อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ 5 ประเทศสมาชิก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้มีการลงนามร่วมกัน ที่วังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อให้ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อยกระดับการครองชีพและฐานะทางเศรษฐกิจ และความเจริญในทางเทคนิค วิชาการร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก
ทั้งนี้ ผู้แทนทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วย นายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย) ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย) นายนาซิโซ รามอส (รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์) นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์) และพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีต่างประเทศไทย)
ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่าง ๆ เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (เป็นสมาชิกเมื่อ 8 ม.ค.2527) เวียดนาม (วันที่ 28 ก.ค. 2538) สปป.ลาว และ พม่า (วันที่ 23 ก.ค. 2540) และ กัมพูชา (วันที่ 30 เม.ย. 2542) ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ
ต่อมา ได้มีการกำหนดให้ วันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบวันก่อตั้งสมาคมอาเซียน ถือเป็นวันสำคัญในการจัดกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ในแต่ละประเทศสมาชิก และในปัจจุบันได้มีการเรียกชื่อ วันก่อตั้งสมาคมอาเซียน โดยย่อว่า “วันอาเซียน” เพื่อให้สะดวกต่อการจดจำ
การจัดกิจกรรมวันอาเซียนในสถานศึกษา : ดำเนินการโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อาจมีกิจกรรมตอบปัญหา แต่งชุดอาเซียน การแสดงวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นของชาติสมาชิกอาเซียน เป็นต้น
ภาพประกอบจาก : http://hilight.kapook.com/img_cms2/user/rungtip/varaity/headaseanday.jpg