หนังสั้น เรื่อง “ด.เด็ก ช.ช้าง”
กำกับโดย ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับ เด็กหอ, ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น, Backpacke
หนังสั้นกระตุกต่อมคิด และสะท้อนภาพลักษณ์อาชีพครูและเด็กนักเรียน
บทความ เรื่อง ด.เด็ก ช.ช้าง. ปฏิบัติการรุมกินโต๊ะปัจเจกภาพ
บทความโดย อุทิศ เหมะมูล
ด.เด็ก ช.ช้าง ได้รับรางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม รัตน์ เปสตันยี ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 6 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนผ่านบรรยากาศของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งซึ่งกำลังเรียนวิชาวาดเขียน คุณครูสั่งให้นักเรียนเขียนรูปสัตว์และเมื่อหมดเวลาครูประจำชั้น จึงตรวจงาน นักเรียนทุกๆคนต่างก็วาดรูปสัตว์ที่ตัวเองรักและสนใจแม้ว่าจะไม่เหมือนต้นแบบจริงๆ แต่ก็มีเค้าร่างพอให้นึกออกได้บ้างว่าเป็นสัตว์ประเภทไหน ปัญหามันอยู่ที่ว่าความสามารถในการเขียนไม่เหมือนได้กลายเป็น มาตรวัดขอบเขตของคนๆหนึ่งในฐานะนักเรียนชั้นประถม เพราะถ้าหากว่าใครก็ตาม…วาดเหมือนหรือให้ลายละเอียดที่สมบรูณ์จนมากเกินไป ก็จะถูกตัดสินว่าเกินความสามารถที่คนระดับนี้จะทำได้ เด็กชายธำรงค์กุลซึ่งเป็นตัวนำของเรื่อง วาดรูปช้างได้ดีและสวยงาม แต่แทนที่จะถูกยกย่องชมเชยในฝีมือและความสามารถกลับถูกถากถางว่าวาดเองหรือเปล่า? ให้พี่ช่วยวาดรึเปล่า? เด็กถูกระแวงสงสัยจนเรียกได้ว่าเป็นแกะดำของห้องเพราะครูใช้วิธีการเดินเอารูปที่เด็กคนนั้นวาดช้างให้เพื่อนนักเรียนในห้องดูถ้วนหน้ากับคำถามโน้มนำที่ว่า “พวกเธอเชื่อมั๊ยว่าเขาเป็นคนวาดเอง?” เพียงเท่านี้ตัวละครนำของเราที่สมควรจะอยู่ในฐานะได้รับการยกย่องในความสามารถก็ถูกถีบลงไปให้กลายเป็นตัวประหลาด แปลกแยกแตกต่างจากคนอื่นได้ไม่ยาก จากปมเด่นก็เปลี่ยนให้เป็นปมด้อยไปในพริบตา กลายเป็นที่อิจฉาริษยาแก่เพื่อนเพราะความบากบั่นในการชี้นำของครู
แม้หนังเรื่องนี้จะเผยให้เห็นสิ่งเล็กน้อยของชีวิตที่ถูกกระทำในวันธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นเกือบจะทุกวันในสังคม แต่เพื่อย้ำเตือนให้เราฉุกคิดว่าพรสวรรค์และความสามารถของมนุษย์เรานั้น ได้ถูกริดรอนและบั่นทอนไปมากแค่ไหนผ่านกาลเวลาของการดำเนินชีวิตธรรมดาๆของเรา ผ่านสภาพสังคม แวดล้อมด้วยมนุษย์ที่เราเรียกอย่างสนิทปากว่าเพื่อน คนที่เราฝากอนาคตทางความรู้อย่างครูบาอาจารย์ หรือผู้คนที่เราให้ความสำคัญและเคารพนับถือ
ในชีวิตจริงก็มิได้แตกต่างอย่างใดกับเรื่องราวในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ตราบใดที่ใครสักคนในสังคมนี้ จะยังไม่มีความสามารถโดดเด่นจนมากเกินใคร คนผู้นั้นก็ยังคงเวียนวนอยู่ได้ในสังคมที่ไม่เคยที่จะผลักดันใครให้ได้อยู่เหนือตนเอง รังแต่จะฉุดกระฉากลากถูให้ต่ำลงมาและพากันซ้ำเติม เพื่อให้ต่ำกว่าตัวเองเท่าที่จะทำได้ และนี่คือ สังคมแห่งพรรคพวกเพื่อนพ้องที่คอยแต่จะทำทุกวิถีทางที่จะกำจัด ปัดแข้งปัดขากันเองอย่างน่าเวทนาหนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการสะท้อนให้เห็นภาพความจริงของสังคมในการรุมกินโต๊ะมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ผ่านด้านมืดในจิตใจของมนุษย์กลุ่มใหญ่ในสังคมที่มีความพร้อมเสมอ ที่จะบั่นทอนมนุษย์ด้วยกันทุกวิถีทาง หากบังเอิญว่ามีใครสักคนหนึ่งแตกต่าง ก็จะถูกสังคมนั้นดึงให้เข้ามาอยู่ในแถวและจะลงโทษ เพื่อเขย่าขวัญของคนที่อยู่ในแถวอยู่แล้วได้เป็นอย่างดี ไปพร้อมๆ กับการเขย่าศีลธรรมในใจคนผู้นั้น อีกทั้ง ยังสามารถปลุกเร้าความเกลียดชังของเหล่าเพื่อนที่อยู่ในแถวได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผ่านวิธีการที่สามานย์ซึ่งถูกเรียกอย่างดิบดีว่า “ส่วนรวม” โดยที่มันจะทำหน้าที่บั่นทอนและหลอมละลายความสามารถที่โดดเด่นของมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาที่ไร้สติปัญญาเหมือนๆกัน พร้อมที่จะถูกจูงจมูกใช้งานได้ตามฐานะอำนาจในสังคมและการสมรู้ร่วมคิดของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า แต่หาได้เคยปราณีต่อผู้ใดไม่
ดังนั้น จุดจบของเด็กชายคนนั้นจึงเดาได้ไม่ยาก ถ้าคุณครูใช้อำนาจที่เหนือกว่าอธิบายว่าเขาไม่ใช่คนวาดที่แท้จริงและปลุกปั่นให้เพื่อนในห้องให้ต้คล้อยตามได้ขนาดนั้น สักวันความสามารถในการวาดช้างได้ก็จะถูกบั่นทอนให้เหลือเพียงในรูปของความทรงจำซึ่งไม่ได้ถูกทำให้ความสามารถนั้นเจริญเติบโตได้อีกต่อไปและถูกขัดลำไว้ด้วยความเห็นพ้องของคำว่า ส่วนรวม แม้หนังจะไม่ได้บอกจุดจบแต่เราก็เดาได้ไม่ยากมิใช่หรือ
แหล่งที่มาบทความ : ชมรมจริยธรรมสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ จังหวัดราชบุรี ระบุที่มาของบทความจากหนังสือ Movie Time