สถานการณ์ข่าวในสังคม : ปี พ.ศ. 2553 รัฐบาลต้องตัดสินใจอนุมัติโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ความคืบหน้าล่าสุด คือ รัฐบาลสั่งให้ทำแผนพีดีพีสำรอง (พีดีพี 2010 : พ.ศ. 2553-2573) หวังใช้เป็นข้อเปรียบเทียบในการตัดสินใจว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ในต้นปีหน้า (พ.ศ. 2554) และนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผนพีดีพี 2010 ในส่วนของการจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ใหม่ โดยต้องการให้จัดหาพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนประเภทอื่น เชื้อเพลิงประเภทอื่นที่ว่า คืออะไร ในชั้นเรียน STS ของครูศักดิ์อนันต์ อนันตสุข มีคำตอบ
สถานการณ์ในชั้นเรียน เป็นดังนี้
สถานการณ์ เรื่อง “ข้อเสนอโครงการวิจัยพลังงานทดแทน”
สมมุติว่า “นักเรียนทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งให้ทุนสำหรับโครงการวิจัยใหม่ มีงบประมาณ 30 ล้านบาท สำหรับโครงการวิจัยพลังงานทดแทน นักเรียนได้รับข้อเสนอโครงการวิจัยใหม่ 5 โครงการ แต่ไม่มีเงินพอสำหรับทุกโครงการ นักเรียนมีสารสนเทศของแต่ละโครงการและต้องการตรวจสอบประโยชน์และข้อเสียหรือต้นทุนทุกประการ ก่อนการตัดสินใจให้ทุน ให้นักเรียนตัดสินใจว่า จะให้ทุนวิจัยแก่โครงการใด อย่างไร” (อย่าลืมว่า เรามีงบประมาณอยู่ 30 ล้านบาท)
ข้อเสนอโครงการพลังงานทดแทน
1. โครงการพลังงานจากกระแสน้ำขึ้นและกระแสน้ำลง (Tidal power project) การสร้างเขื่อนกั้นกระแสน้ำบริเวณปากอ่าวและแม่น้ำที่มีกระแสน้ำขึ้นและลง น้ำจะถูกกักเก็บไว้ในระดับกระแสน้ำขึ้นสูงสุด เมื่อน้ำลงกระแสน้ำที่ปล่อยลงไป จะสามารถหมุนใบพัดของกังหัน ประเทศไทยมีทำเลจำนวนหนึ่งที่มีความเหมาะสมกับการผลิตพลังงานจากกระแสน้ำ
อย่างไรก็ตาม เขื่อนกั้นน้ำจะเป็นอันตรายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของนกทะเลและปลา และพลังงานกระแสน้ำ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 10 ชั่วโมงต่อวัน
การสร้างเขื่อนบริเวณปากอ่าวไทย สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7% ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศภายในปี ค.ศ.2020 และถ้าทำเลทุกแห่งมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำไว้ได้ ก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 20% ของความต้องการของประเทศ ราคาของกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นกระแสน้ำ จะถูกกว่าที่ผลิตจากสถานีที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
ก่อนสร้างเขื่อนจริง จะมีการสร้างแบบจำลองเขื่อนและทดสอบแบบจำลองต่างๆ งานวิจัยนี้ จะทดสอบการออกแบบลักษณะต่างๆ ในบ่อกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โครงการวิจัยนี้จะต้องใช้เงินงบประมาณ 7,200,000 บาท
2. โครงการพลังงานจากลม (Wind power project) พลังงานจากลม เป็นการวิจัยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่สะอาดมาก ลมจะหมุนให้ใบพัดของกังหันขนาดใหญ่ ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมา แหล่งพลังงานไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่มีมลภาวะ แต่บางคนรู้สึกว่า ฟาร์มกังหันลมทำลายภูมิทัศน์ ดังนั้น คณะผู้วิจัย จึงต้องการสร้าง “ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งทะเล” ทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีลมแรงมากและกังหันจะหมุนตลอดเวลา
ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้20% ของประเทศได้ในปี ค.ศ. 2025 ราคากระแสไฟฟ้าจะใกล้เคียงกับราคากระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากสถานีที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง ต้องสร้างฐานที่มั่นคง ตอกลึกลงไปถึงก้นทะเล ซึ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง แต่ถ้าจะทำให้ง่ายขึ้นและมีราคาถูกลง อาจวางเครื่องกังหันไว้บนชานชาลาลอยน้ำ วิธีการนี้สามารถทำได้ในอู่ต่อเรือแล้วลากออกไปไว้กลางทะเล งานวิจัยต้องการออกแบบชานชาลาลอยน้ำที่มั่นคงเพียงพอที่จะทำให้กังหันทำงานได้ โครงการวิจัยนี้จะต้องใช้เงินงบประมาณ 6,600,000 บาท
3. โครงการพลังงานชีวมวล (Biomass energy project) ชีวมวล หมายถึง สารใดๆ จากพืชและสัตว์ เช่น ต้นไม้ ธัญญาหาร ของเสียของสัตว์หรือกระดาษ ทั้งหมดนี้สามารถย่อยสลายได้ โดยแบคทีเรียในถังปิดผนึกที่ไม่มีออกซิเจน กระบวนการนี้จะผลิตก๊าซขึ้น “ก๊าซชีวภาพ” นี้ สามารถเผาไหม้ได้เหมือนกับน้ำมันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ชีวมวลนี้เป็นพลังงานรูปแบบที่หมุนเวียนได้
ชีวมวล สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 12% ของประเทศภายในปี ค.ศ. 2020 กระแสไฟฟ้าจะมีราคาถูกกว่า กระแสไฟฟ้าที่เป็นผลผลิตจากสถานีผลิตพลังงานในปัจจุบัน
ก๊าซชีวภาพประกอบไปด้วยก๊าซผสมหลายชนิด ส่วนใหญ่คือ ก๊าซมีเทน แต่ก็มีก๊าซหลายชนิดที่ไม่เผาไหม้ โครงการวิจัยนี้จะทดสอบแบคทีเรียชนิดต่างๆและก๊าซชีวภาพ เพื่อจะค้นหาว่า การผสมกันแบบใดจะผลิตก๊าซชีวภาพที่ดีที่สุดสำหรับการเผาไหม้เหมือนกับน้ำมันเชื้อเพลิง
โครงการวิจัยนี้จะต้องใช้เงินงบประมาณ 7,800,000 บาท
4. โครงการพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear fusion project) ในนิวเคลียร์ฟิวชัน ไฮโดรเจนอะตอมมารวมกันและปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมา การทำให้เกิดฟิวชันทำได้ยากมาก นักวิทยาศาสตร์จะต้องทำให้อุณหภูมิสูงถึง 100 ล้านองศาเซลเซียส ไฮโดรเจนจะต้องบรรจุอยู่ในสนามแม่เหล็กขนาดมหึมา และนักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลานานในการแก้ปัญหา กระบวนการฟิวชัน ผลิตสารกัมมันตภาพรังสีน้อยมากและเชื้อเพลิงราคาไม่แพง กระบวนการนี้ไม่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า เตาปฏิกรณ์ฟิวชันที่ใช้งานได้เครื่องแรก สามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ภายในปี ค.ศ. 2050 ฟิวชันนี้ สามารถสนองความต้องการพลังงานทั้งหมดของโลก กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะมีราคาถูกมาก
นักวิทยาศาสตร์ยังเพียงแค่ สามารถทำให้ปฏิกิริยาฟิวชันเกิดขึ้นเป็นเวลา 2-3 นาทีเท่านั้น โครงการวิจัยนี้ จะหาวิธีทำให้อุณหภูมิที่จำเป็นต่อการเกิดปฏิกิริยาฟิวชันให้ลดต่ำลง เพื่อให้ง่ายในการทำให้กระบวนการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะใช้อนุภาคเล็กๆ ที่เรียกว่า Muons (อนุภาคปฐมภูมิอย่างหนึ่ง ที่มีมวล 207 เท่าของอิเล็กตรอน มีอยู่ในรูปที่มีประจุบวกและประจุลบ) ช่วยให้อะตอมไฮโดรเจนยึดติดกันแน่น
โครงการวิจัยนี้จะต้องใช้เงินงบประมาณ 13,200,000 บาท
5. โครงการพลังงานเซลล์สุริยะ (Solar cells project)
เซลล์สุริยะ เป็นเซลล์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพลังงานจากดวงอาทิตย์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง บางทีเรียกกันว่า เซลล์ไฟฟ้าที่เกิดจากปฏิกิริยาของแสง (Photovoltaic cells) เซลล์สุริยะจะถูกนำไปติดตั้งบนหลังคาอาคาร เพื่อให้มันรับแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตกระแสไฟฟ้า เซลล์สุริยะเงียบและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่ต้องการที่ดินและน้ำมากมายในกระบวนการผลิต
ปัญหาของเซลล์สุริยะ คือ มันสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉพาะเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงเท่านั้น ยิ่งดวงอาทิตย์จ้ามาก เซลล์สุริยะก็จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น เราต้องใช้เซลล์สุริยะจำนวนมากเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้จำนวนมากเพียงพอสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและให้ความสว่างแก่บ้านเรือน เซลล์สุริยะมีราคาแพง ตามปกติเราจะใช้เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อเก็บสะสมพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในตอนกลางคืน
เซลล์ไฟฟ้าสุริยะที่เกิดจากปฏิกิริยาของแสงนี้ สามารถให้กระแสไฟฟ้าได้ 3% ของความต้องการของประเทศในปี ค.ศ. 2050 เซลล์สุริยะที่ติดตั้งไว้บนหลังคา สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าฟรีให้แก่ผู้อาศัยในอาคารนั้น
เซลล์ไฟฟ้าสุริยะที่เกิดจากปฏิกิริยาของแสงนี้ ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มันสามารถแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้เพียง 7% เท่านั้น โครงการวิจัยนี้จะผลิตวัสดุใหม่ สำหรับการทำเซลล์สุริยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยค้นหาสารเคลือบเซลล์ที่เป็นสารย้อมพิเศษซึ่งไวต่อแสงสว่าง
โครงการนี้ต้องการงบประมาณ 6,000,000 บาท
ผลการตัดสินใจของนักเรียน
ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 1 สนับสนุน 4 โครงการ ตามลำดับ ดังนี้
1. พลังงานลม เพราะ กำลังการผลิตถึง 20% มีผลกระทบไม่มาก แหล่งพลังงานไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (งบประมาณ 7,800,000 บาท)
2. พลังงานชีวมวล เพราะ กระแสไฟฟ้ามีราคาถุกกว่าในปัจจุบัน(งบประมาณ 7,800,000 บาท)
3. พลังงานจากกระแสน้ำขึ้นและลง เพราะ กำลังการผลิตถึง 20% ระยะเวลาในการดำเนินการสั้น (งบประมาณ 7,200,000 บาท)
4. พลังงานเซลล์สุริยะ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3% ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ แต่ใช้เวลานาน (งบประมาณ 6,000,000 บาท)
ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 2 ให้ทุน 3 โครงการ ตามลำดับ ดังนี้
1. โครงการพลังงานลม เนื่องจากผลิตกระแสไฟฟ้าที่สะอาดมาก ลมจะหมุนในใบพัดของกังหันขนาดใหญ่ แหล่งพลังงานไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่มีมลภาวะ สร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งทะเล มีลมแรงมากและกังหันจะหมุนตลอดเวลา และกังหันลมนอกชายฝั่ง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้20% (งบประมาณ 6,600,000 บาท)
2. โครงการพลังงานชีวมวล เนื่องจากกระบวนการนี้จะผลิตก๊าซขึ้น “ก๊าซชีวภาพ” สามารถเผาไหม้ได้เหมือนกับน้ำมันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และชีวมวลเป็นพลังงานรูปแบบที่หมุนเวียนได้ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้12% (งบประมาณ 7,800,000 บาท)
3. โครงการพลังงานเซลล์สุริยะ เป็นเซลล์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพลังงานจากดวงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง เซลล์สุริยะจะถูกนำไปติดตั้งบนหลังคาอาคารเพื่อให้รับแสงอาทิตย์ ไม่ต้องพึ่งพามลภาวะ ไม่ต้องการที่ดินและน้ำมากมายในกระบวนการผลิต สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้3% (งบประมาณ 6,000,000 บาท)
ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 3 สนับสนุน 3 โครงการ ดังนี้
1. โครงการพลังงานลม เนื่องจากเป็นพลังงานที่สะอาดและไม่มีมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ที่จะสร้างมีต้นทุนไม่สูงมาก สามารถจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะได้ประโยชน์หลายด้านทั้งด้านพลังงาน และรายได้จากการท่องเที่ยว โดยลมจะหมุนใบพัดของกังหันขนาดใหญ่ ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ โครงการนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างต่ำและได้ผลผลิตสูง โดยผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 20% (งบประมาณ 6,600,000 บาท)
2. โครงการพลังงานชีวมวล เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีของเสียที่เกิดจากพืชสัตว์ ที่สามารถย่อยสลายได้ ค่อนข้างมาก เราจึงนำวัตถุดิบเหล่านี้มาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งดีกว่าการนำไปเผา เพราะจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้12% (งบประมาณ 7,800,000 บาท)
3. โครงการพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน เราให้ทุนสนับสนุนโครงการนี้ เพราะต้องการให้เกิดการศึกษาพลังงานทางเลือกในระยะยาว และต้องการให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จากการลงทุนทำโครงการนี้ นิวเคลียร์ฟิวชัน เป็นพลังงานที่ไฮโดรเจนอะตอมมารวมกันและปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมา การฟิวชัน ไม่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (งบประมาณ 13,200,000 บาท)
ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 4 สนับสนุน 2 โครงการ และให้งบประมาณ 2 เท่า ดังนี้
1. โครงการพลังงานลม เพราะลมจะผลิตกระแสไฟฟ้าที่สะอาด ไม่มีมลภาวะ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 20% ราคากระแสไฟฟ้าจะใกล้เคียงกับราคากระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากสถานีที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (งบประมาณ 6,600,000 บาท) ให้ทุนสนับสนุน 2 เท่ากับที่ขอเท่ากับ 13,200,000 บาท
2. โครงการพลังงานเซลล์สุริยะ เพราะเป็นเซลล์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพลังงานจากดวงอาทิตย์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ เซลล์สุริยะจะถูกนำไปติดตั้งบนหลังคาอาคารเพื่อให้รับแสงอาทิตย์ ไม่ต้องพึ่งพามลภาวะ ไม่ต้องการที่ดินและน้ำมากมายในกระบวนการผลิต ผลิตกระแสไฟฟ้าได้3% (งบประมาณ 6,000,000 บาท) ให้ทุนสนับสนุน 2 เท่ากับที่ขอเท่ากับ 12,000,000 บาท
ผลการตัดสินใจของนักเรียน ที่ 5 ตัดโครงการอันตรายและไม่คุ้มทุนออก ให้ทุนโครงการที่เหลือ ดังนี้
การให้ทุนของเรา พิจารณาโดยการตัดโครงการที่อันตรายออกก่อน จึงตัดโครงการพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันทิ้งไปเป็นอันดับแรก จากนั้นพิจารณาโครงการที่เหลือ โดยดูจากกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้ และงบประมาณที่ขอ พบว่าโครงการพลังงานเซลล์สุริยะ จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยที่สุด (เพียง 3%) แต่ของบประมาณมาใกล้เคียงกับโครงการอื่นๆที่เหลือ คือ 6,000,000 บาท เมื่อเทียบกับกระแสไฟฟ้าที่ได้จึงตัดโครงการนี้ออกไป
และตัดสินใจให้ทุนกับโครงการที่เหลือ 3 โครงการ โดยตั้งชื่อโครงการให้ใหม่ด้วยว่า
1. โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าช่วยชาติ (โครงการเดิม คือ พลังงานจากกระแสน้ำขึ้นและกระแสน้ำลง)
2. โครงการหมุนพลังงาน (โครงการเดิม คือ พลังงานจากลม)
3. โครงการถังหมักชีวมวล (โครงการเดิม คือ พลังงานชีวมวล)
ผลการตัดสินใจของนักเรียน กลุ่มที่ 6 สนับสนุนทุน 3 โครงการ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้
โครงการที่ให้ทุน คือ
1. โครงการพลังงานชีวมวล เพราะชีวมวล เป็นการนำเอาพลังงานกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้12% (งบประมาณ 7,800,000 บาท)
2. โครงการพลังงานลม เพราะเป็นพลังงานที่สะอาด เหมาะที่จะนำมาทำเป็นพลังงานทดแทน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก (งบประมาณ 6,600,000 บาท)
3. โครงการพลังงานเซลล์สุริยะ เพราะเป็นพลังงานที่ใสสะอาด ไม่ทำลายระบบนิเวศ จึงเป็นพลังงานทดแทนที่ดี (งบประมาณ 6,000,000 บาท)
โครงการที่ไม่ได้ให้ คือ
1. โครงการพลังงานจากกระแสน้ำขึ้นและกระแสน้ำลง เพราะพลังงานนี้จะทำลายที่อยู่ของนกทะเลและที่อยู่ของปลาตัวเล็กๆ จึงไม่เหมาะกับพลังงานทดแทน แม้จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก
2. พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน เพราะพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่กำลังทำการทดลอง ยังไม่สำเร็จ จึงไม่ควรนำงบประมาณไปลงทุนทำเรื่องนี้
ข้อดี ข้อเสียของพลังงานลม
ข้อดี
1. พลังงานลมไม่มีค่าใช้จ่ายในด้านการจัดหาพลังงาน
2. ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
3. ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับชุมชนได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสียค่าเดินสายไฟฟ้าจากแหล่งผลิต
ข้อเสีย
1. ผลต่อทัศนียภาพ เนื่องจากต้องใช้กังหันขนาดใหญ่ อาจบดบังส่วนต่างๆของพื้นที่ไป
2. การเกิดมลภาวะทางเสียง เมื่อใบพัดขนาดใหญ่ทำงานจะเกิดเสียงดังมากรบกวนผู้อยู่ใกล้เคียง
3. การรบกวนคลื่นวิทยุ ซึ่งเกิดจากใบพัดส่วนใหญ่ทำจากโลหะเมื่อหมุนทำให้เกิดการรบกวนคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ในระยะ 1 – 2 กิโลเมตร
4. ผลกระทบต่อระบบนิเวศ เมื่อติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่อาจทำให้สิ่งมีชีวิตใกล้เคียงอพยพไปอยู่ที่อื่น
5. ไม่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของพลังงานได้
ที่มา : http://www.freethailand.com/indexsite.php?username=thunya&cat=8776&act=mc
ข้อดี ข้อเสียของพลังงานน้ำ
ข้อดีของการใช้พลังงานน้ำ
1) เมื่อเราใช้พลังงานของน้ำส่วนหนึ่งไปแล้ว น้ำส่วนนั้นก็จะไหลลงสู่ทะเล และน้ำในทะเลเมื่อได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ ก็จะระเหยกลายเป็นไอน้ำ และไอน้ำจะรวมตัวเป็นเมฆ และตกลงมาเป็นฝนหมุนเวียนกลับมา ทำให้เราสามารถใช้พลังงานน้ำได้ตลอดไปไม่หมดสิ้น
2) เครื่องกลพลังงานน้ำเป็นเครื่องกลที่มีความสามารถพิเศษ สามารถเริ่มดำเนินการผลิตพลังงานได้ในเวลาอันรวดเร็ว และควบคุมให้ผลิตกำลังงานออกมาได้ใกล้เคียงกับความต้องการ การใช้พลังงานได้ตลอดเวลา มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงมาก
3) ชิ้นส่วนของเครื่องกลพลังงานน้ำส่วนใหญ่ จะมีความคงทน มีอายุการใช้งานนานกว่าเครื่องจักรกลอย่างอื่น
4) เมื่อเรานำพลังงานน้ำในตัวมันไปใช้แล้ว น้ำก็ไม่ได้แปรสภาพเป็นอย่างอื่นยังคงมีคุณภาพเหมือนเดิม สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย เช่น เพื่อการชลประทานอุปโภคบริโภค การรักษาระดับน้ำในแม่น้ำให้ไหลลึกพอแก่การเดินเรือ เป็นต้น นอกจากนี้การสร้างเขื่อนเพื่อทดน้ำให้สูงขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีฝนตก เราจะได้แหล่งน้ำขนาดใหญ่สามารถใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ หรือใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจได้ บางครั้งอาจรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำได้ โดยการปล่อยน้ำจากเขื่อน เพื่อไล่น้ำโสโครกในแม่น้ำที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย และสารพิษลงแม่น้ำ หรืออาจใช้ไล่น้ำเค็มซึ่งขึ้นมาจากทะเลก็ได้
ข้อเสียของการใช้พลังงานน้ำ
1) การพัฒนาแหล่งพลังงานน้ำต้องใช้เงินลงทุนสูง เนื่องจากจะต้องเลือกภูมิประเทศที่เหมาะสม เช่น ต้องมีการเปลี่ยนระดับท้องน้ำมาก ๆ เพื่อให้การสร้างเขื่อนสูง แต่ความยาวไม่มาก ซึ่งพื้นที่จะอยู่ในป่า หรือช่องเขาแคบ ๆ ไกลจากชุมชน
2) มักมีปัญหาในเรื่องการจัดหาบุคลากรไปปฏิบัติงาน รวมทั้งการซ่อมแซม บำรุงรักษาสิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ต่าง ๆ จะไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะสถานที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน
ที่มา :: http://www.energyfantasia.com/ef4/pedia/pediashow.php?show=111
ข้อดี ข้อเสียของพลังงานแสงอาทิตย์
ข้อดีของพลังงานแสงอาทิตย์
ในอดีตการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มีราคาแพงมาก แต่เนื่องจากปัจจุบันราคาของเซลล์แสงอาทิตย์ได้ลดลงมาอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีกเรื่อย ๆ เพราะประชาชนโดยทั่วไป ได้ตระหนักถึงสภาวะแวดล้อมเป็นพิษเนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงบรรพชีวินในการผลิตพลังงาน จึงหันมาใช้เซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มีจุดเด่นที่สำคัญแตกต่าง จากวิธีอื่นหลายประการดังต่อไปนี้
1. ไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวในขณะที่ใช้งานจึงทำให้ไม่มี มลภาวะทางเสียง
2. ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษจากขบวนการผลิตไฟฟ้า
3. มีการบำรุงรักษาน้อยมากและใช้งานแบบอัตโนมัติได้ง่าย
4. ประสิทธิภาพคงที่ไม่ขึ้นกับขนาดจากเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 33 เมกะวัตต์ หรือ 165,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ถ้าต้องการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดจำเป็นต้องใช้
5. ผลิตไฟฟ้าได้ทุกมุมโลกแม้บนเกาะเล็ก ๆ กลางทะเลบนยอดเขาสูงและในอวกาศ
6. ได้พลังงานไฟฟ้าโดยตรงซึ่งเป็นพลังงานที่นำมาใช้ได้สะดวกที่สุด เพราะการส่งและการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า
ข้อเสียของพลังงานแสงอาทิตย์
1. ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง และอุปกรณ์ในการติดตั้ง ราคาค่อนข้างแพง
2. ขึ้นอยู่กับสภาวะภูมิอากาศ
ที่มา :: http://www.charcoal.snmcenter.com/charcoalthai/chevamul.php
ข้อดี ข้อเสียของพลังงานชีวมวล
ข้อดีของชีวมวล
1.ชีวมวลเกิดจากการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิต ซึ่งเป็นวงจรการผลิตระยะสั้น จึงไม่มีวันหมดสิ้น
2.ชีวมวลสามารถผลิตได้ในประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และยังลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
3.การใช้ชีวมวลในการผลิตความร้อนหรือไฟฟ้า จะไม่เพิ่มปริมาณสุทธิของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก
4.ชีวมวลมีปริมาณกำมะถันที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลมาก ซึ่งต่างจากน้ำมันในภาคขนส่ง และถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า
5.ถ้านำมาผลิตกระเเสไฟฟ้า จะช่วยลดปัญหาไฟฟ้าดับและไฟฟ้าตกในชุมชนที่ห่างไกล
6.พลังงานชีวมวลจะไม่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และแทบไม่เป็นพิษต่ออากาศในกรณีที่มีการปลูกทดแทน
ข้อเสียของชีวมวล
1.ชีวมวลมีการขนส่งและการเก็บรักษาที่ยาก
2.มีความเสี่ยงสูงในการจัดเก็บปริมาณชีวมวลให้คงที่ตลอดปี เพราะชีวมวลบางประเภทมีจำนวนจำกัดในแต่ละเดือน
3.ราคาไฟฟ้าที่รัฐบาลรับซื้อมาจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ยังไม่ดึงดูดการลงทุนเท่าที่ควร
4.เทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้กับชีวมวลหลายๆประเภทมีราคาแพง
5.ยังขาดการสาธิตเทคโนโลยี ทำให้ขาดความมั่นใจด้านเทคโนโลยี
6.ขาดบุคลากรผู้นำและผู้ที่จะมาบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า
ความยั่งยืนของพลังงานชีวมวล
1.ปริมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตต่อไร่สูงขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลมากขึ้น
2.ชีวมวลที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ จะถูกนำมาใช้มากขึ้น
3.ราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้น
4.ความต้องการใช้ชีวมวลในอนาคตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นพลังงานที่ไม่แพง
ที่มา : http://cpe.kmutt.ac.th/wiki/index.php/
ข้อดี ข้อด้อยของพลังงานฟิวชัน
ข้อดี
1.ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.ไม่ทำให้เกิดฝนกรด หรือปรากฏการณ์เรือนกระจก
3.ไม่มีอันตรายจากการใช้งาน ถ้าเกิดความผิดปกติ ปฏิกิริยาฟิวชันจะหยุดลงเอง ทำให้โรงไฟฟ้าดับลงทันที
4.ได้พลังงานมหาศาล
ข้อด้อย
1.แม้ว่าปฏิกิริยาฟิวชันจะไม่ทำให้เกิดผลผลิตฟิชชัน หรือาตุกัมมันตรังสี แต่อาจมีกากกัมตรังสีอายุสั้นเกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยากับนิวตรอน
2.การรั่วไหลของก๊าซตริเตียมออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ตริเตียมเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสี สามารถเคลื่อนที่ผ่านคอนกรีต ยาง หรือโลหะบางชนิด เนื่องจากเป็นไอโซโทปของไฮโรเจน จึงสามารถรวมกับออกซิเจนกลายเป็นน้ำ ทำให้กลายเป็นน้ำที่มีกัมมันตภาพรังสี ตริเตียมมีครึ่งชีวิต 12.4 ปี จึงอาจมีผลต่อสุขภาพเป็นเวลานานประมาณ 125 ปี หลังจากที่เกิดขึ้นมาเป็นก๊าซและลงไปในน้ำ เราอาจสูดเอาก๊าซนี้เข้าไปในร่างกาย ดูดซึมผ่านผิวหนัง หรือกินเข้าไป ถ้าเราสูดเอาก๊าซนี้เข้าไป มันจะผ่านเยื่อบุของอวัยวะภายใน และรวมเข้ากับน้ำในร่างกาย ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย
3.ใช้เงินในการลงทุนมาก
ที่มา :: http://std.kku.ac.th/5130402479/Untitled-8.htm
ความก้าวหน้าและอนาคตของฟิวชัน
ความก้าวหน้าของฟิวชัน
ฟิวชันจะเป็นแหล่ง พลังงานที่มีศักยภาพในอนาคต และจะเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานที่สำคัญของโลก
เชื้อเพลิงสำรองปริมาณมาก
ดิวทีเรียมที่มี อยู่ปริมาณมาก ซึ่งสามารถสกัดออกมาได้จากน้ำทุกแห่ง ถ้ากระแสไฟฟ้าทั้งหมดในโลก ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน ดิวทีเรียมที่มีอยู่ในน้ำสามารถนำมาใช้ได้เป็นเวลาหลายล้านปี
ตริเตียมไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่สามารถผลิตขึ้นมาได้จากธาตุลิเทียม ซึ่งสามารถติดตั้งอุปกรณ์ในการทำให้เกิดตริเตียมจากลิเทียม เมื่อต้องการทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างดิวทีเรียมกับตริเตียม เชื้อเพลิงที่ต้องป้อนเข้าไปจากภายนอก จึงเป็นดิวทีเรียมกับลิเทียม
ลิเทียมเป็นโลหะที่เบาที่สุดและมีมากที่สุด บนเปลือกโลก ถ้าถ้ากระแสไฟฟ้าทั้งหมดในโลก ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน ปริมาณสำรองของลิเทียมที่มีอยู่สามารถนำมาใช้ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 พันปี ปฏิกิริยาฟิวชันให้พลังงานออกมาสูงมาก ดิวทีเรียม 10 กรัม (ซึ่งสกัดได้จากน้ำ 500 ลิตร) รวมกับตริเตียม 15 กรัม (ที่ได้จากลิเทียม 30 กรัม) ทำปฏิกิริยาฟิวชันในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จะให้พลังงานได้ตลอดช่วงอายุของเครื่องปฏิกรณ์ หรืออายุเฉลี่ยของคนในประเทศอุตสาหกรรม
ความปลอดภัยในตัวเอง (Inherent safety)
กระบวนการฟิวชันในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคตจะมีความ ปลอดภัยในตัวเอง ถ้าดิวทีเรียมและตริเตียมในพลาสมาในขณะใดมีปริมาณต่ำลงไปเพียงเล็กน้อย จะมีผลต่อเงื่อนไขในการเกิดปฏิกิริยาฟิวชัน เช่น อุณหภูมิและความหนาแน่นของพลาสมา ทำให้ปฏิกิริยาไม่คงที่ ผลการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้พลาสมาเย็นลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ฟิวชันเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ กระบวนการเกิดปฏิกิริยาฟิวชันของพลาสมา ในลักษณะที่ควบคุมไม่ได้ จึงไม่สามารถเกิดขึ้น
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ ฟิวชัน ไม่มีก๊าซที่ส่งผลกระทบต่อปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse ) เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบฟิชชัน ทำให้ไม่มีผลต่อภาวะโลกร้อน (global warming)
กระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชัน ทำให้โครงสร้างของโรงไฟฟ้ามีกัมมันตภาพรังสี จากการที่นิวตรอนพลังงานสูง ที่เกิดจากปฏิกิริยาฟิวชัน (fusion neutrons) ทำปฏิกิริยากับผิวหน้าของวัสดุในโรงไฟฟ้า กัมมันตภาพรังสีจะสูงขึ้นและลดลงในเวลาอันสั้น ทำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้สามารถควบคุมให้มีจำนวนของวัสดุที่มีกัมมันตรังสีปริมาณน้อยที่สุดได้ ในช่วงเวลา 50 ปีที่ใช้งาน นอกจากนั้น ปฏิกิริยาฟิวชันแตกต่างจากปฏิกิริยาฟิชชัน ตรงที่ไม่ทำให้เกิดกากกัมมันตรังสี เนื่องจากผลของฟิวชันทำให้เกิดฮีเลียม ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีอันตราย