“เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติ สำหรับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่จะอธิษฐานอยู่ประจำที่ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เว้นแต่มีกิจจำเป็นจริง ๆ เป็นระยะเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝนคือ เริ่มตั้งแต่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี [วันเข้าพรรษา ปี พ.ศ. 2557 ตรงกับวันที่ 12 กรกฎาคม 2557] ดังนั้น วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุอธิษฐานอยู่ประจำวัด หรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่งไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอดระยะเวลาสามเดือนในฤดูฝน วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ 2 วัน คือ
– วันเข้าปุริมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน 11
– วันเข้าปัจฉิมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 12
ในประเทศไทย พระภิกษุส่วนใหญ่จะจำพรรษาในช่วงปุริมพรรษาหรือพรรษาแรกมากกว่าปัจฉิมพรรษาหรือพรรษาหลัง ยกเว้นพระภิกษุที่อาพาธ(ป่วย)หรือมีกิจจำเป็นจึงจะอธิษฐานจำพรรษาในช่วงปัจฉิมพรรษา ส่วนการที่มีเดือนแปดสองหน หรือปีอธิกมาส ก็เพราะเป็นการนับทางจันทรคติ(วันขึ้น วันแรม)ซึ่งแต่ละปีจะมีจำนวนวันน้อยกว่าการนับทางสุริยคติ (การนับวันตามแบบปัจจุบัน) ทำให้ต้องเพิ่มเดือนในบางปีเพื่อชดเชยจำนวนวันที่หายไป มิให้ปีทางจันทรคติและสุริยคติคลาดเคลื่อนกันไปมาก
ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา
เมื่อครั้งพุทธกาล พอถึงฤดูฝน ผู้ที่สัญจรไปมาระหว่างเมือง เช่น พ่อค้า นักเดินทาง จะหยุดเดินทางไปมาชั่วคราว (เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทางเป็นหลุมเป็นโคลน) พวกเดียรถีย์และปริพาชกผู้ถือลัทธิต่าง ๆ ก็หยุดพัก ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดฤดูฝน (ถือเป็นประเพณีปฏิบัติมีการจำพรรษามาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล) เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและพระภิกษุส่วนใหญ่ก็อยู่ประจำที่ แต่ปรากฏว่ามีพระภิกษุกลุ่ม ฉัพพัคคีย์ พาบริวารจำนวน 1,500 รูป เที่ยวจาริกไปตามที่ต่างๆ ไม่อยู่จำพรรษา ประชาชนจึงพากันติเตียนว่าไฉนพระสมณศากยบุตร จึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ตลอดจนทั้งสัตว์หลายตายจำนวนมาก แม้พวกเดียรถีย์และปริพาชก ก็ยังหยุดพักในฤดูฝนหรือแม้แต่นกก็ยังรู้จักทำรังเพื่อพักหลบฝน เมื่อทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสถามจนได้ความจริง แล้วทรงบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นเวลา 3 เดือนในฤดูฝน โดยทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า “อนุชานามิ ภิกขะเว อุปะคันตุง” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา”
เมื่อเข้าพรรษาแล้วหากภิกษุมีกิจธุระจำเป็น อันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน 7 วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ [หากเกินกำหนด 7 วัน ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด และปรับอาณัติแก่ผู้ฝ่าฝืนล่วงละเมิดพระบัญญัติพิธีการปฏิบัติในวันเข้าพรรษา] โดย สัตตาหกรณียะ มีดังต่อไปนี้
1. เมื่อทายกทายิกา ปรารถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้
2. ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้
3. ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้
4. พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรณ์พระวิหารนั้นได้
5. เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้
6. เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธา สามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้
7. เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
8. ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
9. หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้
ใน วันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ หรือ อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้ (ว่า 3 ครั้ง) หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้วก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ
อานิสงส์แห่งการจำพรรษา
เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน และได้ปวารณาออกพรรษาแล้ว ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งการจำพรรษา 5 อย่าง ตลอด 1 เดือนนับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ
1. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ 6 แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์กัณฑ์
2. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
3. ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
4. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
5. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอ
นอกจากนี้ ยังได้โอกาสเพื่อที่จะกราลกฐิน และได้รับอานิสงส์พรรษาทั้ง 5 ขึ้นนั้นเพิ่มออกไปอีก 4 เดือน ในฤดูหนาว คือตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 12 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 อีกด้วย
ประเพณีสำคัญในวันเข้าพรรษา
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง และก่อให้เกิดประเพณีสำคัญในวันเข้าพรรษา 2 ประเพณี ได้แก่
1. ประเพณีแห่เทียนพรรษาและถวายเทียนพรรษา
ประเพณีหล่อเทียนพรรษา และถวายเทียนพรรษา เกิดจากความจำเป็นในสมัยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อพระสงฆ์จำพรรษารวมกันมาก ๆ ก็จำต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม การบูชาพระรัตนตรัย ฯลฯ จำเป็นต้องใช้แสงสว่างจากเทียน ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันนำเทียนมาถวาย เพื่อจุดบูชาพระ และได้ยึดเป็นประเพณีที่จะนำเทียนไปถวายพระภิกษุในช่วงเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดดุจดังแสงสว่างของดวงเทียน โดยเทียนดังกล่าวเรียกว่า เทียนจำนำพรรษา
ก่อนจะนำเทียนไปถวายนี้ ชาวบ้านมักจัดเป็นขบวนแห่แหนกันไปอย่างเอิกเกริกสนุกสนานเรียกว่าประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา ดังขอสรุปเนื้อหาจากหนังสือนางนพมาศ ดังนี้
“เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ ทั้งทหารบกและทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำประดับธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถ หอพระธรรม และพระวิหารจุดตามให้สว่างไสวในที่นั้นๆ ตลอด 3 เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม”
ในวัดราษฎร์ทั้งหลาย ก็มีพิธีทำนองนี้ทั่วพระราชอาณาจักร ปัจจุบัน ประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษานี้ยังถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป โดยในบางจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ถือให้เป็นประเพณีเด่นประจำจังหวัด มีการจัดประดับตกแต่งต้นเทียนใหญ่ๆ มีการประกวดแข่งขันแล้วแห่แหน ไปถวายตามวัดต่าง ๆ
2. ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน
การถวายผ้าอาบน้ำฝน เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล นางวิสาขา มหาอุบาสิกาต้องการจะนิมนต์พระภิกษุไปฉันภัตตาหารที่บ้าน จึงให้หญิงรับใช้ไปพระวิหารเชตวันเพื่อนิมนต์พระ ปรากฏว่านางไปเห็นพระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนอยู่ ก็กลับมารายงานด้วยความเข้าใจผิดว่าไม่พบพระ เห็นแต่พวกชีเปลือย นางวิสาขาก็รู้ด้วยปัญญาว่าคงเป็นพระอาบน้ำฝนอยู่ ดังนั้น นางจึงได้ทูลขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุและภิกษุณีเป็นประจำแต่นั้นมา นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ และเกิดเป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อมาจนทุกวันนี้ และกล่าวกันว่า ผู้ที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนจะได้รับอานิสงส์เหมือนการถวายผ้าอื่นๆตามนัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ ทำให้เป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส สวยงาม ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีความสะอาดผ่องใสทั้งกายและใจ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จึงนิยมนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายผ้าอาบน้ำฝนถวายพระสงฆ์ผู้จะอยู่พรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ ปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนไทยก็คงยังปฏิบัติกิจกรรมเช่นนั้นอยู่ บางวัดมีการแจกฎีกานัดเวลา ประกอบพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฎก) หรือ ผ้าจำนำพรรษาและเครื่องใช้อื่นๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้าน
ความสำคัญของวันเข้าพรรษา
1. พระภิกษุจะหยุดจาริกไปยังสถานที่อื่นๆแต่จะเข้าพักอยู่ประจำในวัดแห่งเดียวตามพุทธบัญญัติ
2. การที่พระภิกษุอยู่ประจำที่นานๆ ย่อมมีโอกาสได้สงเคราะห์กุลบุตรที่ประสงค์จะอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและสงเคราะห์พุทธบริษัททั่วไป
3. เป็นเทศกาลที่พระพุทธศาสนิกชนจะได้อธิษฐานจิต “ทำดี-ละชั่ว” งดเว้นอบายมุขและความชั่วต่าง ๆ เช่น การดื่มสุราสิ่งเสพติด การเที่ยวเตร่เฮฮา งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นต้น
4. นอกจากเป็นเทศกาลที่พุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่าง ๆ แล้วในช่วงเวลาพรรษา พุทธศาสนิกชนทั่วไปจะบำเพ็ญทาน รักษาศีลฟังธรรม และเจริญภาวนามากขึ้น
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
1. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา และแห่เทียนพรรษา
2. ถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร
3. ทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
4. อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ
แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ควรถือเอาเทศกาลเข้าพรรษาเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใสยิ่งกว่าธรรมดา เช่น มีการทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น แก่พระภิกษุผู้อยู่จำพรรษา พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด นอกจากนี้ อาจตั้งสัตย์ปฏิญาณเลิกละอายมุขและความชั่วต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดสูบบุหรี่ งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น จึงจะนับเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิต
เรียบเรียงจาก
1. http://lent.sanook.com/
2. http://campus.sanook.com/953718/วันเข้าพรรษา
3. http://hilight.kapook.com/view/13698
4. http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=118:-m-m-s&catid=41:2009-03-01-22-05-09&Itemid=167
ภาพประกอบจาก :
1.http://www.dhammajak.net/board/files/_70_914.jpg
2.http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/society_of_thailand/img/10.jpg