แชร์ลูกโซ่ หรือ ธุรกิจแบบพีระมิด (Pyramid Scheme) เป็นรูปแบบกลโกงที่หลอกให้เราลงทุนในธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูงผิดปกติ โดยในช่วงต้นจะมีการจ่ายผลตอบแทนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่จริง ๆ แล้ว เป็นเงินที่เอามาจากนักลงทุนรายใหม่ (ค่าคอมมิชชั่น) ไม่ได้มาจากเงินลงทุนจริง ๆ ถ้าไม่มีนักลงทุนรายใหม่ ก็ไม่มีเงินจ่ายนักลงทุนรายเก่า แชร์ก็ปิดตัว ผู้ลงทุนก็เสียเงินไป
โครงสร้างธุรกิจลูกโซ่
การขยายฐานเครือข่ายสมาชิกของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ จะเหมือนกับการขยายเครือข่ายฐานลูกค้าของธุรกิจเครือข่าย (ธุรกิจขายตรง) หรือแผนการตลาดแบบหลายชั้น (MLM) แต่แตกต่างตรงที่ ธุรกิจขายตรง จะขายสินค้าที่มีคุณภาพ สอนวิธีสร้างธุรกิจที่ถูกต้องและได้รับอนุญาตจาก ส.ค.บ. (สมาคมคุ้มครองผู้บริโภค)
เล่นแชร์ แชร์แบบไหนที่ต้องระวัง [ตรวจสอบให้ชัดก่อนร่วมลงทุน]
– ที่ตั้งสำนักงานไม่มั่นคงถาวร เช่น เช่าตึกที่ไม่มีอาคารเป็นของตัวเอง ทรัพย์สินมีค่าในสำนักงานมีน้อย
– ไม่มีโรงงานผลิตสินค้าเป็นของตัวเอง แต่มีสินค้าซึ่งไม่ระบุแหล่งผลิตถาวร
– เก็บค่าสมัครสมาชิกเป็นจำนวนสูงมาก และมีการบังคับซื้อสินค้า
– ไม่เน้นการขายสินค้าแต่เน้นให้สร้างทีมให้หาสมาชิกและผู้ลงทุนรายใหม่ โดยหาสมาชิกได้มากจะได้ค่าตอบแทนมาก
– ลงทุนต่ำ ผลตอบแทนสูงและจ่ายค่าตอบแทนเร็วเกินเหตุ รับลงทุนแบบไม่จำกัดจำนวน
รูปแบบและวิธีการหลอกลวงของธุรกิจแชร์ลูกโซ่
– ใช้เครือข่ายจากความใกล้ชิดสนิทสนมใกล้ตัวที่เราไว้ใจได้
– อ้างถึงบุคคลที่น่าเชื่อถือว่าได้เข้าร่วมหุ้นกับบริษัทด้วย เช่น รัฐมนตรี อธิบดี หรือเจ้านายเรา ฯลฯ พร้อมภาพบุคคลเหล่านั้นร่วมกิจกรรม
– แสดงหลักฐานเรื่องผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับมาแล้ว เช่น เงินที่เข้าบัญชี เพื่อให้เหยื่อเชื่อในประโยชน์ที่จะได้รับ
– ใช้สื่อโฆษณาสร้างความมั่นใจ เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ
– แสดงแผนการลงทุนและสัญญาร่วมทุนให้ดู ทำให้เห็นว่าการลงทุนจะได้รับผลตอบแทนมหาศาล
– จัดอมรมสัมมนาหรือแถลงข่าวเปิดตัวที่โรงแรมใหญ่ๆ และเชิญคนดังมาร่วมงานมากมาย
– มักจะหว่านล้อมและกดดันให้เหยื่อรีบตัดสินใจ โดยจะเชิญเหยื่อไปที่บริษัท แล้วให้ทีมงานแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ หลังจากนั้นพยายามกดดันให้เหยื่อตัดสินใจ
หากพบเห็นธุรกิจที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนเรื่องแชร์ลูกโซ่ ได้ที่
ส่วนป้องปรามการเงินนอกระบบ
สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงิน ภาคประชาชน
สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลัง
– โทร 0-2273-9140, 0-2273-9021 ต่อ 2627 – 34
– สายด่วนการเงินนอกระบบ 1359 และ 1689
– อีเมล: 1359@mof.go.th หรือ fincrime@mof.go.th
– ส่งจดหมายมาที่ ตู้ ปณ. 1359 ปณจ. บางรัก
เรียบเรียงจาก
1. http://www.bot.or.th/Thai/FinancialLiteracy/money_trick/Pages/crime1.aspx
2. http://blogpanya.com/การตลาดแบบเครือข่าย/แชร์ลูกโซ่-หลอกลวง/
ภาพประกอบจาก : http://blogpanya.com/wp-content/uploads/2012/โครงสร้างธุรกิจลูกโซ่.gif