การจัดการศึกษาของลาว เริ่มด้วยการศึกษาในระดับอนุบาลและก่อนวัยเรียน โรงเรียนอนุบาลในประเทศลาวจะมีทั้งโรงเรียนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน เปิดรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 3-6 ปี ใช้เวลาเรียน 3 ปี แบ่งเป็นชั้นอนุบาล 1-3 เมื่อจบชั้นอนุบาลแล้วจะเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป
การศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ สปป.ลาว อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เป็นแบบ 11 ปี คือ ระบบ 5 :3 :3 [ข้อมูลเก่า ; ได้รับแจ้งจาก Khamdy Sithisacck จาก สปป.ลาว เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2556 ว่าปัจจุบันเป็นระบบ 12 ปี คือ ระบบ 5:4:3] ดังนี้
– ประถมศึกษา ใช้เวลาในการศึกษา 5 ปี เด็กจะเริ่มเข้าเรียนเมื่ออายุ 6 ปี การศึกษาในระดับนี้คือเป็นการศึกษาภาคบังคับ เด็กทุกคนต้องจบการศึกษาในระดับนี้ แต่ในทางปฏิบัติการศึกษาภาคบังคับจะมีผลดีแต่เฉพาะเด็กในเมืองใหญ่เท่านั้น เนื่องจากลาวมีพื้นที่ประเทศกว้างขวางและประชากรกระจายกันอยู่
– มัธยมศึกษาตอนต้น ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี และในอนาคตจะให้เด็กได้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น
– มัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาในการศึกษา 3 ปี
สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือการศึกษาชั้นสูง รวมการศึกษาด้านเทคนิคสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือมหาวิทยาลัย อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ ยกเว้นการศึกษาเฉพาะทางซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงอื่น โดยเมื่อเด็กจบการศึกษาในระดับประถมและมัธยมศึกษาแล้ว จะมีการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเสนอกระทรวงศึกษาธิการให้เด็กได้เข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ได้แก่
– สายอาชีพ ใช้เวลาศึกษา 3 ปี ในวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ เช่น ทางด้านไฟฟ้า ก่อสร้าง บัญชี ป่าไม้ เป็นต้น
– มหาวิทยาลัย วิทยาลัยครูและสถาบันการศึกษาที่สำคัญต่างๆ
นอกจากนี้ หุมพันธ์ ขันทวี พนักงานวิชาการสถาบันค้นคว้าวิทยาศาสตร์การศึกษา (ส.ว.ส) กระทรวงศึกษาธิการของ ส.ป.ป.ลาว ให้ข้อมูลแก่ผม (ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) เมื่อปี พ.ศ. 2552 ว่า นับตั้งแต่ลาวได้เปลี่ยนการปกครอง ประกาศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2528) เป็นต้นมา สปป.ลาว มีการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศ 4 ครั้ง ดังนี้
การปฏิรูปครั้งที่ 1 ปี ค.ศ. 1975 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศ สื่อการเรียนการสอนเป็นภาษาลาวในทุกชั้นเรียน ระบบการศึกษา ประกอบด้วยชั้นประถมศึกษา จำนวน 5 ปี ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 3 ปี และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 3 ปี โรงเรียนอนุบาลรับเด็กเข้าเรียนอายุระหว่าง 3 ถึง 5 ปี การศึกษาภาคบังคับรวมทั้งหมด 5 ปี รับเด็กเข้าเรียนชั้นประศึกษาเริ่มตั้งแต่อายุ 6 ปี
การปฏิรูปครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1980-1990 โดยปี ค.ศ. 1980 ได้ประกาศลบล้างการไม่รู้หนังสือ ได้แก้ไขปรับปรุงหนังสือคู่มือครู และอุปกรณ์การเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนโยบายใหม่ของรัฐบาล ในปี ค.ศ. 1986 กรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้ปฏิรูปการเมืองและสังคมทำให้มีผลกระทบต่อระบบการศึกษา ถึงแม้ว่า ส.ป.ป.ลาว จะประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก แต่รัฐบาล ได้พยายามลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง
การปฏิรูปครั้งที่ 3 ปี ค.ศ. 1992 มีการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเรียน คู่มือครู และ อุปกรณ์การเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนโยบายใหม่ของรัฐบาล โดยในปี ค.ศ. 1997 กระทรวงศึกษาธิการได้สร้างระบบครูศึกษานิเทศก์ระดับชั้นมัธยมศึกษาขึ้นในระดับจังหวัด และครูศึกษานิเทศก์ระดับชั้นประถมศึกษาในระดับอำเภอ เพื่อติดตามช่วยเหลือครู และให้คำแนะนำการใช้หลักสูตรใหม่
การปฏิรูปครั้งที่ 4 ปี ค.ศ. 2006-2015 และได้ออกกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ เช่น มาตรา 18 ได้กล่าวไว้ว่า ชั้นมัธยมศึกษาต่อจากชั้นประถมศึกษา มีหน้าที่ให้ความรู้ทั่วไป และความรู้พื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเรียนต่อหรือประกอบอาชีพตามความเหมาะสม ชั้นมัธยมศึกษาประกอบไปด้วยชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี ได้ปฏิรูประบบการศึกษาขั้นพื้นฐานจากระบบ 11 ปี (5+3+3) เป็นระบบ 12 ปี (5+4+3) และเริ่มจัดตั้งปฏิบัติหลักสูตรใหม่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2009 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กองประชุมใหญ่ครั้งที่ 8 ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2006 ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าในปี ค.ศ. 2020 ต้องทำให้ประเทศชาติหลุดพ้นออกจากความด้อยพัฒนา มีปัจจัยพื้นฐานแห่งการเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม และทันสมัย เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ในมติได้ระบุไว้ว่านับตั้งแต่ปี 2006 ต้องยึดการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เร่งดำเนินการปฏิรูประบบการศึกษาแห่งชาติให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานสูงขึ้น โดยมุ่งเน้น “ สร้างคนลาวให้เป็นพลเมืองดี มีการศึกษา มีความรู้ มีวิชาอาชีพ มีความสามารถประดิษฐ์คิดค้น และมีความกระตือรือร้นต่อการพัฒนาประเทศชาติ ก็คือการพัฒนาตนเอง ให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ เป็นคนที่มีคุณสมบัติ และศีลธรรม”
ที่มา :
1. สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ http://www.bic.moe.go.th
2. หุมพันธ์ ขันทวี, Khamdy Sithisacck และ ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข
การศึกษาลาว – มช เตรียมเปิดหลักสูตร ปริญญาโท ประชากร&การพัฒนา
ขปล. มหาวิทยาลัยแห่งชาติ จัดกองประชุมปรึกษาหารือ เกี่ยวกับร่างหลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตร์สังคม สาขาการศึกษาประชากรและการพัฒนาขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2016 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อปฏิบัติตามแผนหลักสูตร การศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ก็คือแนวทางนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ของกระทรวงศึกษา โดยการเป็นประธานของท่าน พุด สิมาลาวง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ท่านนาง เฟรเดอริกา ผู้แทนองค์การ UNFPA และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ท่าน พุด สีมาลาวง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ได้กล่าวว่า กองประชุมครั้งนี้เพื่อรายงาน ผลของการประเมิณความต้องการ ในการสร้างหลักสูตรประชากรและการพัฒนา เพื่อปรับปรุงร่างหลักสูตรให้สมบูรณ์ ก่อนการนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ซึ่งที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์สังคม ได้จัดตั้งระดมความคิด ระดมสมอง จากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เข้าไปในการสร้างหลักสูตรดังกล่าวให้สมบูรณ์ที่สุด อย่างเช่น กระบวนการเรียน-การสอน วิชาเรียน กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์สังคม มีหลักสูตรระดับปริญญาโทร 5 สาขา คือ
1.สาขาการพัฒนาสังคม
2.สาขาการคุ้มครองทรัพยากรวัฒนธรรม
3.สาขาวิทยาศาสตร์การเมือง
4.สาขาการบริหารอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
5.สาขาการจัดการทางพื้นที่เพื่อการพัฒนา