[ฮีตอีสาน] ประเพณีการเลี้ยงปู่ตา กรณีการเลี้ยงบุญบ้าน เลี้ยงปู่ตาเจ้าพ่อคำสิงห์ บ้านโนนจำปา [ขึ้น 6 ค่ำเดือน 6]

Puta1การเลี้ยงปู่ตา หรือ การเลี้ยงบุญบ้าน เป็นความเชื่อของชาวบ้านในเรื่องผีบรรพบุรุษของชุมชน (หมู่บ้าน) ที่ให้ความคุ้มครองดูแลรักษาบ้านให้ปลอดภัย ร่มเย็น จะทำพิธีเลี้ยงก่อนเริ่มฤดูกาลทำนา เพื่อให้บังเกิดความอุดมสมบูรณ์ และเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษเจ้าที่เจ้าทางที่ล่วงลับไปแล้ว

การเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงปู่ตา จะทำกันในเดือนหก โดย “เฒ่าจ้ำ” (ผู้อาวุโสของหมู่บ้านและเป็นผู้นำในการทำพิธีเลี้ยงปู่ตา) จะเป็นผู้กำหนดเอาวันใดวันหนึ่ง ระหว่างเดือน 6-7 ซึ่งในกรณีการเลี้ยงปู่ตา ศาลเจ้าพ่อคำสิงห์ ของชุมชนบ้านโนนจำปา ต.ธาตุ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ จะกำหนดเอา วันขึ้น 6 ค่ำเดือน 6

เมื่อกำหนดวันได้แล้ว เฒ่าจ้ำก็จะบอกชาวบ้านให้ตระเตรียมอาหารคาวหวานมาเลี้ยงปู่ตา พร้อมทั้งแนะนำให้ชาวบ้านสะเดาะเคราะห์ร้ายของครอบครัวตนเองไปให้พ้นด้วย ก่อนวันเลี้ยงปู่ตา ชาวบ้านจะไปทำความสะอาดศาลปู่ตา และบริเวณรอบ ๆ ที่ดอนปู่ตา

Puta2เช้าวันเลี้ยงปู่ตา ชาวบ้านทุกหลังคาเรือน จะนำเครื่องเลี้ยง มี ขัน 5 เทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ หรือ ขัน 5 มีเทียน 8 คู่ ดอกไม้ 8 คู่ อาหารคาว ข้าว แจ่ว และอาหารที่หาได้ตามท้องถิ่น อาหารหวาน ผลไม้ ขนม น้ำ เหล้า หมากพลู บุหรี่ โดยทั่วไปก็จะมีข้าวถ้วยเล็กพร้อมกับไข่เสี่ยงทาย ไปที่ศาลปู่ตา เฒ่าจ้ำจะนำเซ่นไหว้ปู่ตา เมื่อเสร็จพิธีจะนำอาหารกลับไปกินที่บ้านหรือกินที่หอปู่ตาก็ได้

ในช่วงของการเลี้ยงปู่ตา จ้ำเชิญปู่ตาเข้าทรงนางเทียม (หญิงทรงเจ้า) จ้ำจะขอคำทำนายความเป็นอยู่ของบ้านจากปู่ตา ปู่ตาทำนายและเป่าน้ำให้เป็นสิริมงคล เมื่อปู่ตาออกจากร่างนางเทียมก็เสร็จพิธีเสี่ยง จากนั้นจะก็เป็นการเลี้ยงปู่ตา โดยนำอาหารคาวหวาน และไข่เสี่ยงทายจากแต่ละครอบครัว ๆ ละนิดหน่อยรวมกัน ใส่ภาชนะเลี้ยงปู่ตา ระหว่างนี้ มีการสาดน้ำใส่หลังคาศาลเจ้า เพื่อเป็นพิธีว่า ปีนี้ฝนฟ้าจะดี นอกจากนี้บางท้องถิ่นมีการจุดบั้งไฟเสี่ยง เพื่อเสี่ยงทายว่า ฝนฟ้าจะดีหรือไม่ดี ถ้าบั้งไฟขึ้นแสดงว่าฝนดี บั้งไฟเสี่ยงไม่ขึ้นแสดงว่าฝนจะแล้ง

ชมคลิป เลี้ยงปู่ตา ศาลเจ้าพ่อคำสิงห์ 2558




Leave a Comment