กลอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dioscorea hispida เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นไม้เถาล้มลุก เช่นเดียวกับ หัวมัน เถาอ่อนสีเขียว เถาแก่สีน้ำตาล ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินมีขนและหนาม ใบประกอบเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ แผ่นใบกว้าง ปลายใบแหลม ดอกมีกลิ่นหอม ดอกเพศผู้ไม่มีก้าน อัดรวมกันแน่นบนช่อดอก มีกลิ่นหอม ดอกเพศเมียเรียงกันอยู่ห่าง ๆ บนช่อดอก ไม่มีก้านดอกเช่นกัน มีหัวใหม่เกิดขึ้นทุกปีจากส่วนลำต้นใต้ดิน หัวมีขนาดต่างๆ กัน ค่อนข้างกลม ผิวสีฟางหรือเทา เนื้อในสีขาวถึงขาวนวล
กลอย เป็นอาหารที่มีคุณค่าและประโยชน์สามารถนำมาทานแทนข้าวได้ ในสมัยสงคราม ผู้คนที่อพยพไปซ่อนตัวกันอยู่ในป่า นอกจากข้าวแล้ว “เผือก มัน กลอย” เป็นอาหารที่สามารถหาได้ภายในป่านำมาต้มมาหุงกินแทนข้าวได้
หัวกลอย สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ แต่ก่อนนำมากินจะต้องล้างสารพิษออกให้หมด โดยฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบาง ๆ นำมาแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น โดยเกลือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารไดออสคอรีนในแผ่นกลอยได้เร็วขึ้น แต่ต้องถ่ายน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง และใช้เวลาแช่ไม่ต่ำกว่า 3 วัน หรือแช่ในน้ำไหลในลำธาร เพื่อให้น้ำชะล้างสารพิษออกให้หมด ใช้เวลาชะล้างสารพิษไม่ต่ำกว่า 7 วัน จากนั้นนำมานึ่ง คลุกกับน้ำตาลและมะพร้าวทานเป็นของหวาน หรือใช้นึ่งกับข้าวเหนียว ทำเป็นข้าวเหนียวกลอยหน้าสังขยาหรือโรยน้ำตาลป่นปนกับงาก็อร่อย หรือจะหั่นกลอยเป็นชิ้นบาง ๆ นำไปชุบแป้งทอดกินแบบกล้วยแขกอาบน้ำตาลหรือจะทำเป็นกลอยบด กลอยแผ่น ข้าวเกรียบกลอย และบัวลอยกลอย ก็อร่อยเช่นกัน
หัวกลอย มีสารจำพวกแป้งมากและมีสารพิษที่ชื่อว่าไดออสคอรีน (Dioscorine) ซึ่งเป็นสารพิษ ที่จะมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และส่งผลต่อการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ดังนั้น คนที่รับประทานกลอยที่มีสารพิษเข้าไปจึงมักมีอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และเมื่อประสาทส่วนกลางบีบหัวใจทำให้เกิดอาการ มึนเมา วิงเวียน ใจสั่น ตาพร่า อึดอัด เป็นลม และถ้ากินมากอาจทำให้ถึงตายได้หลังจากที่กินแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง
ทั้งนี้ การศึกษาพิษกลอยพบว่า ปริมาณสารพิษของหัวกลอยในแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกัน โดยกลอยจะมีพิษมากในช่วงที่กลอยออกดอก คือ ช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และจะลดลงเมื่อกลอยเริ่มลงหัวในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน
ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีวิธีการใดที่บอกได้แน่ชัดว่า กลอยหมดพิษแล้วหรือไม่ มีเพียงวิธีที่ทำและเชื่อกันมาว่า ล้างกลอยไปจนกว่าเมือกที่ผิวกลอยหมด แต่วิธีนี้ก็ยืนยันไม่ได้ 100% ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการรับประทานกลอยในช่วงฤดูฝน หันมารับประทานในช่วงฤดูร้อน น่าจะปลอดภัยกว่า และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้พบแพทย์โดยเร็วที่สุด
อ่านเพิ่มเติม >> [กลอย อร่อยซ่อนพิษ]
อ่านเพิ่มเติม >> [ฐานข้อมูลสมุนไพร : กลอย]
เรียบเรียงจาก
1. http://www.dailynews.co.th/agriculture/162687
2. http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000130201
ภาพประกอบจาก : หัวกลอย : http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/shtc/webboard/faq_files/3_1_1.jpg