การสอนแจกลูกสะกดคำ ปะทะ การสอนสะกดคำแบบเรียงตัว สอนอ่านออกเสียงภาษาไทย แบบไหนเจ๋งกว่ากัน !?

reading-spellingวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 มีรายงานข่าว กรณีที่มีการแชร์ภาพแบบเรียนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ที่สอนเรื่องการอ่านภาษาไทย โดยมีการสอน “สะกดคำแบบเรียงตัว” ซึ่งแตกต่างไปจาก “การสอนอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ” ที่เคยใช้กันมา ทั้งนี้ หนังสือเรียนของโรงเรียนเอกชนดังกล่าว  ให้เด็กสะกดอ่านเรียงไปตามตัวอักษร โดยระบุว่าเพื่อให้เด็กเขียนได้รวดเร็วและถูกต้อง สามารถวางตำแหน่งของสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ และตัวสะกดได้ถูกที่ ตัวอย่างการสะกดคำแบบเรียงตัว เช่น

          เก อ่านว่า เอ-กอ
          จำ อ่านว่า จอ-อำ-อา
          มือ อ่านว่า มอ-อือ-ออ
          เสื่อ อ่านว่า เอ-สอ-อือ-ไม้เอก-ออ

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ไทยรัฐออนไลน์ (5 ก.ค. 2557) รายงานว่า

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้หารือกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการเรียนรู้ และสถาบันการศึกษาภาษาไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และผู้เกี่ยวข้องแจ้งว่า การสอนลักษณะดังกล่าวเป็นการสอนเพื่อการเขียน ไม่ใช่การสอนเพื่อการอ่าน ตามแบบที่โรงเรียนต่างๆ ในสังกัด สพฐ. สอนอยู่ ซึ่งรูปแบบการสอนดังกล่าวเป็นเทคนิคการสอนอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ผิด แต่ไม่ถูกหลักวิชาการ ซึ่งการสอนที่ถูกหลัก ควรสอนอ่านและสอนเขียนเหมือนกัน เช่น คำว่า เป็น อ่านว่า ปอ-เอะ-นอ = เป็น และเมื่อสอนให้เด็กเขียนในคำเดียวกัน เด็กจะเรียนรู้ได้เองว่าต้องเอาสระมาไว้ข้างหน้าก่อน ซึ่ง สพฐ. เรียกลักษณะการสอนแบบนี้ว่า “การสอนแจกรูปที่ถูกหลัก” ที่ใช้สอนมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน

“เท่าที่ตรวจสอบพบว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ไม่มีโรงเรียนใดใช้วิธีการสอนแบบดังกล่าว และส่วนตัวเห็นว่า โรงเรียนไม่ควรใช้ เพราะการสอนแจกลูกสะกดคำแบบเดิมที่ทำอยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว และช่วยให้เด็กอ่านคล่องเขียนคล่องได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงเรียนที่ใช้เทคนิคดังกล่าวเป็นโรงเรียนเอกชน สพฐ.คงไปทำอะไรไม่ได้ แต่เบื้องต้นจะแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แจ้งให้ศึกษานิเทศก์ไปลงติดตามตรวจสอบวิธีการสอนต่อไป” นายกมล กล่าว

ความรู้เรื่อง การสอนอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ
การแจกลูก

การแจกลูก หมายถึง การเทียบเสียง เริ่มต้นจากการสอนให้จำและออกเสียงคำ แล้วนำรูปคำซึ่งเปรียบเสมือนแม่มากระจายหรือแจกลูก โดยการเปลี่ยนสระ หรือเปลี่ยนพยัญชนะต้น หรือเปลี่ยนพยัญชนะท้าย(ตัวสะกด)มีวิธีการดังนี้

1. ยึดพยัญชนะต้นเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนรูปสระ เช่น
     กะ กา กิ กี กึ กื กุ กู

2. ยึดสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น เช่น
     กา ขา คา งา ตา นา ทา วา

3. ยึดสระและตัวสะกดเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น เช่น
     กาง ขาง คาง งาง ตาง นาง ทาง วาง

4. ยึดพยัญชนะต้นและสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนตัวสะกด เช่น
     คาง คาน คาย คาว คาก คาด คาบ

การสะกดคำ
การสะกดคำ หมายถึง การอ่านโดยนำพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกดมาประสมเป็นคำอ่าน ถือเป็นเครื่องมือการอ่านคำใหม่ ซึ่งต้องให้นักเรียนสังเกตรูปคำพร้อมกับการอ่านการเขียน เมื่อสะกดคำจนจำคำอ่านได้แล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องใช้วิธีการสะกดคำนั้น ให้อ่านเป็นคำได้เลย จะทำให้นักเรียนอ่านจับใจความได้และอ่านได้เร็ว

การสะกดคำ มีหลายวิธี ได้แก่
1. สะกดตามรูปคำ เช่น
     กา สะกดว่า กอ – อา – กา
     คาง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง
     ค้าง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง – ไม้โท – ค้าง

2. สะกดโดยสะกดแม่ ก กา ก่อน แล้วจึงสะกดมาตราตัวสะกด เช่น
     คาง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง
     ค้าง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง – คาง – โท – ค้าง

3. คำที่มีสระอยู่หน้าพยัญชนะ ให้สะกดพยัญชนะก่อนสระเสมอ เช่น
     เก สะกดว่า กอ – เอ – เก
     ไป สะกดว่า ปอ – ไอ – ไป

4. คำที่เป็นสระลดรูปหรือสระเปลี่ยนรูป อาจสะกดได้ดังนี้ เช่น
     กัน สะกดว่า กอ – อะ – นอ – กัน   หรือ กอ – ไม้หันอากาศ – นอ – กัน
     คน สะกดว่า คอ – โอะ – นอ – คน  หรือ คอ – นอ – คน
     แข็ง สะกดว่า ขอ – แอะ – งอ – แข็ง  หรือ ขอ – แอะ – ไม้ไต่คู้ – งอ – แข็ง
     เค็ม สะกดว่า คอ – เอะ – มอ – เค็ม  หรือ คอ – เอะ – ไม้ไต่คู้ – มอ – เค็ม

5. คำอักษรควบ อาจสะกดได้ดังนี้
5.1 สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง เช่น
     กลอง สะกดว่า กอ – ลอ – ออ – งอ – กลอง
     พราง สะกดว่า พอ – รอ – อา – งอ – พราง
     กวาง สะกดว่า กอ – วอ – อา – งอ – กวาง

5.2 สะกดตัวควบพร้อมกัน มุ่งเพื่อออกเสียงคำควบกล้ำให้ชัด เช่น
     กลอง สะกดว่า กลอ – ออ – งอ – กลอง
     พราง สะกดว่า พรอ – อา – งอ – พราง
     กวาง สะกดว่า กวอ – อา – งอ – กวาง

6. คำอักษรนำ อาจสะกดได้ดังนี้
6.1 สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง เช่น
     อยาก สะกดว่า ออ – ยอ – อา – กอ – อยาก
     หนา สะกดว่า หอ – นอ – อา – หนา
     สนาม สะกดว่า สอ – นอ – อา – มอ – สนาม

6.2 อ่านอักษรนำแล้วจึงสะกด มุ่งเพื่อออกเสียงคำให้ถูกต้อง เช่น
     อยาก สะกดว่า หยอ – อา – กอ – อยาก
     หนา สะกดว่า หนอ – อา – หนา
     สนาม สะกดว่า สะหนอ – อา – มอ – สนาม

7. คำที่ตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด คำที่มีตัวการันต์ ให้ใช้หลักสังเกตรูปคำ รู้ความหมายของคำและจำคำให้ได้โดยอ่านและเขียนอยู่เสมอ เช่น เหตุ จันทร์

ข้อสังเกต
1. การสะกดคำ อาจสอนได้หลายวิธี ครูควรเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งที่เห็นว่าเหมาะสม และใช้วิธีเดียวตลอดการสอน เพื่อมิให้นักเรียนสับสน
2. การสอนแจกลูกและสะกดคำแต่ละครั้ง ไม่ควรใช้เวลานานเกินไป นักเรียนจะเหนื่อยและเบื่อหน่ายได้ ครูควรสอนควบคู่กับการสอนอ่านเป็นคำ เป็นประโยค เพื่อให้นักเรียนสนุกขึ้นเพราะได้เรียนคำที่มีความหมาย
3. เมื่อนักเรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านมากขึ้น ควรลดการอ่านแบบแจกลูกลง คงไว้แต่เพียงการอ่านสะกดคำเท่านั้น เพื่อมิให้เขียนหนังสือผิด และควรเลิกอ่านสะกดคำเมื่อนักเรียนอ่านเป็นคำได้เองแล้ว

ประสบการณ์ส่วนตัว :
ผม (ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ถูกสอนให้อ่านภาษาไทย แบบแบบแจกลูกสะกดคำ ตั้งแต่เริ่มอ่านออกเขียนได้ เมื่อปี พ.ศ. 2529 เมื่ออ่านได้ ก็ (คงจะ) จำได้ จึงเขียนภาษาไทยได้ถูกต้อง และปัจจุบันปี พ.ศ. 2557 ก็สอนให้ลูกอ่านหนังสือแบบแจกลูกสะกดคำ พบว่า เขาก็สามารถอ่านภาษาไทยได้อย่างดี แล้วเพื่อนๆ มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรกันบ้างครับ ถ้าเพื่อนมีลูกกำลังเข้าเรียนอนุบาล หรือ ป. 1 อยากเห็นคุณครูสอนอ่านภาษาไทยแบบแจกลูกสะกดคำ หรือสอนสะกดคำแบบเรียงตัว และเพื่อพิสูจน์ว่าแบบไหนส่งเสริมให้เด็กอ่านคล่องเขียนคล่องได้กว่ากัน สพฐ. ควรให้ทุนทำวิจัยพิสูจน์กันให้เห็นจ๊ะจ๊ะกันเลยครับ … ว่าแต่ใครจะยอมให้ลูกเป็นหนูทดลองบ้างนะ ?? 

เรียบเรียงจาก:
1. ไทยรัฐออนไลน์ (5 ก.ค.2557)
2. http://education.kapook.com/view92505.html
3. http://www.kmphuket.net/?name=research&file=readresearch&id=8
ภาพประกอบจาก : http://hilight.kapook.com/img_cms2/user/natthida/AFP/p18rr72nld19dr1s39sjo32q1icc5.jpg



Leave a Comment