[แนวทาง] คู่มือการประเมินครูผู้สอน เกณฑ์การประเมินครูผู้สอน แนวทางการประเมินครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์

science-educationวีเบอร์ (Weber, 1974) ได้กล่าวถึงเกณฑ์การประเมินครูผู้สอนว่า ควรมี 3 เกณฑ์ ดังนี้
1. เกณฑ์การวัดผลความรู้ (Knowledge Criteria) เป็นการประเมินทางด้านความรู้ความเข้าใจของครูเกี่ยวกับหลักสูตร เนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์(ฟิสิกส์) ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์และเจตคติทางด้านวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
2. เกณฑ์การวัดผลการปฏิบัติงาน(Performance Criteria) เป็นการประเมินผลด้านการปฏิบัติการสอน การใช้เทคนิควิธีสอน การใช้สื่อการสอน การใช้จิตวิทยาการเรียนการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน ฯลฯ
3. เกณฑ์การวัดผลการสอน (Consequence Criteria) เป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ทั้งด้านเนื้อหา ทักษะ เจตคติทางด้านวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

จากเกณฑ์การประเมินครูผู้สอนดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มีบุคคลเกี่ยวข้องในการประเมินผล 3 ฝ่าย ดังนี้
1. นักเรียน เป็นฝ่ายที่สะท้อนพฤติกรรมของครูทั้งด้านความรู้ ทักษะและเจตคติ ข้อมูลที่ได้จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมิน
2. ผู้นิเทศการสอน ซึ่งอาจเป็นศึกษานิเทศ อาจารย์ใหญ่ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการ หัวหน้าหมวดวิทยาศาสตร์ หรือกลุ่มครูที่ที่มีความรู้และร่วมในโครงการนิเทศการสอน บุคคลเหล่านี้จะทำหน้าที่สังเกตการสอนและให้ข้อเสนอแนะ
3. ครูผู้สอน เช่นการประเมินตนเองจากเทปบันทึกภาพ เทปบันทึกเสียง รวมไปถึงการสะท้อนตนเอง

แนวทางการประเมินผลครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์
กระทรวงศึกษาธิการ ได้เห็นชอบในหลักการและวีธีกำหนดให้ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานการสอน สายการบริหารในสถานศึกษาและสายงานนิเทศการศึกษา ดำรงตำแหน่งหรือได้รับเงินเดือนสูงขึ้น โดยวิธีการประเมินผลตามสภาพจริงหรือพิจารณาจากแฟ้มสะสมงาน ซึ่ง สำนักงานข้าราชการครู (ก.ค.) ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2542 … ชิ้นงานที่เป็นไปได้ในการเก็บรวบรวมเพื่อจัดทำแฟ้มสะสมงานครู เพื่อใช้ในการประเมินครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ (ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย) มีดังนี้

1. การวางแผนหลักสูตรการสอน ชิ้นงานในส่วนนี้เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการเขียนเค้า โครงรายวิชา แผนการสอน การสอนประจำหน่วย โปรแกรมกิจกรรมเสริมหลักสูตร งานเหล่านี้จะสะท้อนทักษะในการวางแผนการสอนหรือความสามารถของครูในการใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย
2. แบบฟอร์มการประเมินผล ที่ครูสร้างขึ้นเพื่อวัดการปฏิบัติงานของนักเรียน ตัวอย่างเช่น แบบประเมินงานภาคปฏิบัติ แบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้น แบบบันทึกการสังเกต แบบประเมินแผนการสอน และรวมถึงเครื่องมืออื่นที่ใช้ประเมินผลนักเรียน ชิ้นงานส่วนนี้สะท้อนถึงความสามารถของครูต่อการประเมินภาคปฏิบัติของนักเรียน ความก้าวหน้าของนักเรียนและความสามารถในการใช้แบบทดสอบอย่างชาญฉลาด

3. รางวัลและวุฒิบัตร อันได้แก่ หนังสือรับรอง หรือจดหมายชมเชย รางวัล วุฒิบัตรหรือเกียรติบัตรที่แสดงความยอดเยี่ยมในการปฏิบัติงานในวิชาชีพ การได้รับการยกย่องจากชุมชนและการเป็นอาสาสมัคร ชิ้นงานนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นต่อวิชาชีพ
4.รูปภาพและภาพถ่าย ที่แสดงถึงความก้าวหน้าในการเรียนรู้ โครงการพิเศษ การไปทัศนศึกษานอกสถานที่ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ รวมถึงภาพการจัดป้ายนิเทศอย่างสร้างสรรค์ของครู ชิ้นงานนี้จะสะท้อนความคิดเชิงสร้างสรรค์ การใช้วัสดุหรือสื่อด้วยวิธีที่น่าสนใจสะท้อนเรื่องการกระตุ้นหรือจูงใจผู้เรียน
5. แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน อันเป็นที่รวบรวมงานของนักเรียนอย่างเป็นระบบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถจากการปฎิบัติจริงและผลสัมฤิทธิ์ของนักเรียน ชิ้นงานบางอย่างสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในแฟ้มสะสมงานของครูได้ เพราะผลงานของนักเรียนย่อมแสดงถึงความสามารถของครูเช่นกัน
6. ผลงานทางวิชาการ เช่น รายงานการวิจัยในชั้นเรียน การประดิษฐ์สื่อการเรียนการสอน การเขียนตำราเรียนวิชาฟิสิกส์ใช้ในโรงเรียน การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเรียนการสอน รวมไปถึงการเขียนบทความทางวิชาการ งานเขียนต่อการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน เผยแพร่สู่สาธารณชนทางวารสารโรงเรียนหรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ
7. แผนการพัฒนาทางวิชาชีพ เป็นแผนที่ประกอบด้วยรายการแผนระยะยาวในการพัฒนาวิชาชีพครู การปฏิบัติงานในด้านการเรียนการสอน แผนการเข้ารับการอบรมหรือเรียนรู้จากองค์กรหรือสถาบันทางวิชาชีพ รวมถึงแผนที่จะเข้าศึกษาต่อหรือเข้ารับการฝึกอบรมระยะสั้น
8. เครื่องมือการประเมินตนเอง ได้แก่ ตัวอย่างเครื่องมือที่ครูได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้นักเรียนใช้ในการประเมินตนเองทั้งในเรื่องพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ผลที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือ มาตราส่วนประมาณค่า การสำรวจหรือแบบสอบถาม รวมทั้งการแสดงความรู้สึกต่อผลงานของตน

จากตัวอย่างชิ้นงานที่ครูควรเก็บรวมรวมข้างตัน เพื่อประโยชน์ในการประเมินผลตามสภาพจริง ควรเป็นงานที่
1. สัมพันธ์กับการเรียนการสอนและวิชาชีพของครู
2. สะท้อนให้เห็นถึงการงอกงามและพัฒนาการของทักษะทางวิชาชีพครู
หากครูได้เก็บสะสมชิ้นงาน คัดเลือกและจัดทำอย่างเป็นระบบก็จะได้แฟ้มสะสมงานทางวิชาชีพที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพมากยิ่งขึ้น

หมายเหตุ : เนื้อหานี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ป.บัณฑิตวิชาชีพครู วิชา หลักสูตรและการสอนฟิสิกส์ ของนายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข



Leave a Comment