรับท่านที่กำลังจะทำผลงานทางวิชาการ หรือเรียนระดับปริญญาโท) เอาอันเดิมของ ศวคท. มาปรับ โดยกำหนดว่า เรียนจบแล้วนักเรียนต้องทำอะไร สร้างชิ้นงานหรือภาระงานอะไร
ยกตัวอย่างเช่น การเรียนเรื่อง ฟิสิกส์นิวเคลียร์ เป้าหมายการเรียนรู้ คือ นักเรียนสรุปความคิดรวบยอดเรื่องฟิสิกส์นิวเคลียร์ โดยมีการใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์และสรุปความรู้ หลักฐานการเรียนรู้ คือ หนังสั้นที่สะท้อนความรู้เกี่ยวกับ การแผ่รังสีของสารกัมมันตรังสี, การเก็บรักษากากกัมมันตรังสีให้ปลอดภัย และการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย เป็นต้น และแผนการจัดการเรียนรู้ของ ศูนย์การเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (ศวคท.) ก็ตอบสนองต่อแผนแบบสืบเสาะหาความรู้ ที่สามารถปรับเป็น Backward Design ได้ตามบริบทและความพร้อมของคุณครูแต่ละคน และนักเรียนแต่ละโรงเรียนได้เลยครับ ดังนั้น แผน Backward จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย
หมายเหตุ : แผนการสอน หรือ แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ที่ครูศักดิ์อนันต์ อนันตสุข จัดทำขึ้น จะอิงตามแนวทางการเขียนแผนการสอนข้างต้นนี้ ตามไปดูที่ >> [ซีดีผลงานแผนการจัดการเรียนรู้ของ ศวคท.]
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://science.rru.ac.th/cooperative/images/img/h2.png