ระบบการศึกษาสหภาพเมียนมา (พม่า)
กระทรวงศึกษาธิการ (Ministry of Education) ของเมียนมา เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารการศึกษาของประเทศ มีหน่วยงานในสังกัด 6 กรม คือ Office Staff; Department of Higher Education; Department of Basic Education; Department of Myanmar Language Commission; Department of Myanmar Board of Examinations และ Myanmar Education Research Bureau
ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นระบบ 5 :4 : 2 ดังนี้
– ประถมศึกษา 5 ปี (อนุบาล 1 ปี และประถม 4 ปี)
– มัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี
– มัธยมศึกษาตอนปลาย 2 ปี
ระบบการศึกษาอุดมศึกษา แบ่งความรับผิดชอบย่อยออกเป็น 2 กรม (Departments of Higher Education ) ตามภูมิประเทศ คือ ภาคเหนือของประเทศ (upper Myanmar) ตั้งอยู่ที่มันฑะเลย์ และภาคใต้ของประเทศ (lower Myanmar) ตั้งอยู่ที่ย่างกุ้ง มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 174 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยกระจุกตัวอยู่ในรัฐ 2 รัฐ คือ มันฑะเลห์ (37 แห่ง) และย่างกุ้ง (35 แห่ง) นอกจากนี้ ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอื่นด้วย เช่น medical schools จะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข และ technological universities ภายใต้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
กรมการศึกษาพื้นฐานของเมียนมาร์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวางนโยบายและบริหารการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา รวมทั้งการฝึกหัดครู แต่เดิมนั้นเป็นระบบบริหารซึ่งรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ต่อมาได้มีการกระจายอำนาจการบริหารออกไปสู่ระดับรัฐและหัวเมืองต่าง ๆ โดยมีหัวหน้าส่วนการศึกษานั้น ๆ เป็นผู้ควบคุมดูแลและประสานงาน รัฐเป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณของทุกโรงเรียน โดยนักเรียนจะเสียค่าเล่าเรียนเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเท่านั้น
การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเมียนมาร์ พยายามที่จะจัดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศแต่ยังมีปัญหาที่ไม่สามารถจัดหาอาคารสถานที่ วัสดุและอุปกรณ์ให้กับโรงเรียนในบางท้องที่ได้ รัฐบาลเมียนมาร์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้มีโรงเรียนอย่างน้อยหนึ่งแห่งในทุกหมู่บ้าน
กรมการเทคโนโลยี เกษตรและอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานที่ดูแลจัดการศึกษาด้านเกษตรกรรม พณิชยกรรม วิศวกรรมเครื่องกล การประมง คหกรรมและการฝึกหัดครู ทางด้านช่างเทคนิค
กรมอุดมศึกษา ทำหน้าที่วางแผนนโยบายและดำเนินการด้านอุดมศึกษาของประเทศ จัดการศึกษาในรูปแบบของมหาวิทยาลัยใน 3 เมืองสำคัญ คือ มหาวิทยาลัย Yangon, Mandalay และ Manlamyine นอกจากนี้ ยังมีสถาบันเทคโนโลยีที่จัดการศึกษาวิชาชีพระดับสูงที่ใช้เวลาในการศึกษา 4-6 ปี ตามลักษณะวิชาอีกด้วย
การเรียนการสอนมีทั้งเต็มเวลาและนอกเวลา มีทั้งหลักสูตรระยะยาวและระยะสั้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเมียนมาร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง
แหล่งข้อมูล :
1. สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
http://www.bic.moe.go.th/th/index.php?option=com_content&view=article&id=394&catid=61
2. เว็บไซต์กระทรวงการศึกษาของเมียนมาร์ : http://www.myanmar-education.edu.mm/
3. ภาพประกอบจาก : http://pri.org/stories/2013-02-15/buddhist-morality-myanmars-monastic-schools