หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และในปี พ.ศ. 2497 เมื่อประธานาธิบดี Eisenhower ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศนโยบายการใช้นิวเคลียร์ในทางสันติ และได้แถลงการณ์นโยบายนี้ต่อที่ประชุมสมัชชาครั้งที่ 9 ของสหประชาชาติ และในปลายปีเดียวกัน คณะกรรมการพลังงานปรมาณูผสมแห่งสหรัฐอเมริกาได้เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทย โดยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการเกี่ยวกับพลังงานปรมาณู” จำนวน 17 คน เข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ เกี่ยวกับแผนการปรมาณูเพื่อสันติ (Atoms for Peace)
จากการหารือกันในวันนั้น ทำให้ไทยกับสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามความตกลงเกี่ยวกับการใช้พลังงานปรมาณูในทางสันติ ในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2498 โดยมีนายพจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน เป็นผู้ลงนามร่วมกับนาย Walter S. Robertson (Assistant Secretary of State for Far Eastern Affair) และนาย Lewis Strauss (Chairman USAEC) ต่อมาในปี 2499 ได้มีการลงนามความตกลงสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการใช้พลังงานปรมาณูทางพลเรือน ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และมุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฎ์ เป็นผู้แทนไทย ร่วมลงนามกับนาย John F. Dulles และนาย Lewis L. Strauss โดยสหรัฐอเมริกา ยินยอมให้รัฐบาลไทยเช่าซื้อวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ เพื่อนำมาใช้ในการเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู และได้ให้ความช่วยเหลือให้ทุนแก่นักวิทยาศาสตร์ไทยในการฝึกอบรมในแขนงต่างๆ และคณะรัฐมนตรี มีมติกำหนดชื่อ คณะกรรมการที่ได้แต่งตั้งขึ้นว่า “คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ” หลังจากที่ได้มีการก่อตั้งทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศขึ้น และรัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบรรณ รับรองธรรมนูญของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเป็นลำดับที่ 58 ตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2500
ที่มา : Thailand Goes Nuclear – Considerations and Costs, Sheila Bijoor, Palang Thai, 13 August 2007
ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทประมวลก่อสร้าง ก่อสร้างอาคารเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู โดยมีมติให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขน โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างและติดตั้งเป็นเงินทั้งสิ้น 14 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีจึงแล้วเสร็จ
จนกระทั่งวันที่ 25 เมษายน 2504 รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ 2504 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2504 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 78 ตอนที่ 36 และนับเป็นการจัดตั้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติขึ้น มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีภารกิจหลักคือ ศึกษา วิจัย และพัฒนา ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงการกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศ
รัฐบาลโดยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารสำหรับติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2505 และกำหนดเรียกชื่อเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูว่า “เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย-1 (ปปว.1) หรือ Thai Research Reactor-1 (TRR-1) โดยเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูนั้น ได้ซื้อเครื่องพร้อมทั้งบริการวิศวกรรมนิวเคลียร์กับบริษัทเคอร์ติสไรต์แห่งสหรัฐอเมริกา และได้ทำสัญญาเช่าซื้อวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ เพื่อใช้ทำแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ จากคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูสหรัฐอเมริกาเป็นยูเรเนียม-235 ความเข้มข้น 90% จำนวน 5.35 กิโลกรัม เมื่ออุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมแล้ว นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ส่วนเครื่องปฏิกรณ์ เริ่มเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2505 ซึ่งบรรลุขั้นวิกฤตครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเวลา 18.32 น. โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ชั่วโมงครึ่ง อีก 2 เดือนต่อมา ฯพณฯ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี ทรงเป็นประธานพิธีเปิดอาคารปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ซึ่งในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ถวายเงินช่วยเหลือกิจการ สามแสนห้าหมื่นเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติของไทย
ในปี 2506 งานการใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้โอนต้นสังกัดจากสำนักนายกรัฐมนตรี มาสังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และได้เริ่มงานวิจัยด้านการนำรังสีมาใช้ในด้านต่างๆ โดยเริ่มจากการวิจัยด้านการใช้รังสี ช่วยในการถนอมอาหารและยืดอายุการเก็บพืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ ในปีต่อมา เริ่มทดลองผลิตสารไอโซโทปรังสีขึ้น เพื่อใช้ในกิจการแพทย์ การเกษตรและการศึกษาวิจัยต่างๆ
หลังจากเริ่มมีการใช้สารรังสี สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ก่อสร้างโรงงานขจัดกากของเหลวกัมมันตรังสี สามารถขจัดของเหลวได้ 5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดการกับกากกัมมันตรังสีได้อย่างถูกต้องตามหลักสากล
เมื่อเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย เครื่องเดิมไปได้ประมาณ 13 ปี จึงเห็นควรปรับเปลี่ยนเครื่องปฏิกรณ์ ดังนั้น เมื่อ 14 กันยายน 2518 ได้ทำสัญญาสั่งซื้อและติดตั้งระบบเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูใหม่กับบริษัท เจเนอรัลอะตอมมิก เป็นแบบ TRIGA MARK III และติดตั้ง ณ อาคารปฏิกรณ์เดิม กำหนดชื่อไทยว่า “เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย-1 / ปรับปรุงครั้งที่ 1” (ปปว-1/1) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai Research Reactor-1 / Modification 1” (TRR-1/M1) ดำเนินการติดตั้งโดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี จนกระทั่ง 7 พฤศจิกายน 2520 เจ้าหน้าที่เดินเครื่องของสำนักงานฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท เจเนอรัลอะตอมมิก บรรจุแท่งเชื้อเพลิงปรมาณู เข้าในแกนเครื่องปฏิกรณ์ บรรลุสภาวะวิกฤติ เมื่อเวลา 21.41 น. ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 11 ชั่วโมง ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์เครื่องดังกล่าวได้เดินเครื่อง และใช้ประโยชน์ในงานวิจัยมาจนถึงทุกวันนี้
จะเห็นได้ว่า การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในประเทศไทย เริ่มกันมานานกว่า 45 ปี จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการเรียนรู้ด้านนิวเคลียร์ในประเทศไทย อีกทั้งประเทศเรา ยังมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์จำนวนมาก ตลอดเวลากว่าครึ่งทศวรรษ ได้มีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาสร้างประโยชน์อย่างกว้างขวางกับสังคมไทย และการพัฒนาด้านนิวเคลียร์ในประเทศไทย ก็ยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ
ที่มา : เอกสารประกอบการเรียน วิชาฟิสิกส์ เรื่อง ฟิสิกส์นิวเคลียร์ เรียบเรียงโดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข เพื่อประกอบการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เรื่อง กระบวนการตัดสินใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง ฟิสิกส์นิวเคลียร์ จากการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม (STS) ของ Yuenyong (2006) เผยแพร่เพื่อประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ เรื่อง ฟิสิกส์นิวเคลียร์ ในชั้นเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
ภาพประกอบจาก : http://nautilus.org/wp-content/uploads/2011/12/Thai—failed-history—final.tiff