ไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่ากันว่าเป็นข้าวมีคุณค่าทางอาหารสูง กินเข้าไปแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถป้องกันโรคบางอย่างได้ และราคาขายทั้งข้าวเปลือก ข้าวสารและข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ก็อยู่ในระดับที่ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้พอสมควร มาลองดูกันครับว่า ที่มา สรรพคุณและประโยชน์ของไรซ์เบอร์รีมีอะไรบ้าง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (riceberry) ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ภายใต้ ความร่วมมือจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมล็ดพันธุ์ถูกแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ปลูกและดูแลรักษา ซึ่งต้องอยู่ในพื้นที่ภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม โดยส่วนมากจะอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณสมบัติดี ครบถ้วนตามลักษณะพันธุ์ คือ ได้ข้าวไรซ์เบอรี่เมล็ดเรียวยาว สีม่วงเข้ม รูปร่างเมล็ดเรียวยาว มีกลิ่น หอมมะลิ น่ารับประทาน ส่วนข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่มีความนุ่มนวลมาก ปลูกได้ตลอดทั้งปี และปัจจุบันมีการปลูกและส่งเสริมการปลูกในหลายพื้นที่
ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ความสูง 105-110 เซนติ เมตร, อายุเก็บเกี่ยว 130 วัน, ผลผลิต 300-500 กิโลกรัมต่อไร่, เปอร์เซ็นต์ข้าวกล้อง (brown rice) 76%, เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวหรือข้าวเต็มเมล็ด (head rice) 50%, ความยาวของเมล็ดข้าวเปลือก 11 มิลลิเมตร ข้าวกล้อง 7.5 มิลลิเมตร ข้าวขัด 7.0 มิลลิเมตร
การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ : พันธุ์ข้าวเปลือกไรซ์เบอร์รี่ 10 กิโลกรัม ทำนาได้ 1 ไร่ในนาดำ ครึ่งไร่ในนาหว่าน
คุณสมบัติเด่นทางด้านโภชนาการของข้าวไรซ์เบอร์รี่ คือ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ เบต้าแคโรทีน แกมมาโอไรซานอล วิตามินอี แทนนิน สังกะสี และโฟเลตสูง มีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง นอกจากนี้ รำข้าวและน้ำมันรำข้าว ทั้งยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่ดี จากคุณสมบัติดังกล่าว นอกจากจะใช้รับประทานเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งแล้ว ทางการแพทย์ยังนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารโภชนบำบัดอีกด้วย
สารอาหารสำคัญที่อยู่ในข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ประกอบด้วย
1. โอเมก้า 3 มีอยู่ 25.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กรดไขมันจำเป็น มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง ตับและระบบประสาท ลดระดับคอเลสเตอรอล ธาตุสังกะสี 31.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ช่วยสังเคราะห์โปรตีน สร้างคอลลาเจน รักษาสิว ป้องกันผมร่วง กระตุ้นรากผม, ธาตุเหล็ก 13-18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สร้างและจ่ายพลังงานในร่างกาย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ออกซิเจนในร่างกาย และสมอง
2. วิตามินอี 678 ug ต่อ 100 กรัม ชะลอความแก่ ผิวพรรณสดใส ลดอัตราเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองและหัวใจ ทำให้ปอดทำงานดีขึ้น, วิตามินบี 1 มีอยู่ 0.42 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จำเป็นต่อการทำงานของสมอง ระบบประสาท ระบบย่อย ป้องกันโรคเหน็บชา, เบต้าแคโรทีน (สารตั้งต้นของวิตามินเอ) 63 ug ต่อ 100 กรัม ชะลอความแก่ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง บำรุงสายตา
3. ลูทีน 84 ug ต่อ 100 กรัม ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม บำรุงการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงตา โพลิฟีนอล 113.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำลายฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
4. แทนนิน 89.33 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แก้ท้องร่วง แก้บิด สมานแผล แผลเปื่อย แกมมา โอไรซานอล 462 ug ต่อ 100 กรัม ลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้อย่างเป็นปกติ ลดอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม นอกจากนี้ เส้นใยอาหาร (fiber) มีอยู่ปริมาณมากในข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ ช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยระบบขับถ่าย
การหุงข้าวไรซ์เบอร์รี ให้นุ่ม หอม อร่อย การหุงข้าวไรซ์เบอร์รีให้อร่อย ควรผสมกับข้าวหอมมะลิเพื่อให้ข้าวที่หุงมีความเหนียวนุ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากต้องการหุงข้าวไรซ์เบอร์รี่อย่างเดียวก็ควรจะใช้สัดส่วน ข้าว 1 ส่วน : น้ำ 1.5 ส่วน หุงประมาณ 35 นาที แล้วปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ก็จะได้ข้าวไรซ์เบอร์รีที่นุ่มและมีสีสันน่ารับประทาน ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวเพื่อสุขภาพ จึงเป็นอีกทางเลือก หนึ่งสำหรับผู้รักสุขภาพ และเป็นโอกาสที่ดีของชาวนาไทย ลองทำนาข้าวไรซ์เบอร์รีดูนะครับ
ชมคลิป >> การหุงข้าวไรซ์เบอร์รี่ ให้สวย หอม นุ่ม
เรียบเรียงจาก :
1. สสส. http://www.thaihealth.or.th/Content/6908-ประโยชน์ของข้าวไรซ์เบอรี่.html
2. http://www.thai-farmer.com/thaifarmer/?p=345
3. http://health.kapook.com/view99263.html
ภาพประกอบจาก : http://www.thai-farmer.com/thaifarmer/wp-content/uploads/2013/01/ข้าวไรซ์เบอร์รี.jpg