วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ คู่บ้าน คู่เมืองแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่ม 123 ตอนที่ 96 ง วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้มวลสารจากพระธาตุช่อแฮ ทำพระสมเด็จจิตรลดา)
วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินเขาเตี้ยสูงประมาณ 28 เมตร (ในภาพคือ ทางขึ้นพระธาตุช่อแฮ ด้านซุ้มศรีวิชัย) องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ ศิลปะเชียงแสน แบบแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก องค์พระธาตุสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำ และชุดท้องไม้แปดเหลี่ยมซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดานหนึ่งชั้นจนถึง องค์ระฆัง แปดเหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นบัลลังค์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉนส่วนยอดฉัตรประดับ ตกแต่งด้วยเครื่อง บนแบบล้านนา มีรั้วเหล็ก รอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม
ท่านที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่ จึงควรหาโอกาสมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
สิ่งสำคัญภายในวัดพระธาตุช่อแฮ
1. พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีขาล
พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีเกิดปีเสือ (ปีขาล) พระธาตุช่อแฮ เป็นพระธาตุ 1 ใน 12 ราศี คือ เป็นพระธาตุประจำปีเกิด สำหรับคนที่เกิดปีเสือ (ปีขาล) พระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์ศิลปะแบบเชียงแสน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระธาตุสูง 33 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น กว้างด้านละ 11 เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยม ซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้นและหน้ากระดานหนึ่งชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูมีซุ้มแบบปราสาทล้านนา สวยงามมาก
2. หลวงพ่อช่อแฮ
เป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นหลังจากสร้าง องค์พระธาตุช่อแฮ แล้ว มีอายุหลายร้อยปี หน้าตักกว้าง 3.80 เมตร สูง 4.50 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทอง
3. พระเจ้าทันใจและ ไม้เสี่ยงทาย
พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้น ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูงประมาณ 2 ศอก (กว้าง 80 ซม. สูง 1.20 ซม) เป็นพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่สร้างขี้นเมื่อปี พ.ศ. 2465ผู้สร้างคือ ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) สร้างพระพุทธรูป องค์นี้ แทนพระพุทธรูปองค์เดิมที่หล่อด้วยจืน (ตะกั่ว) ที่ถูกลักไป พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ (ทางเหนืออ่านว่า พระเจ้าตันใจ๋) เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นิยมมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใครมาขอพรแล้ว จะได้สิ่งนั้น อย่างสมประสงค์ ด้านหลังซุ้มพระเจ้าทันใจประดิษฐานอยู่ มีไม้เสี่ยงทายทำด้วยไม้รวก หรือไม้สัก มีความยาวเกิน 1 วา คาดว่าใช้ แทน ไม้เซียมซี เมื่อผู้ใดต้องการเสี่ยงทายสิ่งใด ก็จะนำไม้ดังกล่าวมาทาบกับช่วงแขนที่กางเหยียดตรงไปจนสุดแขนทั้งสองข้าง ความยาวของวาอยู่ตรงจุดใดของไม้ก็จะ ทำเครื่องหมายไว้แล้วนำไม้มาอธิษฐานเบื้องหน้าพระเจ้าทันใจว่า สิ่งที่ตนประสงค์นั้น จะสำเร็จหรือไม่ หากสำเร็จก็ขอให้ความยาวของตนเลยจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ออกไป เมื่ออธิฐานเสร็จแล้ว ก็นำไม้เสี่ยงทายขึ้น มาวาอีกครั้งหนึ่ง
4. พระพุทธโลกนารถบพิตร และวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์
เป็นพระพุทธรูปปางพระนาคปรก ประดิษฐานอยู่ในวิหารศิลปะลานนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม สร้างขึ้น ในปี 2534 โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เป็นประธานเททองหล่อและเบิกพระเนตร องค์พระขนาดหน้าตักกว้าง 3.60 เมตร สูง 7 เมตร สร้างด้วยโลหะทองเหลือง ลงรักปิดทอง
5. พระเจ้าไม้สัก
สร้างด้วยไม้สักทอง หน้าตักกว้าง 33 นิ้ว สูง 87 นิ้ว เป็นศิลปสมัยล้านนา
6. พระเจ้านอน
เป็นพระพุทธรูปที่ชาวจังหวัดแพร่เคารพนับถือ ก่อนจะขึ้นไหว้องค์พระธาตุช่อแฮ ชาวบ้านมักจะแวะไหว้พระเจ้านอนก่อนเสมอ สร้าง เมื่อขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 2459 เป็นพระเจ้านอนศิลปะพม่าขนาดยาว 3.70 เมตร สูง 1.35 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทอง
7. ธรรมมาสน์โบราณ
ธรรมมาสน์โบราณ มีความสวยงามวิจิตรบรรจง ลวดลายไทยผสมศิลปะทางล้านนา ซึ่งมีนางแก้ว ทองถิ่น สร้างอุทิศให้ นายคลอง ทองถิ่น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2492 ก่อสร้างด้วยไม้สักแกะสลัก ลงรักปิดทอง
8. กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย
บรรจุอัฐิธาตุส่วนที่ 5 จากจำนวน 7 ส่วนของครูบาศรีวิชัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกบุญคุณที่ท่านได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
9. บันไดนาคโบราณ
ภายในวัดพระธาตุช่อแฮมีบันไดนาค อยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ 1 ด้าน รวม 5 บันได ซึ่งล้วนมีความยาวและจำนวนขั้นไม่เท่ากัน
10. เจ้ากุมภัณฑ์
มีความเชื่อว่า นาคที่เฝ้าบันไดกุมภัณฑ์ ด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุช่อแฮ ชอบหนีออกไปเล่นน้ำที่ลำน้ำแม่สาย หมู่บ้านใน เป็นประจำ ชาวบ้านจึงสร้างเจ้ากุมภัณฑ์นั่งทับขดหางนาคไว้ เพื่อมิให้หนีไปเล่นน้ำอีก
11. แผ่นศิลาจารึก
ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระเจ้าทันใจ จารึกเรื่องราวการสร้างบันไดด้านทิศตะวันตก
12. สวนรุกขชาติช่อแฮ
ตั้งอยู่ที่ดินของวัด มีพื้นที่ 52 ไร่ เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาพันธุ์ไม้ มีต้นไม้นานาพันธุ์กว่า 1,000 ชนิด
ประวัติการก่อสร้างพระธาตุช่อแฮ
ชื่อพระธาตุช่อแฮมาจากความเชื่อว่า ขุนลัวะอ้ายก้อมได้นำผ้าแพรมาถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะมีพระชนม์ชีพ ได้เสด็จมายังที่แห่งนี้ (ตำนานพระธาตุช่อแฮ) หรือชาวบ้านได้นำผ้าแพรชั้นดีทอจากสิบสองปันนามาผูกบูชาพระธาตุ คำว่า “แฮ” เพี้ยนมาจากคำว่า “แพร” แปลว่าผ้าแพร
พระธาตุช่อแฮ สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยระหว่างจุลศักราช 586-588 (พ.ศ.1879-1881) ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ จากนั้นได้จัดงานสักการะ 7 วัน 7 คืน และในปี พ.ศ. 2467 ครูบาศรีวิชัย ได้มาเป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2532
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือรับรองสภาพวัดไว้ว่า วัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.1900
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 1910 ตามหนังสือ ที่ พ.ศ. 0003/526 ลงวันที่ 24 มกราคม 2548
จังหวัดแพร่ ได้จัดงานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ โดยยึดถือตามจันทรคติ ในระหว่าง วันขึ้น 9 ค่ำ – ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปีโดยใช้ชื่องานว่า “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง” การจัดงานมีขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ประกอบด้วย ริ้วขบวนของทุกอำเภอ การฟ้อนรำ ขบวนช้างเจ้าหลวง และเครื่องบรรณาการ ขบวนแห่กังสดาลขบวนแห่หมากเป็ง ขบวนต้นผึ้ง ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศี ซึ่งประกอบด้วยขบวนตุง 12 ราศี ขบวนข้าวตอกดอกไม้ ต้นหมาก ต้นผึ้ง ต้นดอก ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศี ขบวนกังสดาล ขบวนตุงขบวนฟ้อนรำ การเทศน์และมีการเทศน์และฟังเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดก ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน
วันสุดท้ายของงาน ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนต่างร่วมใจกันนำอาหารไปทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์บริเวณลานพระธาตุ ตอนสายๆ กลุ่มผู้คนที่มาทำบุญตักบาตรบางส่วนอาจเดินทางไปที่พระธาตุดอยเล็ง (อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุช่อแฮ ประมาณ 3 กิโลเมตร) เพื่อกราบไหว้บูชาพระธาตุ และชมทัศนียภาพบ้านเมืองที่เรียงรายสวยงาม ตอนกลางคืนประชาชนจะไปร่วมกันเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุช่อแฮและวิหาร
การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
ใช้ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต้ หมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่
ชมคลิป นำชมพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ [รอติดตั้ง]
เรียบเรียงจาก
1. ประสบการณ์การมานมัสการพระธาตุช่อแฮ
2. http://www.phrae.go.th/tem/tip/nature_phrae/hagi1.html
3. http://www.paiduaykan.com/province/north/phrae/pratadchohea.html
4. http://www.stou.ac.th/study/sumrit/8-56%28500%29/page1-8-56%28500%29.html