[แนะนำ] การสังเกตการสอน วิธีสังเกตการสอน สิ่งที่นักศึกษาครูฝึกสอน ต้องสังเกตในการสังเกตการสอนของครู

teaching-observationการสังเกตการสอน มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบพฤติกรรมการเรียนการสอนทั้งของครูและนักเรียน ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนระหว่างที่มีกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และพิจารณากำหนดยุทธวิธีการสอนและพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครู แบ่งได้ 2 แบบ คือ
1. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) คือ การที่ผู้สังเกตทำตัวให้เป็นสมาชิกในห้องเรียน คลุกคลี และมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนจะช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุด แบ่งได้ 3 แบบ คือ
(1) แบบมีส่วนร่วมสมบูรณ์ (Complete Participant)
(2) แบบมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกต (Participant as Observation)
(3) แบบไม่มีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์ (Observation as Participant)

2. การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non- Participant Observation) คือ การที่ผู้สังเกตทำการสังเกตโดยไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในชั้นเรียน กล่าวคือ ไม่ได้ทำการสอนและไม่ได้เรียนเหมือนผู้เรียน แบ่งได้ 2 แบบ คือ
(1) สังเกตโดยไม่ให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว
(2) สังเกตโดยผู้ถูกสังเกตรู้ตัว

สิ่งที่ต้องสังเกตในการสังเกตการสอน
1. พฤติกรรมการสอนของครูและพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน
2. การจัดการในชั้นเรียน เทคนิควิธีที่ครูสร้างบรรยากาศเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน
3. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชั้นเรียน ระหว่างครูกับนักเรียนและนักเรียนกับนักเรียน
4. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการสอนของนักเรียน เช่น การถามและตอบคำถาม การพูดคุยสนทนา การทำงานที่ได้รับมอบหมาย
5. ความแตกต่างในด้านสถานที่ สภาพแวดล้อมและฐานะทางเศรษฐกิจของนักเรียน
6. ความแตกต่างของบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งแบบถาวรและแบบชั่วคราว
7. ความแตกต่างด้านปฏิสัมพันธ์ของบุคคล เวลา สถานที่

เครื่องมือที่ใช้ในการสังเกตการสอน
เครื่องมือสังเกตการสอน สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือสถานการณ์ในการเรียนการสอนและนำมาวิเคราะห์เพื่อให้คุณค่าและพิจารณาปรับปรุงลักษณะที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือประเภทนั้นๆ แบ่งเป็น 2 ระบบ ดังนี้
1. ระบบการจัดแยกประเภทพฤติกรรม
1.1 เครื่องมือสังเกตกระบวนการสอนของครู สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการกำหนดพฤติกรรมการสอนของครู สาระสำคัญประกอบด้วย พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมในการเรียน การใช้ความรู้ใหม่ การใช้สื่อการสอน การตรวจสอบความรู้ การควบคุมและการเสริมแรง เป็นต้น
1.2 เครื่องมือสังเกตพฤติกรรมทางวาจา เป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อใช้บันทึกพฤติกรรมการมีปฎิสัมพันธ์ทางการพูดระหว่างครูกับนักเรียนในลักษณะต่างๆ ซึ่งอาจเป็นการพูดเพื่ออธิบายชี้แจงแสดงเหตุผล พูดเพื่อเสริมแรง เพื่อโน้มน้าวชักจูง กระตุ้นยั้วยุ พูดเพื่อสรุปบทเรียน เป็นต้น
1.3 เครื่องมือสังเกตพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของครู เพื่อใช้ในการปรับปรุงพฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายของครู ให้มีความเหมาะสม รายละเอียดของเครื่องมือประกอบด้วยรายการพฤติกรรมเพื่อผู้นิเทศและครูได้ร่วมกันพิจารณากำหนดว่า จะสังเกตเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมด้านใดบ้าง
1.4 เครื่องมือสังเกตสถานการณ์การสอนในชั้นเรียน อันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพอื่นๆ ที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข

2. มาตราส่วนประเมินค่า
– บันทึกพฤติกรรมที่มีช่วงเวลาที่มากในการปะทะสังสรรค์ทางสังคมของกลุ่ม
– ประเมินค่าหลังเหตุการณ์สิ้นสุดลงโดยการประเมินอารมณ์ที่เกี่ยวข้อง

เทคนิคที่ใช้ในการสังเกตการสอน
1. สังเกตและจดบันทึกสิ่งที่มองเห็นอย่างรวดเร็ว
2. สังเกตและจดบันทึกเหตุการณ์ที่สะดุดตา
3. สังเกตสิ่งที่ขัดแย้งหรือสิ่งที่แปลก

หลักในการสังเกตการสอน
1. ต้องรอบรู้ในสิ่งที่จะสังเกต โดยศึกษาข้อมูลนั้นๆ มาก่อนล่วงหน้า
2. มีจุดมุ่งหมายในการสังเกตที่แน่นอน มีขอบเขตเรื่อง และระยะเวลาในการสังเกตชัดเจน
3. มีระบบในการสังเกตที่ดี มีความตั้งใจ ไม่สังเกตแต่เพียงผิวเผิน
4. ทำให้เป็นเชิงปริมาณเพื่อสะดวกต่อการแปลความหมาย
5. บางเรื่องต้องทำการสังเกตหลายครั้งเพื่อหาข้อสรุป
6. วางตัวเป็นกลางไม่ลำเอียงบันทึกเหตุการณ์ตามการรับรู้

ข้อดีของการสังเกตการสอน
1. ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ไม่สามารถรวบรวมโดยเครื่องมืออย่างอื่น
2. ช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ
3. สามารถบันทึกข้อความจริงในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์นั้น

ข้อจำกัดของการสังเกตการสอน
1. บางกรณีกระทำได้ไม่สะดวก เช่น เรื่องส่วนตัว
2. บางกรณีทำไม่ได้ทุกแง่มุม
3. บางกรณีทำไม่ได้เพราะขณะสังเกตไม่เกิดพฤติกรรม

ความรู้ข้างต้นนี้นำมาจาก งานวิชา 214 530 หลักสูตรและการสอนฟิสิกส์
จัดทำเนื้อหา (ขณะเป็นนักศึกษาฝึกสอน) โดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข (นักศึกษาโครงการ สควค. ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)



Leave a Comment