แคนแซท (CANSAT) ดาวเทียมกระป๋อง ดาวเทียมประดิษฐ์ อย่างง่าย ความสำคัญของดาวเทียมกระป๋อง

แคนแซท (CanSat) หรือ ดาวเทียมกระป๋อง ใช้จำลองการทำงานของดาวเทียมจริง โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ มีขนาดเล็กประมาณกระป๋องน้ำอัดลม และไม่ได้ถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรในอวกาศจริง แต่จะถูกปล่อยลงมาจากความสูงประมาณ 100 – 4,000 เมตร จากพาหนะต่างๆ เช่น อากาศยาน จรวด บอลลูน หรือ โดรน ซึ่งเมื่อถูกปล่อยออกมาแล้ว ก็จะกางร่มชูชีพโดยอัตโนมัติ และระบบต่างๆ จะเริ่มทำงาน ปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่กำหนดไว้ เช่น บันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอ ระบุตำแหน่งพิกัดของตัวแคนแซท วัดอุณหภูมิ ความชื้นอากาศและความดันอากาศ สามารถรับส่งข้อมูลได้ทันทีผ่านอุปกรณ์ไร้สายส่งสู่อุปกรณ์รับสัญญาณภาคพื้นดิน ก่อนที่แคนแซทจะตกถึงพื้นดิน

ภายในแคนแซท จะประกอบด้วย (1) หน่วยควบคุมขนาดเล็ก (MCU) (2) ตัวรับส่งสัญญาณกับสถานีภาคพื้น (3) แบตเตอรี่ (4) โครงสร้างภายนอก (5) เซนเซอร์วัดความเร่ง ไจโรสโคป วัดสนามแม่เหล็ก วัดความดัน อุณหภูมิ ตำแหน่ง (6) ร่มชูชีพ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดมีขนาดเล็ก ราคาถูก สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป เพื่อนำมาพัฒนาได้ด้วยตนเอง

ประเภทของ CanSat (1) Telemetry ส่งข้อมูลไร้สาย (2) Communication ติดต่อสื่อสาร (3) Remote Sensing ถ่ายภาพระยะไกล (4) Fly-back บินลงเป้าหมายโดยอัตโนมัติ (5) Run-back วิ่งสู่เป้าหมายโดยอัตโนมัติ (6) Formation Flight บินเกาะหมู่ 

การพัฒนาดาวเทียมกระป๋อง แม้จะเป็นเพียงแค่ดาวเทียมจิ๋ว และไม่ได้ถูกส่งขึ้นไปสู่วงโคจรรอบโลกจริงๆ แต่เหมาะสมที่จะเป็นโครงการอวกาศขนาดเล็กสำหรับนักเรียน ที่มุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติจริง เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบดาวเทียม การกำหนดภารกิจ การสร้างและประกอบดาวเทียม การทดสอบ การเตรียมตัวปล่อยขึ้นสู่อวกาศ และการวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งอาจจะเป็นใบเบิกทางที่จะช่วยสร้างเทคโนโลยีอวกาศของคนไทยให้เป็นจริงได้ในวันข้างหน้า



Leave a Comment