ฟิสิกส์นิวเคลียร์ เป็นสาระการเรียนรู้หนึ่งในวิชาฟิสิกส์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียน รู้และเข้าใจเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี การเปลี่ยนสภาพนิวเคลียส การสลายกัมมันตภาพรังสีปฏิกิริยานิวเคลียร์ ไอโซโทป เสถียรภาพของนิวเคลียส ประโยชน์และโทษของกัมมันตภาพรังสีและพลังงานนิวเคลียร์ ตลอดจนสามารถสื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ มีความสามารถในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้สารกัมมันตรังสีในชีวิตประจำวัน
ผลผลิตจากความรู้ด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชีวิตของมนุษย์อย่างกว้างขวาง เช่น ด้านการแพทย์ ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย รวมถึงการทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ปลอดเชื้อ ด้านเกษตรกรรม เช่น การปรับปรุงพันธุ์ การทำหมันแมลงศัตรูพืช การฉายรังสีชะลอการงอก และการฉายรังสีถนอมอาหาร ด้านอุตสาหกรรม เช่น การผลิตกระดาษ การตรวจหาจุดที่ชำรุดเสียหายในท่อของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ตรวจหาแหล่งแร่ การเปลี่ยนสีของอัญมณี ด้านการศึกษาและด้านวิชาการ เช่น ช่วยในการตรวจหาอายุของโบราณ สถาน โบราณวัตถุ ซากดึกดำบรรพ์ เป็นต้น
แต่ในปัจจุบันความรู้เรื่อง นิวเคลียร์ของเยาวชนและสาธารณชน ยังคิดว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่มีโทษอย่างมหันต์ต่อมนุษย์ เนื่องจากเรามักจะได้ทราบข่าวเกี่ยวกับนิวเคลียร์ในทางลบ เช่น การสร้างและใช้อาวุธนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด มีคนขโมยอุปกรณ์นิวเคลียร์ที่เลิกใช้แล้วแต่ยังมีพลังงานนิวเคลียร์หลงเหลืออยู่ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยร้ายแรง แต่ในความเป็นจริงนานาประเทศมีการคิดค้นและปรับปรุงเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์และพัฒนาประเทศของตนอย่างมากมาย ประเทศมหาอำนาจของโลกหรือในเอเชียมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศของตนหลายแห่ง และประเทศไทยเองก็มีการเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยและใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตร และสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2505 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เรื่อง กัมมันตภาพรังสีและพลังงานนิวเคลียร์ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการใช้อย่างปลอดภัยและร่วมพิจารณา เมื่อมีการก่อตั้งโครงการที่มีการใช้หรือผลิตสารกัมมันตรังสี ในชุมชนของตนเอง
ดังนั้น ในการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ฟิสิกส์นิวเคลียร์ จึงควรมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจ เรื่อง ฟิสิกส์นิวเคลียร์ อย่างลึกซึ้ง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรของประเทศ ให้แน่ใจได้ว่าคนรุ่นใหม่จะมีความรู้และทักษะที่จะทำให้พวกเขาสามารถทำการอภิปรายต่อสาธารณชนให้เข้าใจได้และสามารถทำการตัดสินใจอย่างผู้ที่มีความรู้ได้ และการเตรียมความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังจะมาถึง จะทำให้เราเลือกตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล
ผู้เขียนจึงทำวิจัยเรื่อง กระบวนการตัดสินใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่องฟิสิกส์นิวเคลียร์ จากการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคมของ Yuenyong (2006) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกระบวนการตัดสินใจที่มีเหตุผลของนักเรียนได้ ซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป นอกจากการสอนในชั้นเรียนแล้ว กิจกรรมค่ายก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสีให้กับเยาวชนได้
ผู้สนใจอ่านรายงานการวิจัย เรื่องฟิสิกส์นิวเคลียร์ ทั้งสามหน่วยการเรียนรู้ ได้ดังนี้ (คลิกอ่านแต่ละเรื่อง)
1. [ปรมาณูเพื่อสันติ]
2. [อยู่ปลอดภัยกับกัมมันตภาพรังสี]
3. [โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สำหรับประเทศไทย]
จากภาพ : กิจกรรมค่ายเยาวชนนิวเคลียร์สัมพันธ์ “รักอะตอม” สำหรับนักเรียนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 200 คน ณ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เมื่อ 6-8 สิงหาคม 2553 จัดโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดกิจกรรมค่ายรักอะตอมต่อเนื่องทุกปี ผู้สนใจดูรายละเอียดที่ [www.oaep.go.th]