การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแบบซิปปา (CIPPA MODEL) ชื่อ CIPPA มีที่มาจากชื่อย่อในภาษาอังกฤษของ Construct, Interaction, Physical Participation, Process Learning, Application ซึ่งมีความหมายดังนี้
C มาจาก Construct ซึ่งหมายถึงการสร้างความรู้ตามแนวคิดของ Constructivism กล่าวคือ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดี ที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ และเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อตนเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
I มาจาก Interaction ซึ่งหมายถึง การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หลากหลาย ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม
P มาจาก Physical Participation ซึ่งหมายถึง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ทางกาย คือ ผู้เรียนมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกาย โดยการทำกิจกรรมในลักษณะต่างๆ
P มาจาก Process Learning หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่างๆของการเรียนรู้ที่ดี เช่น กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการกลุ่ม กระบวน การพัฒนาตนเอง เป็นต้น การเรียนรู้กระบวนการเป็นสิ่งทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
A มาจาก Application หมายถึง การนำความรู้ที่ได้เรียนไปประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียน และเกิดการเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ
วิธีการที่จัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับรูปแบบ CIPPA ทำได้โดยเริ่มต้นจากแผนการสอนที่เคยทำอยู่แล้ว และนำแผนดังกล่าวมาพิจารณาตามหลัก CIPPA หากกิจกรรมตามแผนการสอนขาดลักษณะใดไปก็พยายามคิดหากิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มลักษณะดังกล่าวลงไป หากแผนเดิมมี อยู่บ้างแล้วก็ควรพยายามเพิ่มให้มากขึ้น เพื่อกิจกรรมจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อทำเช่นนี้ได้จนเริ่มชำนาญแล้ว ต่อไปครูก็สามารถวางแผนตามหลัก CIPPA ได้ไม่ยากนัก (ทิศนา แขมมณี, 2541)
การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยรูปแบบซิปปา 7 ขั้นตอน (ทิศนา แขมมณี) มีดังนี้
1. ขั้นทบทวนความรู้เดิม เป็นการดึงความรู้เดิมของผู้เรียนในเรื่องที่จะเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน
2. ขั้นการแสวงหาความรู้ใหม่ โดยครูอาจจัดเตรียมให้ผู้เรียนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่างๆเพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหา
3. ขั้นการศึกษาทำความเข้าใจความรู้ใหม่และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม ผู้เรียนจะต้องสร้างความหมายของข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ๆโดยใช้กระบวนการคิด/กระบวนการกลุ่มในการอภิปรายหรือสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆ
4. ขั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม ผู้เรียนจะอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจของตนและขยายความรู้ให้กว้างขึ้นและแบ่งปันความรู้แก่ผู้อื่นด้วย
5. ขั้นการสรุปและจัดระเบียบความรู้ ทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย
6. ขั้นการแสดงผลงาน ผู้เรียนจะได้มีโอกาสแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนให้ผู้อื่นรับรู้ และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์
7. ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความชำนาญ ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ
บทบาทของครูในการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามรูปแบบซิปปา
1) การเตรียมการสอน
– ศึกษาและวิเคราะห์เรื่องที่จะสอนให้เข้าใจ
– ศึกษาหาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
– วางแผนการสอน โดยเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบซิปปา และกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียนรู้
– จัดเตรียมสื่อ วัสดุการเรียน เอกสาร หนังสือ หรือข้อมูลต่างๆที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน ให้เพียงพอสำหรับผู้เรียน ติดต่อแหล่งความรู้ต่างๆ (บุคคล สถานที่หรือโสตทัศนอุปกรณ์ วัสดุต่างๆ)และควรเตรียมห้องเรียนหรือสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น จำเป็นต้องจัดโต๊ะ เก้าอี้ในลักษณะใหม่ และเตรียมเครื่องมือการประเมินผลการเรียนรู้
2) การสอน
– การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี
– กระตุ้นผู้เรียนให้สนใจในการเข้าร่วมกิจกรรม
– จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนที่เตรียมไว้ โดยอาจปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียนและสถานการณ์จริง
– ดูแลให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมต่างๆ แก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
– อำนวยความสะดวกและกระตุ้นผู้เรียนในการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเต็มที่
– สังเกตและบันทึกพฤติกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนรวมทั้งเหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนขณะทำกิจกรรม
– ให้คำแนะนำและข้อมูลต่างๆแก่ผู้เรียนตามความจำเป็น
– บันทึกปัญหาและข้อขัดข้องต่างๆในการดำเนินกิจกรรมเพื่อปรับกิจกรรมให้ดีขึ้น
– ให้การเสริมแรงผู้เรียนตามความเหมาะสม
– ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานการเรียนรู้ของผู้เรียนและอาจให้ข้อมูลเนื้อหา ความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้เรียนตามความเหมาะสม
– ให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนและให้ข้อเสนอแนะตามความเหมาะสม
3) การประเมินผล
– เก็บรวบรวมผลงานและประเมินผลงานของผู้เรียน
– ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
บทบาทของผู้เรียนในการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามรูปแบบซิปปา
1) บทบาทในการทบทวนความรู้เดิมและการมีส่วนร่วมในการแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดเห็นหรือประสบการณ์ต่างๆ จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย เพื่อนำมาใช้ในการเรียนรู้
2) บทบาทในการศึกษาหรือลงมือกระทำกิจกรรมต่างๆเพื่อทำความเข้าใจใช้ความคิดในการกลั่นกรอง แยกแยะ วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ความรู้สึกหรือประสบการณ์ต่างๆที่หามาได้และสร้างความหมายให้กับตนเอง
3) บทบาทในการสรุปและจัดระบบระเบียบความรู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นและแสดงออกในสิ่งที่ตนเรียนรู้ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้เกิดความคงทนและสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ได้สะดวกขึ้น
4) บทบาทในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้นั้นเกิดประโยชน์ต่อชีวิต นอกจากนั้นการประยุกต์ใช้จะช่วยตอกย้ำความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียนในความรู้นั้นๆและการนำความรู้ไปใช้ยังก่อให้เกิดการเรียนรู้อื่นๆเพิ่มเติมได้ด้วย
5) ในการดำเนินการตามบทบาทข้างต้น ผู้เรียนจำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่จำเป็นในการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น ดังนี้
– เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆอย่างกระตือรือร้น
– ให้ความร่วมมือและรับผิดชอบในการดำเนินงาน กิจกรรมต่างๆร่วมกับกลุ่ม เช่น การแสวงหาข้อมูล การศึกษาข้อมูลและการสรุป เป็นต้น
– รับฟัง พิจารณาและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
– ใช้ความคิดอย่างเต็มที่ ปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบคัดค้าน สนับสนุนและเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้สึกของตนกับผู้อื่น
– ตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ
– เรียนรู้จากกลุ่มและช่วยให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้
สรุปความจาก ; รายงานการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาฟิสิกส์ เรื่อง งานและพลังงาน โดยใช้การสอนด้วยรูปแบบซิปปา” สำหรับนักเรียนโรงเรียนพนาสนวิทยา จังหวัดสุรินทร์ ของนายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข
ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์ด้วยรูปแบบซิปปา ดาวน์โหลดแผนการสอนฟิสิกส์ คลิกเลย >> [แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปาวิชาฟิสิกส์ เรื่อง งาน]