ประวัติ ฮุนเซน สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีมืออาชีพแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

Hun-Senสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุนเซน

ประวัตินายกรัฐมนตรีฮุนเซน
เกิดเมื่อวันที่ : 4 เมษายน พ.ศ. 2494  [แจ้งว่า เกิด 5 สิงหาคม เมื่อครั้งแรกที่เข้าร่วมกับกองทัพปฏิวัติ (เขมรแดง)]
สถานที่เกิด : จังหวัดกำปงจาม มีฐานะเป็นลูกชาวนา
อายุ 13 ปี : ออกจากบ้าน อาศัยข้าวก้นบาตรกับพระที่วัดเพื่อได้มีโอกาสเรียนหนังสือ
อายุ 19 ปี (พ.ศ.2513) : เข้าร่วมในกองทัพปฏิวัติ(เขมรแดง)ทำการสู้กับทหารลอนนอนซึ่งสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน
อายุ 25 ปี (พ.ศ.2519) : ช่วงเขมรแดงปกครองกัมพูชา (พ.ศ.2518-2521) ฮุนเซนถูกจับให้แต่งงานหมู่รวม 13 คู่เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2519 เจ้าสาวชื่อบุญ สมเอียง มีลูก 4 คน แต่เขาไม่มีโอกาสเห็นหน้าลูกคนแรกเพราะหนีการไล่ล่าของเขมรแดง

Hun-family1ปัจจุบัน : แต่งงานกับ นางบุน รานี ฮุนเซน (Bun Rany Hun Sen) มีบุตรด้วยกันรวม 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน (ลูกชาย 1 ใน 3 จบจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ สถาบันการทหารอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา) และทั้งสองได้รับลูกสาวบุญธรรมมาเลี้ยงอีก 1 คน ขณะที่เธออายุได้เพียง 18 วัน 

การศึกษาของฮุนเซน
ปี 2495 : เกิดที่นิคมเปียมเกาะสนา (Peam Koh Sna) อ.สะเติงตราง (Stoeng Trang) จ.กัมปงจาม และเรียนชั้นประถมศึกษาที่บ้านเกิด
ปี 2508 : เข้ากรุงพนมเปญ เรียนต่อชั้นประถมปลายที่โรงเรียนอินทราเทวี (Indra Devi) ที่วัดนาควาน (Neakvoan) เป็นเด็กวัด ภายใต้การดูแลของสมภารที่ชื่อ “มง ฤทธี”
ปี 2513 : เข้าร่วมกับขบวนการต่อสู้กับจักรพรรดินิยม ตามคำเรียกร้องของ “เจ้านโรดมสีหนุ” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หลังถูกโค่นล้มโดยนายพลลอนนอล (Lon Nol) ซึ่งองค์การซีไอเอ (CIA) ของสหรัฐฯ หนุนอยู่เบื้องหลัง ฮุนเซน เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) เพราะเป็นองค์กรเดียวที่มีการจัดตั้ง และมีกองกำลังอาวุธที่พอจะต่อกรกับการแทรกแซงของสหรัฐฯ ได้ และสาธารณรัฐกัมพูชา ได้รับการ “ปลดปล่อย” ในวันที่ 17 เม.ย.2518 เปลี่ยนชื่อเป็น “กัมพูชาประชาธิปไตย” อันเป็นการเริ่มต้นของระบอบเขมรแดง และ นายฮุนเซน ได้เป็นทหารเขมรแดงระดับผู้บังคับกองพัน ที่บ้านเกิด จ.กัมปงจาม

เมื่อฮุนเซนเป็นนักการเมือง : ฮุนเซนได้กลายเป็นบัณฑิต สำเร็จปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในประเทศ (ไม่ทราบปีที่สำเร็จการศึกษา) และต่อมาก็มีการมอบปริญญาบัตรจากสถาบันต่างๆ เป็น “ดอกเตอร์ฮุนเซน” ดังนี้ 
     – 1991 Ph.D. (Political Science) – National Political Academy of Hanoi
     – 1995 Ph.D. (Politics) – Southern California University for Professional Studies
     – 1996 Ph.D. (Law) – IOWA Wesleyan College, USA
     – 2001 Ph.D. (Political Science) – Dankook University, South Korea
     – 2001 Ph.D. (Political Science) – Ramkhamhaeng University, Bangkok
     – 2004 Ph.D. (Political Science) – Irish International University of Europa
     – 2004 Ph.D. (Political Science) – University of Cambodia
     – 2006 Ph.D. (Political Science) – Soon Chun Hyang University, Seoul, South Korea
     – 2006 Ph.D. (Education) – Bansomdejchaopraya Rajabhat University, Bangkok
     – 2007 Ph.D. (Education) – National University of Hanoi

เส้นทางทางการเมืองของฮุนเซน
ปี พ.ศ. 2520 : เกิดปัญหาขึ้นในขบวนการเขมรแดง ฮุนเซนได้หนีไปอยู่ที่เวียดนาม และได้นำกองกำลังจากเวียดนามเข้ามาโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดง ภายหลังเวียดนามยึดครองกัมพูชา เขาได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศใน พ.ศ. 2522  โดยมีที่ปรึกษาชาวเวียดนามช่วยเหลือ
ปี พ.ศ. 2525 : ฮุนเซนได้เป็นสมาชิกกรรมการกลางกรมการเมืองและเป็นสมาชิกสำนักงานเลขาธิการซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารพรรค และวันที่ 27 มิถุนายน 2525  เขาได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ปี พ.ศ. 2528 : เดือนมกราคม ฮุนเซน เป็นนายกรัฐมนตรี (ภายใต้รัฐบาลเวียดนาม) ขณะที่มีอายุ 33 ปี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของโลก
ปี พ.ศ. 2531 : รัฐบาลไทยโดยพลเอกชาติชาย ได้สร้างความประหลาดใจชาวโลกที่รับรองรัฐบาลเขมรสามฝ่ายที่มีสมเด็จเจ้านโรดม สีหนุเป็นผู้นำ แต่กลับเชื้อเชิญฮุนเซนมาเยือนพร้อมตกลงทำชายแดนไทย-กัมพูชา เปลี่ยนสถานะจากสนามรบเป็นสนามการค้า

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 : เวียดนามถอนกำลังทหารจากกัมพูชา ฮุนเซนได้ร่วมประชุมตกลงให้สู้กันในสนามเลือกตั้งขณะที่เขมรแดงบอยคอต ผลการเลือกตั้ง พรรคประชาชนกัมพูชาของเขา แพ้พรรคฟุนซินเปค จึงตกลงให้เจ้ารณฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง ฮุนเซนเป็นนายกคนที่สอง

25 เมษายน 2540 : ฮุนเซนให้คำมั่นว่าจะไม่ก่อรัฐประหาร แต่ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2540 เขาได้นำทหารเข้าทำรัฐประหาร มีผู้เสียชีวิตราว 50-60 คนโดยเฉพาะนักการเมืองพรรคฟุนซินเปค
7 ตุลาคม พ.ศ. 2547 : กษัตริย์สีหนุ ขณะมีพระชนมพรรษา 82 พรรษา และทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น “พระมหาวีรกษัตริย์ พระวรราชบิดา เอกราช บูรณภาพดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติเขมร” ทรงสละราชสมบัติ นักสังเกตการณ์จำนวนมาก เชื่อว่า การสละราชสมบัติครั้งนี้ เพื่อช่วยให้พระองค์ ได้มีสิทธิเสียงในการกำหนดองค์รัชทายาทได้  เพราะหากพระองค์แก่มากกว่านี้ หรือสวรรคตไป ระบอบกษัตริย์อาจสาบสูญไปได้ เพราะปัจจัยการเมืองกัมพูชาที่บั่นทอนอำนาจของระบอบกษัตริย์กัมพูชา

คณะที่ปรึกษาราชบัลลังก์ (The Throne Council) สมาชิก 6 คน ประกอบด้วย 1) ประธานรัฐสภา 2) รองประธานรัฐสภาคนที่ 1 3) รองประธานรัฐสภาคนที่ 2 4) นายกรัฐมนตรี 5) พระสังฆราชฝ่ายมหานิกาย และ 6) พระสังฆราชฝ่ายธรรมยุต ได้เลือกให้ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547

เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2550 : สมเด็จฮุน เซนได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี เป็น สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน และยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ยาวนานหลายสมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนกระทั่งปัจจุบัน

Hun-family2ภาพหมู่ บุคคลในครอบครัวสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน

เรียบเรียงข้อมูลจาก :
1. http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=offway&month=22-07-2008&group=30&gblog=31
2. http://www.th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช_ฮุน_เซน

ภาพประกอบจาก
1. http://www.bloggang.com/data/offway/picture/1216657849.jpg
2. http://www.bloggang.com/data/offway/picture/1216658698.jpg
3. http://www.bloggang.com/data/offway/picture/1216658064.jpg



Leave a Comment