ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ (ฮีตสิบสอง ครองสิบสี่) เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นชนชาติพันธุ์เก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยอีสาน (คนไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ที่บรรพบุรุษเป็นลาว) และมีส่วนช่วยให้ชาติไทย มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่ดำรงอยู่ร่วมกันเป็นชาติเดียวกันด้วยความสามัคคี
ฮีต มาจากคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี ส่วน คอง คือ แนวทาง หรือ ครรลอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียม หรือแนวการปฏิบัติ นั่นเอง
1. ฮีตสิบสอง หรือ ประเพณีสิบสองเดือน มีรายการดังนี้
1.1 เดือนอ้าย (เดือนเจียง) นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรม ชาวบ้านเลี้ยงผีแถนและผีต่างๆ (บรรพบุรุษ หรือวีรบุรุษผู้ล่วงลับ) การนิมนต์พระสงฆ์มาเข้าปริวาสกรรมนั้น เป็นพิธีกรรมเพื่อทำให้พระภิกษุผู้กระทำความผิดได้สารภาพต่อหน้าพระสงฆ์ เป็นการฝึกความรู้สึกวิจัยความผิดบกพร่องของตัว เพื่อสร้างศรัทธาแก่ประชาชน
1.2 เดือนยี่ ทำบุญ “คูณข้าว” (วันงานจริงๆ คือ วันขึ้นสามค่ำเดือนสาม) มีพระสวดมนต์เย็นฉันเช้าเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญ (ทำขวัญหรือสูตรขวัญ) ข้าว เดือนนี้ชาวบ้านต้องจัดเตรียมสะสมเชื้อเพลิงหาฟืนและถ่านไว้ในบ้าน เพื่อเตรียมไว้ใช้ในฤดูฝน
1.3 เดือนสาม ในมื้อเพ็ง (วันเพ็ญ) ให้ทำบุญข้าวจี่และทำบุญมาฆะบูชา เริ่มทำพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นหุ้มน้ำอ้อยน้ำไปปิ้ง (จี่) พอเกรียมแล้วชุบด้วยไข่ลนไฟจนสุก จึงใส่ภาชนะไปตั้งไว้ในหัวแจก (ศาลาวัด) นิมนต์พระให้ศีล แล้วนำข้าวจี่ใส่บาตร ถวายแด่พระสงฆ์พร้อมด้วยอาหารอื่น เพื่อพระฉันเสร็จมีการแสดงพระธรรมเทศนา ข้าวจี่ที่เหลือจากพระฉันก็แบ่งกันรับประทาน ถือว่าจะมีโชคดี
1.4 เดือนสี่ ทำบุญพระเวส ฟังเทศน์มหาชาติ มูลเหตุเนื่องจาก “คัมภีร์มาลัยหมื่น มาลัยแสน” ว่า ถ้าผู้ใดปรารถนาที่จะได้เกิดในศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย์ แล้ว จงอย่าฆ่าบิดามารดา สมณพราหมณ์ อย่ายุยงให้พระสงฆ์แตกความสามัคคี ให้อุตสาหะฟังพระธรรมเทศนา เรื่อง พระมหาเวส สันดรชาดกให้จบภายในวันเดียว เป็นต้น ในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระ ซึ่งเรียกว่า “กัณฑ์หลอน” หรือถ้าเจาะจงถวายเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนมินต์มา เรียกว่า “กัณฑ์จอบ”
1.5 เดือนห้า ทำบุญตรุษสงกรานต์ (วันสังขาน) สรงน้ำพระพุทธรูป โดยมีกำหนด 3 วัน ดังนี้
ก. วันสังขานล่อง เชื่อว่า ปู่สังขาน ย่าสังขาน จะพาความชั่วร้าย ความไม่ดีไม่งาม เคราะห์ร้ายต่าง ๆ ออกไปจากบ้านช่องและผู้คน ชาวพุทธ จะนำพระพุทธรูป ลงมาทำความสะอาดและตั้งไว้ ณ สถานสมควร แล้วพากันสรงพระด้วยน้ำหอม ตอนสาย ๆ หนุ่มสาวจะพากันไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ และมีการรดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
ข. วันสังขานเนา หรือวันเนา ชาวบ้านเรียก “วันเน่า” มีความเชื่อกันว่า ถ้าใครด่าทอกันจะทำให้ปากเน่าตามชื่อวัน ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องไม่กระทำผิดศีล 5 ในวันนี้ด้วย ประเพณีในวันนี้ก็คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดามารดาและญาติที่ล่วงลับ ส่วนบรรดาหนุ่มสาวและเด็ก ๆ ก็จะพากันไปขนทรายเข้าวัด และก่อพระเจดีย์ทราย
ค. วันสังขานขึ้น หรือวันพญาวัน หรือวันมหาสงกรานต์ จะมีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร ทำการคารวะรดน้ำขอพรจากบิดามารดาและผู้สูงอายุ ส่งท้ายด้วยมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ แล้วใช้น้ำที่เหลือมารดให้กับผู้มาร่วมงาน
1.6 เดือนหก ทำบุญวันวิสาขบูชา มีการเทศน์ตลอดวันตลอดคืน และมีการเวียนเทียน นอกจากนี้งานบุญสำคัญอีกงานหนึ่งคือ บุญบั้งไฟ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาผญาแถน ผลทางอ้อมที่เกิดขึ้น คือ ได้เรียนรู้และฝึกหัดผสมดินปืน ประชาชนที่มาร่วมสนุกกันอย่างเต็มที่ก่อนจะลงมือทำนา นอกจากนี้มักจะบวชนาคพร้อมกันไปด้วย ตอนกลางคืนมักจะมีการตีกลอง เอาเสียงดังแข่งกัน เรียกว่า “กลองเส็ง” บางตำราก็ว่า มีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป ตลอดจนมีการถือน้ำพระพิพัฒน์ต่อพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า และต่อแผ่นดิน
1.7 เดือนเจ็ด ทำบุญบูชาเทวดาอารักษ์หลักเมือง (วีรบุรุษ) ทำการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ผีพ่อผีแม่ ผีปู่ตา ผีเมือง (บรรพบุรุษ) ผีตาแหก (เทวดาไร่นา) ทำนองเดียวกับแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีกรรมก่อนการทำนา
1.8 เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา ทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารเช้าและเพลแก่พระสงฆ์ บ่ายมีการฟังธรรมเทศนา กับมีการป่าวร้องให้เข้าบ้านนำขี้ผึ้งมาหล่อเทียนใหญ่น้อย สำหรับจุดในโบสถ์เป็นพุทธบูชา ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษา
1.9 เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน โดยนำข้าวและอาหารหวานคาวพร้อมทั้งหมากพลู บุหรี่ห่อด้วยใบตองกล้วย แล้วนำต้นไม้ไปไว้ตามต้นไม้และพื้นหญ้า เพื่ออุทิศให้แก่บรรดาญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยกำหนดทำในวันแรมสิบสี่ค่ำเดือนเก้า ต่อมาภายหลังนิยมทำภัตตาหารถวายแด่พระสงฆ์สามเณรแล้วอุทิศให้แก่ผู้ตายด้วยการหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ซึ่งเป็นที่มาของการทำบุญ แจกข้าวด้วย
1.10 เดือนสิบ ทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัตต์) ในวันเพ็ญ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย เช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน โดยมีเวลาห่างกัน 15 วัน เป็นระยะเวลาที่พวกเปรตจะต้องกลับไปเมืองนรก (ตามนิทานชาดก) โดยผู้ที่จะถวายทานเขียนชื่อของตนไว้ในภาชนะที่ใส่ของทาน แล้วใส่ชื่อของตนเองใส่กระดาษอีกแผ่นหนึ่ง นำไปใส่ลงในบาตร เมื่อภิกษุสามเณรรูปใดจับได้สลากของผู้ใด ก็จะเรียกเจ้าของสลากนำเอาของถวาย ครั้นพระเณรฉันแล้ว ก็ประชุมกันฟังเทศน์ บรรยายนิทานวัตถุและภาษิตต่างๆ ทั้งอานิสงส์สลากภัตด้วย ตลอดวันกับคืนหนึ่งจึงเลิก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุและวางไว้บริเวณวัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษิณีหรือนางผีเสื้อนาในบริเวณนาของตน โดยเรียกนางยักษิณี (ตามนิทานชาดก) ว่า “ตาแฮก”
1.11 เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา มีการทำบุญจุดประทีป ถ้าไม่ใช้โคมกระดาษ ก็มักขูดลูกตูมกา ให้ใสหรือขูดเปลือกลูกฟักทองให้ใสบางทำเป็นโคม ใช้น้ำมันมะเยาหรือมะพร้าวมีไส้สอยอยู่ มีหูหิ้วแล้วนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้เต็มวัด
1.12 เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติดั้งเดิม มีการทำบุญกองกฐิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง ชาวอีสานสมัยก่อนนิยมเริ่มทำตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักเรียกบุญกฐินว่า “บุญเดือนสิบสอง” มีทั้งบุญมหากฐิน (กองใหญ่) และบุญจุลกฐิน (กองเล็ก) อัฏฐบริขารที่จำเป็นต้องทอดเป็นองค์กฐินจะขาดมิได้ คือ บาตร สังฆาฏิ จีวร สบง มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ สายรัดประคต ผ้ากรองน้ำและเข็ม นอกจากนั้นเป็นเพียง องค์ประกอบ หลังจากวันเพ็ญเดือนสิบสองแล้ว จะทอดกฐินอีกไม่ได้ จึงต้องทำบุญกองหรือทอดผ้าป่า และในชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำ จะมีประเพณีการซวงเฮือ (แข่งเรือ)
นอกจากประเพณีสิบสองเดือนดังกล่าวข้างต้น ชาวบ้านยังได้ประกอบพิธี “เลี้ยงปู่ตา” หรือ “เลี้ยงผีปู่ตา” ที่ดอนปู่ตา ซึ่งถือว่าเป็น “ผีบ้าน” ที่ให้คุ้มครองชาวบ้านทุกคนทั้งหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุข
“บริเวณดอนปู่ตา จะเป็นที่อยู่อาศัยของผีบรรพบุรุษของหมู่บ้าน” ชาวบ้านจึงปลูก “ตูบ” หรือ “หอ” ให้ผีปู่ตาอาศัย นอกจากนี้ต้นไม้ใบหญ้าและสัตว์ป่าทุกชนิดในดอนปู่ตา ถือว่าเป็นสิ่งหวงห้าม ชาวบ้านจะไม่กล้าทำร้าย หรือนำมาเป็นเจ้าของ ไม่เช่นนั้นอาจมีอันเป็นไปจนถึงแก่ชีวิต ในการเลี้ยงปู่ตานั้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหาร ไก่ต้มหนึ่งตัวพร้อมสุรา(เหล้าไหไก่ตัว) และยาดูดไปเลี้ยงปู่ตาที่ดอนปู่ตา หลังเลี้ยงปู่ตาเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำสุราอาหารทั้งหมดมาเลี้ยงดูกันเอง
2. คองสิบสี่ [บ้างก็ว่า คลองสิบสี่ หรือ ครองสิบสี่]
คองสิบสี่ หรือ ครองสิบสี่ หมายถึง ครองธรรม 14 อย่าง ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง และระหว่างคนธรรมดาปฏิบัติต่อกัน ได้แก่
1. ฮีตเจ้าครองขุน คือ การปฏิบัติระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและขุนนาง
2. ฮีตท้าวครองเพีย คือการปฏิบัติระหว่างเจ้านายชั้นผู้ใหญ่กับเหล่าขุนนาง
3. ฮีตไพร่ครองนาย ไพร่ ได้แก่ราษฎรที่ต้องปฏิบัติต่อนายของตน
4. ฮีตบ้านครองเมือง หมายถึง กฎระเบียบของบ้านเมือง
5. ฮีตปู่ครองย่า
6. ฮีตพ่อครองแม่
7. ฮีตสะใภ้ครองเขย
8. ฮีตป้าครองลุง
9. ฮีตลูกครองหลาน
10. ฮีตเฒ่าครองแก่ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้เฒ่าผู้แก่
11. ฮีตปีครองเดือน หมายถึงการปฏิบัติตามฮีตสิบสอง
12. ฮีตไร่ครองนา เป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติในการทำไร่ทำนา
13. ฮีตวัดครองสงฆ์ เป็นหลักสำหรับบุคคลที่ต้องปฏิบัติต่อพระศาสนา
14. ฮีตเจ้าครองเมือง เป็นแบบแผนสำหรับผู้ปกครอง
กล่าวอีกนัยหนึ่ง คองสิบสี่ เป็นวัฒนธรรมและกฏกติกาของชุมชน หรือวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ เป็นการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมารยาทในสังคม เช่น ปลูกบ้านต้องวางสายสิญจน์ ก่อนขึ้นบ้านต้องล้างเท้า ก่อนนอนให้ล้างมือ วันพระ วันโกน ต้องมีดอกไม้ธูปเทียนไปสมาก้อนเส้า เตาไฟ ประตู บันได ถือว่าสิ่งเหล่านี้มีเทวดาคุ้มครอง วันพระต้องไปฟังเทศน์ ทำบุญ การตักบาตรต้องไม่ให้พระมารอนาน อย่าถูกต้องพระ หรือบาตร อย่าอุ้มเด็ก หรือถืออาวุธ ถือร่ม ถือรองเท้า เวลาตักบาตร พบพระนั่งลงยกมือไหว้ อย่าเอาอาหารเหลือกินตักบาตร อย่าเหยียบเงาพระ อย่าเสพกามคุณในวันพระ วันโกน วันนักขัตฤกษ์ ฯลฯ
หมายเหตุ : อ่านฉบับสมบูรณ์ได้ที่ [บทเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอำเภอโนนนารายณ์]